สสส. เจ้าภาพประชุมสุขภาพโลก ปี 56
ทุกประเทศในโลกย่อมมีปัญหาด้านสุขภาวะหมายถึงทั้งทางกายและทางใจของประชากรในประเทศของตนเฉกเช่นเดียวกันเพียงแต่มากน้อยต่างกันไปเท่านั้น ประเทศไทยก็มีปัญหา เป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะหนักหนาสาหัสสากรรจ์ทีเดียวขนาดว่าคิดเป็นตัวค่าใช้จ่ายแล้วว่ากันว่านับแสนล้านบาท แต่รัฐบาลสามารถจัดตั้งงบประมาณดูแลรักษาเยียวยาป้องกันได้เพียงหลักหมื่นล้านบาทเท่านั้นเอง
ถ้าไม่นับประเทศที่เจริญแล้วอย่างยุโรปอเมริกา รัฐบาลประเทศไทยค่อนข้างจะให้ความสนใจเรื่องสุขภาวะของประชากรพอสมควรผ่านหน่วยงานภาครัฐ ที่สำคัญมีหน่วยงานอย่าง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เกิดขึ้นมาได้ดำเนินการกระตุ้นส่งเสริมให้ประชาชนไทยเกิดความ สำนึกในการเอาใจใส่สุขภาวะของตนเอง ครอบครัวและชุมชนอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี
“การดำเนินงานของ สสส. ที่สนับสนุนให้ประชาชนมีสุขภาวะดีครอบคลุมทั้งกาย-จิตปัญญา-สังคม เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพนั้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สมาพันธ์นานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการศึกษา (The International Union for Health Promotion and Education IUHPE) ไว้วางใจเลือก สสส.เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพครั้งที่ 21 (The 21IUHPE st World Conference on Health Promotion 2013) การประชุมสุขภาพโลกที่จะเกิดขึ้นในปี 2556 ไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่ได้รับเลือกให้จัดการประชุมนี้” ทพ.กฤษฎา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าว
ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ในตอนนี้มีหน่วยงานด้านสุขภาพของไทยทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันคุณภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพแล้ว
ทพ.กฤษฎา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ไทยใช้งบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพเฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายด้านสุขภาพสูงมากกว่าปีละ 400,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับองค์กรสุขภาพชั้นนำของโลก ให้ความสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ซึ่งการให้ความสำคัญประเด็นดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้ประชากรในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายทางสุขภาพลงได้
“สำหรับประเทศไทยนั้นปัจจุบันปัญหาเรื่องโรคติดต่อนั้นแทบจะไม่มีแล้ว แต่โรคไม่ติดต่อซึ่งเกิดจากพฤติกรรมบริโภคและใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปกำลังเป็นปัญหา การรณรงค์ให้ประชากรในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างจริงจังและลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการเข้าถึงการแพทย์ที่ไทยทำมาตลอดนั้นถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่หลายประเทศใช้เป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการส่งเสริมสุขภาพอย่าง สสส.ปัจจุบันมีเพียง 8 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น” ทพ.กฤษฎากล่าว
ด้านเบญจมาภรณ์ จันทรพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดประชุมระดับนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างเต็มที่ สสส. และภาคีเครือข่ายมีประสบการณ์การทำงานสร้างเสริมสุขภาพเกือบ 10 ปี ได้ สร้างผลงานและความสำเร็จเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติมากมาย จึงมีองค์ความรู้ที่จะนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพ
ดร.ไมเคิล สปาร์ก ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการศึกษา (IUHPE) ที่ร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งที่ผ่านมามีการนำประเด็นที่เสนอในที่ประชุมจัดทำเป็นองค์ความรู้และทำเป็นสมุดปกขาว แจกให้องค์กรต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์เชิงปฏิบัติต่อไป เช่น เรื่องระบบอาหาร มีการเสนอการจัดการปัญหาทั้งระบบเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สสส. ได้ทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพจำนวนมากและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนเช่นเหล้า บุหรี่ พฤติกรรมการรับประทานซึ่งน่าภูมิใจเพราะหลายประเทศใช้ สสส. เป็นตัวอย่างในการดำเนินงาน
สำหรับการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 สิงหาคม 2556 ที่พัทยา จ.ชลบุรี
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