สสส. เผยรณรงค์บุหรี่สำเร็จ ลดสิงห์นักสูบได้ผลเกือบ 90%

พบปัญหายาเส้น คนสูบพุ่งเฉียด 50 %

 

สสส. เผยรณรงค์บุหรี่สำเร็จ ลดสิงห์นักสูบได้ผลเกือบ 90%            สสส.วิจัยพบรณรงค์ลดสิงห์นักสูบได้ผลเกือบ  90% ต่างยอมรับและเห็นด้วยไม่ควรพ่นควันในที่สาธารณะ  และควรมีเขตปลอดบุหรี่  ห่วงปัญหามวนบุหรี่สูบเองพุ่งเฉียด  50% เหตุไทยไม่มีกฎหมายป้องกัน  แถมบริษัทบุหรี่ข้ามชาติยังเล่ห์ร้าย  เป็นสปอนเซอร์หนุนกิจกรรมเยาวชน หวังเพิ่มนักสูบหน้าใหม่

 

            รศ.ดร.วิลาสินี  อดุลยานนท์  ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.)  กล่าวในการประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ”  ครั้งที่ 7 เมื่อเร็วๆ นี้ เรื่อง “เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมใจต้านภัยบุหรี่” โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ  (ศจย.)  และ  สสส.  ว่า การรณรงค์เรื่องภัยจากการสูบบุหรี่เพื่อลดอิทธิพลของการโฆษณาจูงใจให้สูบบุหรี่  และเพิ่มโฆษณารณรงค์เพื่อสุขภาพ  มาต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปีนั้น สสส.ได้ประเมินผล พบว่าประชาชนยอมรับและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาพ

 

            ทั้งนี้ ข้อมูลผ่านการรณรงค์ กลุ่มตัวอย่าง 88.9% เห็นว่า การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะและควรมีเขตปลอดบุหรี่  ขณะที่  86.9% เห็นว่า บ้านควรเป็นเขตปลอดบุหรี่เพื่อไม่ให้ลูกเลียนแบบพฤติกรรม  จึงเห็นได้ว่าการใช้สื่อรณรงค์ได้ช่วยทำให้กฎหมายต่างๆ มีความเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับจากประชาชนมากขึ้น

 

            รศ.ดร.วิลาสินีกล่าวว่า  ประชาชนทั่วไปเกือบ 70% รับรู้การสื่อสารรณรงค์ได้จากทางโทรทัศน์มากที่สุด  รองลงมาคือ การประชาสัมพันธ์แทรกในรายการโทรทัศน์  อีก  40%  การรณรงค์โดยใช้พรีเซนเตอร์  ดารานักแสดง และ 25% จากข่าว คอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ สำหรับแคมเปญประชาสัมพันธ์ที่ประชาชนจดจำมากที่สุด  คือ ควันบุหรี่ทำร้ายคนใกล้ชิด 75% ตามด้วยสุขภาพดีต้องปลอดบุหรี่และสุรา  และเลิกบุหรี่เพื่อลูก  60%

 

            “แม้การรณรงค์แบบพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเสี่ยงคือเยาวชน  ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของบริษัทบุหรี่จะได้รับผลตอบรับที่ดี  แต่กลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่มคือ กลุ่มผู้หญิงที่มีเศรษฐสถานะต่ำ หรือรากหญ้า ยังมีการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก  มีข้อมูลการสำรวจรูปแบบการสื่อสารของกลุ่มผู้หญิงรากหญ้า 5 ประเทศ พบสื่อรณรงค์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือ รณรงค์ผ่านภาพยนตร์ เวทีละคร  ป้ายโฆษณา  โปสเตอร์  รายการวิทยุ  และในโรงหนัง รองลงมาคือ ผ่านโทรศัพท์ เนื้อเพลง  และโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ สสส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาช่องทางในการรณรงค์ที่เหมาะสมต่อไป  แต่อีกปัญหาคือ บริษัทบุหรี่ข้ามชาติใช้กลยุทธ์โฆษณาแฝงเข้าไปเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนกิจกรรมของเยาวชน ทำเสื้อยืด หมวก เป็นของแจก ซึ่งต้องรณรงค์ให้ผู้รับการสนับสนุนรู้เท่าทันเล่ห์กลเหล่านี้”

 

            รศ.ดร.วิลาสินีกล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องคือ การสูบบุหรี่แบบมวนเอง หรือยาเส้น  มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เมื่อ 12 ปีที่แล้วพบว่า คนไทยสูบบุหรี่ม้วนเอง 41.2% แต่เมื่อ 3-4  ปีที่ผ่านมา  มีคนสูบบุหรี่ม้วนเองเพิ่มขึ้นเป็น  49.6%  สอดคล้องกับจำนวนผู้สูบบุหรี่แบบซองที่ลดลง  เมื่อปี  2539  มีคนสูบบุหรี่แบบซอง  58.25% แต่ในปี 2547 ลดลงเหลือเพียง 47.3%  และมีการสูบบุหรี่ประเภทอื่นๆ  อีก 3.13% สาเหตุที่คนหันมาสูบบุหรี่แบบม้วนเองเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไทยยังไม่มีมาตรการควบคุมบุหรี่แบบม้วนเอง โดยเฉพาะมาตรการทางภาษี

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

 

update 15-09-51

 

Shares:
QR Code :
QR Code