สสส.เผยโรงเรียนเมืองกรุงน่าห่วงแหล่งมอมเมาเพียบ

กทม.แนะทำ “สคูลโซน” กันนักดื่มหน้าใหม่

 สสส.เผยโรงเรียนเมืองกรุงน่าห่วงแหล่งมอมเมาเพียบ

          “พัชรวาท” ขานรับผลสำรวจ สั่ง จนท.กวดขันร้านเหล้าปั่น หวั่นทำเยาวชนมั่วสุม ขณะรองเลขา กพฐ.เตรียมประสาน กรมสรรพสามิต – มหาดไทย ช่วยจัดการเรื่องใบอนุญาต ขณะ ผอ.โรงเรียนดัง “ศรีอยุธยา” ระบุรอบโรงเรียนมีแหล่งมอมเมาเพียบ เผยธุรกิจบางอย่างผู้ปกครองเด็กก็เป็นเจ้าของ ขณะ “สายน้ำทิพย์” ยันอยู่ใกล้แหล่งอบายมุขแต่ไม่กระทบ ด้าน กทม.แนะทำ “สคูลโซน” ย้ายสถานบริการห่างจากโรงเรียน

 

          จากกรณีเครือข่ายเยาวชนเพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยผลสำรวจแหล่งมอมเมาอยู่รอบรัศมี 500 เมตร ของโรงเรียน 50 แห่ง ในเขต กทม. โดยพบว่ามีแหล่งมอมเมายั่วยุเยาวชนที่อยู่ใกล้สถานศึกษา 7 ประเภทได้แก่ 1.ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิร้านเหล้าปั่น ร้านยาดอง 2.ร้านเกมอินเทอร์เน็ต 3.ป้ายโฆษณาเหล้าที่ผิดกฎหมาย 4.อาบ อบ นวด 5.โต๊ะสนุกเกอร์ ซึ่งขายเหล้าด้วย 6.ร้านของชำหรือมินิมาร์ท ที่ขายเหล้า บุหรี่ และ 7.ร้านคาราโอเกะ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

 

          เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. พล.ต.ต.เรืองศักดิ์ จริตเอก รอง ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.ในฐานะรองโฆษกตร. กล่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้มากโดยเฉาพะในเด็กมัธยมซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากผู้ปกครองและอาจารย์ต่างก็ไม่รู้เพราะเมื่อเด็กบริโภคเหล้าปั่นเข้าไปแล้วจะไม่มีกลิ่นแอลกฮอล์ แต่เป็นกลิ่นผลไม้แทน จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่ บช.น. ภ.1 – 9 และ บช.ก. เข้มงวดกวดขันการป้องกันและปราบปราม โดยเฉพาะเน้นในการตรวจตราสถานบริการ จุดเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา หากพบการกระทำผิดก็จะนำมาดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้มีบันทึกหนังสือขอความร่วมมือยังกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือและช่วยกันป้องกันนักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่ให้เข้าไปใช้บริการสถานบริการที่มีการจำหน่ายหรือร้านที่จำหน่ายเหล้าปั่น รวมทั้งฝากให้ผู้ปกครองและสารวัตรนักเรียนเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบและตรวจตราด้วย

 

          นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงข้อเสนอของเครือข่ายองค์กรงดเหล้าที่ใช้กระทรวงศึกษาธิการประสานกับกระทรวงการคลังเพื่อให้กรมสรรพสามิต งดออกใบอนุญาตขายสุราและไม่ต่อใบอนุญาตให้ร้านค้าที่ตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษามากกว่า 500 เมตร ว่า เท่าที่ทราบเคยมีมติ ครม.ที่กำหนดไว้อยู่แล้วว่า ห้ามจำหน่ายสุราในบริเวณที่อยู่ใกล้กับสถานศึกษา อย่างไรก็ตามทาง ศธ.พร้อมดูแลปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว โดยจะประสานกับกรมสรรพสามิต ที่มีอำนาจโดยตรงในการออกใบอนุญาตและต่อใบอนุญาตให้กับร้านค้านอกจากนั้นจะได้ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ช่วยดูแลอีกทางหนึ่งด้วย

 

