สสส. หนุน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ อีก 150 ชมรมทั่วปท.

เพื่อเป็นน้ำใจผู้สูงวัยดูแลกันยามไม้ใกล้ฝั่ง 

 

 สสส. หนุน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ อีก 150 ชมรมทั่วปท.

          คำกล่าวที่ว่า พ่อแม่สามารถเลี้ยงลูก 20 คนได้ แต่ลูกหลายคนไม่สามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ได้นั้น คือความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกสังคม โดยเฉพาะสังคมที่ตกอยู่ภายใต้สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ในภาวะแห่งการเอาตัวรอด ทุกคนจึงปฏิเสธที่จะเลี้ยงดูหรือเอาใจใส่ คนเฒ่าคนแก่ ผู้นับวันแรงกายจะถดถอยและเชื่องช้าลงไปทุกที

 

          ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุร้อยละ 11 ของประชากรกว่า 63 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งในไม่ช้านี้ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมแห่งผู้สูงอายุหากตัวเลขแตะร้อยละ 13 หลายคนกล่าวว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เมื่อย่างเข้าสู่ความแก่ ความเจ็บ แต่ยังไม่ยอมตายเสียที จะทำอย่างไรให้ ผู้สูงวัยเหล่านี้อยู่ได้อย่าง..สุขกาย สุขใจ

 

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงจับมือกันทำ โครงการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุทั่วประเทศได้ร่วมมือดูแลกันเองในลักษณะ..เพื่อนช่วยเพื่อน

 

          ดร.ปรียากมล ข่าน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ในฐานะหัวหน้าทีมประเมินโครงการแบบเสริมพลัง สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ บอกว่า โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อ 2 – 3 ปี ที่ผ่านมาสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ต้องการพัฒนากลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ขึ้นมาเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส

 

          “โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียว เจ็บป่วย มีโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิต หรือผู้สูงอายุที่พิการ เพราะสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีนี้ ก็น่าห่วงเพราะปัญหาเยอะมาก กลุ่ม อสม. ยังขยายไปไม่เพียงพอตามความต้องการ เพราะพื้นที่ห่างไกลมาก เราอยากให้สถานการณ์การดูแลผู้สูงอายุของไทยดีขึ้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาและขยายโครงการให้มากขึ้น โดยเน้นให้ชุมชนดูแลชุมชน”

 

          สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ได้มอบทุนให้กับชมรมผู้สูงอายุ 376 แห่ง ทั่วประเทศที่เขียนโครงการสร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบต่างๆ สมัครเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกายและสุขภาพใจ

 

          ดร.ปรียากมล เล่าว่า สสส. สนับสนุนการดำเนินงานมาแล้ว 2 ปี และกำลังใกล้จะหมดโครงการ ซึ่งงบประมาณที่ชมรมผู้สูงอายุแต่ละแห่งได้รับไปจะต้องมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาล ลงนามรับรองเพื่อยืนยันความร่วมมือของชุมชนในท้องถิ่น มีการนำไปอบรม อสม. แต่ละโครงการหนึ่งจะมีผู้สูงอายุอย่างน้อย 22 คน มี อสม. 8 คน

 

          “อสม. ต้องผ่านหลักสูตรการดูแลสุขภาพเบื้องต้น เช่น การดูแลช่องปาก การเจ็บป่วย จิตอาสา หลักธรรมคำสอน คุณธรรม จริยธรรมอย่างไรในการดูแลผู้สูงอายุ อาจมีการนิมนต์พระสงฆ์ที่ชุมชนเคารพและศรัทธามาเทศนาสั่งสอน”

 

          และเพื่อเป็นการสานต่อโครงการให้เดินหน้าต่อไปได้ สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ จึงจัดถอดบทเรียนโครงการพัฒนา อสม. ดูแลผู้สูงอายุ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ให้กับชมรมผู้สูงอายุในเขตภาคเหนือ ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 เพื่อรับฟังมุมมองและประสบการณ์จากการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยมีการเชิญ อบต. เทศบาล ที่ร่วมโครงการมาหารือเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงความสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ ที่แม้พลังกายจะถดถอยแต่พลังใจและพลังความคิดยังพร้อมจะถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และภูมิปัญญาแก่ชนรุ่นหลัง

