สสส.- เด็กพลัสจับมือเสถียรธรรมสถาน “บ่มเพาะอริยชน”

ซ่อมแซมต้นทุนชีวิต ต้อนรับวันเด็ก ปี 52

สสส.- เด็กพลัสจับมือเสถียรธรรมสถาน “บ่มเพาะอริยชน” 

นพ. สุริยเดว เผย 5 อันดับปัญหาเด็กไทยขาดต้นทุนชีวิต  ชี้ พ่อแม่เป็นส่วนสำคัญสอนให้เด็กรู้จักภูมิใจในการเป็นผู้ให้ ด้าน แม่ชีศันสนีย์แนะ 3 วิธีสร้างสุข ต้อนรับวันเด็กให้ เติบโตเป็นไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงาแก่สังคม

 

            (7 ม.ค) เสถียรธรรมสถานร่วมกับ แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน (เด็กพลัส) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเปิดตัวโครงการ บ่มเพาะอริยชนบนหนทางอริยะ เพื่อช่วยสร้างเสริมและซ่อมแซมต้นทุนชีวิตของเด็กไทย ด้วยการสร้างทักษะการเป็นผู้ให้ เพื่อลดพฤติกรรมความเสี่ยงและปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม ต้อนรับวันเด็กแห่งชาติ ปี 52 ณ เสถียรธรรมสถาน

 

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี  ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน(เด็กพลัส) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และกุมารแพทย์สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยผลการสำรวจต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยซึ่งเป็นปัจจัยสร้างให้เด็กสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างเข้มแข็งห่างไกลจากพฤติกรรมเสี่ยงอายุตั้งแต่ 12-25 ปี  จากกลุ่มตัวอย่างกว่าสองหมื่นตัวอย่าง ซึ่งสุ่มจาก 18 จังหวัดทั่วประเทศไทย  ซึ่งได้สำรวจในปี พ.ศ. 2551 พบว่า ต้นทุนชีวิตที่เด็กกำลังเป็นปัญหาอย่างมาก 5 อันดับแรก คือ ลำดับที่ 1 การร่วมบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน หรือจิตอาสา มีเพียงร้อยละ 34.2 ลำดับที่ 2 การร่วมกิจกรรมทางศาสนาทุกสัปดาห์ มีโอกาสร้อยละ 43 ลำดับที่ 3 ความรู้สึกเป็นประโยชน์ต่อชุมชน มีเพียงร้อยละ 51 ลำดับที่ 4 การทำกิจกรรมนอนกหลักสูตรหรือร่วมกิจกรรมของชมรมต่างๆ ร้อยละ 60 และลำดับที่ 5 มีนิสัยรักการอ่าน มีเพียงร้อยละ 66 ซึ่งจากงานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าเด็กไทยห่างไกลจากชุมชนและศาสนามากจนน่าตกใจ รวมทั้งขาดทักษะในการเป็นผู้ให้ จากด้านต่างๆ

 สสส.- เด็กพลัสจับมือเสถียรธรรมสถาน “บ่มเพาะอริยชน”

การซ่อมเสริมต้นทุนชีวิตด้านต่าง ๆ เหล่านี้ ด้วยกิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมทางศาสนา และการเปิดโอกาสการเรียนรู้นอกหลักสูตร จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ทั้งครอบครัว ชุมชน และภาครัฐ ที่ทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวต้องใส่ใจก่อนที่จะเกิดสภาวะภูมิคุมกันบกพร่องทางสังคมซึ่งยากแก่การเยียวยาด้านสังคม ซึ่งพ่อแม่จะเป็นผู้ร่วมสร้างต้นทุนชีวิตให้กับเด็กได้ดีที่สุด เพราะพ่อแม่เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการทำกิจกรรมทุกอย่าง โดยเริ่มให้พ่อแม่ช่วยสอนลูกในทุกๆด้าน ด้วยการสร้างสุขให้ผู้อื่น และสอนให้เด็กรู้จักภูมิใจในการเป็นผู้ให้นพ. สุริยเดว กล่าว

 

 ด้านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน กล่าวว่า การก้าวย่างแห่งสติปัญญาเพื่อเป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญสำหรับเด็กจะต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนและสร้างเมล็ดพันธุ์อริยชนเพื่อให้เกิดสังคมอริยะจะต้องมีบันได 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 สุขง่ายใช้น้อย เรียนรู้ที่จะใช้สิ่งที่มีโอกาสที่ได้รับ รู้ประมาณในการบริโภค ขั้นที่ 2 สุขเมื่อสร้างมิใช่สุขเมื่อเสพ เรียนรู้ที่จะเป็นสุขจาการลงมือทำ สุขที่ได้ทำ ขั้นที่ 3 สุขเมี่อให้ อาสารับใช้สังคม เรียนรู้ที่จะเป็นสุขเมื่อได้แบ่งปันเวลา เพื่อรับใช้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน

 

เมล็ดพันธุ์พืชเปรียบเสมือนเด็กที่รอการบ่มเพาะให้เจริญงอกงาม เติบโตขึ้นเป็นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาแก่สังคมและการเป็นอริยชนไม่ใช่สิ่งสุดวิสัย การสร้างสังคมอริยะไม่ใช่เรี่องไกลเกินเอื้อม เพราะทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งการตรัสรู้อยู่ในหัวใจ แม่ชีศันสนีย์ กล่าว

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย: นางสาว มณีรัตณ แช่มมณี team content www.thaihealth.or.th

 

 

 

update: 19-01-52

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code