สสส.หนุนละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง
หวังสร้างเสริมปัญญาเด็กไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มละครมะขามป้อม มูลนิธิสื่อชาวบ้าน และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนา “ละคร : บนหนทางการเปลี่ยนแปลงทางปัญญาของเยาวชน” และแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง : การพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนด้วยศิลปะการละคร” ที่อุทยานการเรียนรู้(tk park) เซ็นทรัลเวิล์ด มีการนำเสนอประเด็นการลดทุกข์สร้างสุขโดยใช้กิจกรรมละครที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์สะท้อนปัญญาของเด็กไทย
นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนงานสำนักเปิดรับทั่วไป สสส. กล่าวว่า ความสุขทางปัญญาของเยาวชนเกิดจากการได้คิดและแสดงออกในสิ่งที่อยากทำ อันจะนำไปสู่การค้นพบตัวเอง และมากไปกว่านั้นคือนำความสุขที่ได้สร้างสรรค์สู่คนรอบข้างและสังคม ซึ่งละครมีพื้นที่สื่อในสังคมไทยมาก ถ้าสามารถนำมาเป็นเครื่องมือผสมผสานความบันเทิงกับสติปัญญาเข้าด้วยกันได้ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อเยาวชนอนาคตของประเทศ
“ความสุขมี 4 มิติ คือ สุขกาย สุขใจ สุขสังคม และสุขทางปัญญา ซึ่งโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้เปิดพื้นที่ให้เยาวชนที่ร่วมโครงการ ผู้ชม สังคม ได้ซึมซับเนื้อหา เกิดการเรียนรู้ปรับเปลี่ยนทัศนะคติเป็นปัญญาใหม่ที่ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนใคร ทั้งตัวเอง ครอบครัว สังคมมีความสุข..”
ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน กล่าวว่า ละครมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเยาวชน เช่น การปรับเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดและทัศนะคติไปในเชิงบวก เพิ่มศักยภาพในการแสดงออก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสติปัญญา จากกระบวนการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม นอกจากนี้ยังทำให้สังคมเข้าใจและยอมรับวัยรุ่นมากขึ้น
ทั้งนี้กลุ่มละครมะขามป้อม มูลนิธิสื่อชาวบ้าน โดยการสนับสนุนจาก สสส. ได้ทำ “โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง : การพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนด้วยศิลปะการละคร” โดยเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากโครงการละครสะท้อนปัญญาในปี 2552 ที่ประสบความสำเร็จในการเปิดพื้นที่ในการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เยาวชนได้ค้นพบตัวเอง เข้าใจผู้อื่น เท่าทันสื่อ และแบ่งปันให้สังคม โครงการใหม่นี้มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี มีเป้าหมายสร้างนักการละครรุ่นเยาว์เพิ่มจาก 20 กลุ่มจากโครงการปี 2552 เป็น 40 กลุ่ม อีกทั้งยังมุ่งขับเคลื่อนนโยบายการสร้างพื้นที่สาธารณะที่สร้างสรรค์ผ่านละคร และเข้าไปสู่หลักสูตรละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงในสถาบันการศึกษา
กาญจนา พรมกสิกร เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการละครสะท้อนปัญญาปี 2552 กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า กิจกรรมในโครงการทำให้เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น และยังได้ทำประโยชน์โดยการสื่อสารให้ครอบครัวและสังคมเข้าใจวัยรุ่นด้วย
“แรกๆที่มาร่วมโครงการคิดว่าจะเหมือนละครทีวี อยากเป็นดารา แต่พอมาเข้าค่ายละครมันไม่ใช่อย่างที่คิด.. ได้เรียนรู้ว่าไปแสดงที่ถนนคนเดิม มีคนมามุงดู ก็เป็นดาราได้ และมันไม่ได้ไร้ประโยชน์กรี๊ดกร๊าดแย่งผู้ชายเหมือนในทีวี แต่เป็นการแสดงออกที่เป็นประโยชน์..”
ที่มา : สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น
update 19-02-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่