 

          นายสุดใจ กระจ่าง ประธานชมรมผู้สูงอายุ ต.หนองบัว อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ย้ำว่า การทำงานยึดหลัก คน เงิน สิ่งของ และสภาพแวดล้อม โดยมองว่า “เพื่อนช่วยเพื่อน” เป็นการสร้างกุศล ทำแล้วได้บุญ เพราะได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในวัยเดียวกันให้มีความรู้สึกว่ามีเพื่อนอยู่ด้วยกัน พยายามสอนลูกหลานให้มีจิตใจที่พร้อมจะดูแลผู้สูงอายุ เพราะเขาเหล่านี้คือ บุคคลที่มีศักยภาพ

 

          ในขณะที่นายกฤตวิทย์ สวัสดิ์มงคล นายก อบต.หนองบัว อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย กล่าวว่า พร้อมจะสานต่อโครงการต่อไป เพราะมั่นใจว่าจะหางบประมาณมาสนับสนุนได้จากหลายแหล่งทุน โดยเตรียมสร้างห้องคาราโอเกะ ห้องสมุด การนวด ให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งเตรียมจัดเก็บข้อมูลของผู้สูงอายุไว้ในระบบสารสนเทศเพื่อช่วยให้ง่ายต่อการตรวจค้น

 

          อย่างไรก็ตาม จากการประเมินโครงการพบว่า ความสำเร็จคือความเข้มแข็งของชุมชน ผู้สูงอายุตื่นตัวและหันมาใส่ใจสุขภาพตนเองมากขึ้น ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ อารมณ์ ความต้องการ ลดภาระความเสี่ยงการตายก่อนวัยอันควร ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ จ๊อยซอ ฟ้อนพื้นเมือง ดนตรีพื้นเมือง ถูกรื้อฟื้นมาถ่ายทอดแก่ลูกหลาน

 

          ส่วนอุปสรรคที่ต้องเอาชนะคือ งบประมาณ ความห่างไกลของพื้นที่ อสม. เข้าไปไม่ถึง ขับรถไม่ได้ ต้องเดินไกล ขาดการบริหารจัดการที่ดี ขาดความต่อเนื่อง เป็นต้น

 

          ดร.ปรียากมล กล่าวเพิ่มเติมว่า 2 ปี ที่ผ่านมาพอใจผลงานโครงการดูแลผู้สูงอายุมาก แต่ยังมีความกังวลหลายอย่าง เช่น อยากให้ อบต.เทศบาล รับโครงการไปดูแลเพราะเป็นโครงการของชุมชน อยากเห็นชมรมมีจิตอาสาในการดูแลผู้สูงอายุโดยมีภาคีท้องถิ่นเข้าใจและให้ความช่วยเหลือกันเองจะดีกว่า แต่ปัจจุบันปัญหาการเมืองท้องถิ่นยังมีอุปสรรค เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงผู้บริหารการสานต่อมักจะหยุดชะงัก

 

          “อยากเห็นรูปธรรมที่ชัดเจนคือ การบรรจุโครงการพัฒนา อสม. ดูแลผู้สูงอายุไว้ในแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่น่าจะเป็นไปได้สูง เพราะครั้งนี้มีผู้บริหาร อบต.เทศบาล มาร่วมถอดบทเรียนด้วยตนเอง ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นแนวทางในการเดินหน้าโครงการให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืนอยู่คู่ชุมชนต่อไป”

 

          นับจากนี้ สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ยังคงมีหน้าที่ติดตามการดำเนินงานโครงการ อสม. ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อนช่วยเพื่อนต่อไป ทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นหรือไม่ก็ตาม ล่าสุดมีข่าวดีว่า เดือนมิถุนายน 2552 สสส. เตรียมอนุมัติการสนับสนุนโครงการแก่สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยอีก 150 ชมรมผู้สูงอายุทั่วประเทศ เพื่อเป็นความหวัง..แก่ผู้สูงวัยในประเทศไทย

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ภาพประกอบ: อินเทอร์เน็ต

 

 

update 18-05-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 


 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code