สสส.เดินหน้าลดพุงคนกรุง
ผนึกกำลังเครือข่าย เน้นใช้ 3 อ
สสส.จับมือกทม. เครือข่ายคนไทยไร้พุง เดินเครื่องลดพุงคนกรุง อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นใช้หลัก 3 อ
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 52 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ร่วมกับกรุงเทพมหานครและเครือข่ายคนไทยไร้พุ่ง จัดโครงการ “คนไทยไร้พุงในกทม.” เพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากโรคร้ายต่างๆ
นางมาลินี สุขเวชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการสำรวจหลายสถาบันพบว่า ผู้ที่อยู่ในเขตชุมชนเมืองอย่าง กทม. มีปัญหาน้ำหนักเกิน โรคอ้วน ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มากกว่าประชากรในต่างจังหวัด จากการรวบรวมข้อมูลพบว่ามี 2 กลุ่มอายุ ที่มีปัญหามากคือ 1.เด็กวัยเรียน มีแนวโน้มอ้วนมากขึ้น จากเดิม 3 ใน 100 คน เพิ่มเป็น 30 ใน 100 คน ขณะที่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี ป่วยเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า 2.กลุ่มคนสูงอายุที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มตามวัย ทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับความอ้วน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง เพิ่มขึ้น
รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวต่อว่า พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไปแบบผิดๆของคนไทยส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนลงพุง การทำงานนั่งโต๊ะ มีการเคลื่อนไหวน้อย ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย รับประทานอาหารแต่อาหารว่าง ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการโครงการคนไทยไร้พุงในกทม.ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว ตระหนักถึงภัยร้ายอันตรายที่แฝงมากับความอ้วน อีกทั้งในช่วงนี้มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาการของมันร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตนั้นคือโรคอ้วน
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โรคอ้วนเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชาชนเราโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่แฝงมาไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือด จากการศึกษาภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากร พ.ศ. 2547 ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยอันดับแรกคือ เพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยสูงถึง 41,377 ราย ยาสูบ 41,002 ราย ความดันสูง 39,576 ราย ไขมันในเลือดสูง 22,588 ราย น้ำหนักเกิน 22,150 ราย แอลกอฮอล์ 21,558 ราย อุบัติเหตุจราจร 19,500 ราย กินผักผลไม้น้อย 16,911 ราย ขาดการออกกำลังกาย 9,334 ราย และมลพิษในอากาศ 5,546 ราย
นายแพทย์ประกิต กล่าวต่อว่า สาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมดนั้น เกิดจากการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรณรงค์ให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพ โดยในเรื่องของโรคอ้วนต้องใช้หลัก 3อ เข้ามาช่วยได้แก่ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย ด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายให้เหมาะสม ควบคุมอารมณ์ของตนเอง เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ถูกต้อง และลดการเกิดโรคหัวใจ หลอดเลือดตลอดจนโรงเรื้อรังอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา และจะดำเนินการต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายน 2553 ใน 9 เขตของกทม. อาทิ เขตปทุมวัน วัฒนา บางกอกน้อย ดอนเมือง โครงการนี้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยอีก 9 แห่ง ออกปฏิบัติการลดพุงในพื้นที่เป้าหมายในชุมชนและโรงเรียน เดือนละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกเดือน ส่วนขั้นตอนสำหรับผู้ร่วมโครงการคือ 1.กรอกข้อมูลส่วนตัวในเดือนแรก 2.วัดความดันและชีพจร 3.วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก และวัดปริมาณไขมันในร่างกาย (เปอร์เซ็นต์) 4.ตรวจวัดรอบเอว รอบสะโพก 5.การก้าวขึ้นลงจากขั้นต่างระดับ หรือการลุกนั่งจากเก้าอี้ 6.ปรึกษาปัญหาและแนะนำการออกกำลังกาย บันทึกการเปลี่ยนแปลงทุกเดือน จนสิ้นสุดโครงการ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการลงพื้นที่ส่วนอื่นๆ ด้วย
เขียนโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ team content www.thaihealth.or.th
update:03-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่