          ด้าน นายธีระพงศ์ นิยมทอง ผอ.โรงเรียนศรีอยุธยา กล่าวถึงกรณีโรงเรียนถูกจัดเป็นอันดับ 2 ที่มีแหล่งมอมเมาใกล้โรงเรียนในรัศมี 500 เมตร ว่า โรงเรียนใช้วิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียนและพลิกจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งโดยสอนให้เด็กเรียนรู้วิถีชุมชนเหล่านั้นและสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างฉลาด ไม่เกิดปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหาแม้ว่าจะมีอาบอบนวดและแหล่งมอมเมาอื่นๆ อยู่ใกล้โรงเรียน การจะไปปฏิเสธธุรกิจเหล่านั้นคงทำได้ยาก เพราะบางธุรกิจ เช่น ร้านอินเทอร์เน็ต เจ้าของก็เป็นผู้ปกครองนักเรียนและธุรกิจส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการก่อตั้งของโรงเรียนจนไม่รู้ว่าใครอยู่มานานก่อนกันฉะนั้นการจะไปบังคับให้ย้ายไปประกอบการที่อื่นคงเป็นไปได้ยาก

 

          นายเฉลิมพงษ์ ถนอมรัตน์ ผอ.โรงเรียนบ้านหนองบอน ซึ่งติดอันดับ 4 ที่มีแหล่งมอมเมาใกล้โรงเรียนมาก กล่าวว่า ที่โรงเรียนมีทั้งสถานเริงรมย์กลางคืนและร้านเกมอินเทอร์เน็ตอยู่ใกล้โรงเรียน แต่ไม่ค่อยเป็นปัญหานัก เพราะนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองบอนเป็นนักเรียนระดับอนุบาล-ป.6 จึงไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ยกเว้นระดับ ป.4-ป.6 จะมีปัญหาติดเกมบ้าง แต่เราแก้ไขโดยไปตามตัวและนำมาอบรมสั่งสอน ส่วนเรื่องจะไปประสานตำรวจให้ปิดร้านเกมนั้น เราจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวแตะต้อง แต่จะใช้วิธีคุมนักเรียนของเราเอง สำหรับปัญหาเจ้าของที่มีอิทธิพลหรือการคุกคามนั้น ที่ผ่านมาโรงเรียนไม่เคยเจอ

 

          น.ส.ณัฐฎนันท์ ปั้นลายนาค ผอ.โรงเรียนสายน้ำทิพย์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 กรุงเทพมหานคร สังกัดกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยกรณี โรงเรียนสายน้ำทิพย์เป็นโรงเรียนอันดับแรกที่อยู่ในแหล่งอบายมุขว่า โรงเรียนก่อตั้งมา 47 ปี ปัจจุบันมีสถานบริการเกิดหลังอยู่รายรอบจำนวนมาก แต่ยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบต่อเด็กนักเรียน เพราะเป็นโรงเรียนประถมศึกษา ทั้งนี้ อยากฝากถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้กำหนดโซนนิ่งสถานบริการ ให้ห่างจากโรงเรียนเพราะโรงเรียนเป็นสถานบริการสาธารณะ กับสังคมและเป็นการศึกษาขั้นบังคับ ควรมีสิ่งแวดล้อมที่ดีแต่ในจุดที่แก้ไขปัญหาไม่ได้ก็อยากให้คุมเข้มเรื่องเวลาเปิด – ปิด โดยเปิดหลังที่โรงเรียนเลิกแล้วและปิดตรงเวลาไม่เกินตี 1 เด็กจะได้ไม่เห็นภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้น

 

          ขณะที่นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ รองปลัดกทม. กล่าวว่า ในส่วนของ กทม.ไม่มีโรงเรียนในสังกัดอยู่ในอันดับที่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามในฐานะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีแหล่งอบายมุขจำนวนมาก ได้มีมาตรการต่างๆ ในการป้องกัน 9 ด้าน เช่น สร้างภูมิคุ้มกันภายในเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ปัญหาในสิ่งที่เกิดขึ้น การดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายชุมชนและผู้ปกครองหรือคณะกรรมการศึกษาเครือข่ายเพื่อรณรงค์โครงการสคูลโซน ให้โรงเรียนอยู่ห่างไกลสถานบันเทิงไม่น้อยกว่า 1 กม. รวมทั้งขอความร่วมมือจากสถานบริการจำกัดการให้บริการเช่นไม่ประเจิดประเจ้อ ควบคุมเวลาเปิด – ปิด รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลความปลอดภัยของเด็กนักเรียนช่วงกลับบ้าน แต่ในการทำโครงการสคูลโซนต้องได้รับความร่วมมือจากสถานบริการเช่น ภายใน 3 ปี หรือ 5 ปี เพื่อย้ายสถานบริการออกจากรัศมีของโรงเรียน

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

update 22-09-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code