สสส.หนุนชาวบ้านตั้งเครือข่ายอนุรักษ์น้ำ
หวังสร้างพลังต่อรองจัดการทรัพยากร
ชาวบ้านรวมตัวตั้งเครือข่ายอนุรักษ์น้ำหวังสร้างพลังต่อรองในการจัดการทรัพยากร หลังได้รับการสนับสนุน จาก สสส. เปิดรับทั่วไป ดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นคืนสภาพแม่น้ำลำคลอง นักวิชาการชี้ต่อไปรัฐต้องเปลี่ยนมุมมองในการบริหารจัดการน้ำ โดยให้บทบาทไตรภาคีในการตัดสินใจ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดรับทั่วไป ได้จัดให้มีงานประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนทุนในโครงการอนุรักษ์ฟื้นคืนสภาพแม่น้ำลำคลอง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน จากทั่วประเทศ ในที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงสถานการณ์น้ำของประเทศ ว่ากำลังประสบปัญหาในการจัดสรรทรัพยากรน้ำ ประกอบกับพื้นที่ต้นน้ำบางแห่ง ได้เกิดการบุกรุก ทำให้เสื่อมสภาพไม่สามารถคงพื้นที่ของการเป็นแหล่งต้นน้ำได้ ส่วนแม่น้ำลำคลองที่เป็นแม่น้ำสาขาย่อยประสบปัญหาน้ำมีคุณภาพต่ำ จนไม่สามารถใช้อุปโภคและบริโภคได้
นายพิรุณ บานเย็น หัวหน้าโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ลำห้วยทัพทัน จ.สุรินทร์ กล่าวว่าพื้นที่ที่เขาดำเนินโครงการ พบปัญหาสารเคมีทางการเกษตรไหลลงสู่ลำห้วยทัพทัน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำในพื้นที่ จนทำให้ผู้เลี้ยงปลากระชังได้รับความเสียหายจากปลาที่ตายลง นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาฆ่าหญ้า ทำให้ลำน้ำเน่าเสียอย่างรุนแรง สำหรับการฟื้นฟูนั้นจัดอบรมแกนนำชุมชน ชุมชนละ 60 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 360 คนใน 6 ชุมชน เพื่อให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และมีทักษะในการตรวจวัดคุณภาพน้ำในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งเชิญชวนเยาวชนในโรงเรียน 4 แห่ง จัดตั้งเป็นนักสืบสายน้ำ เพื่อเป็นอาสาสมัคร เฝ้าระวังสายน้ำ ทั้งนี้จะมีการผลักดันเรื่องนี้ไปสู่ระดับนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) ต่อไป
ในงานเดียวกันนี้ทางกลุ่มผู้ได้รับการสนับสนุนทุนในโครงการฯ ได้ตกลงร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์น้ำ ซึ่งมีทั้งหมด 12 ตัวแทนเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อดำเนินกิจกรรมในการอนุรักษ์และฟื้นคืนแม่น้ำลำคลอง ขณะเดียวกันหวังที่จะให้เกิดการรวมกลุ่มสร้างพลังต่อรองในการจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ เพราะที่ผ่านมานั้นการตัดสินใจในการจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคขึ้นอยู่กับหน่วยงานภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว
ทางด้าน ดร.กิตติชัย รัตนะ อาจารย์ประจำวนศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ นักอนุรักษ์น้ำ กล่าวว่า การที่ผู้ได้รับการสนับสนุนทุนในโครงการฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านได้รวมตัวกันสร้างเครือข่ายแสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านมีการตี่นตัวในการอนุรักษ์น้ำสูงมาก ต่อไปนี้รัฐคงต้องปรับเปลี่ยนมุมมองในการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เนื่องจากการจัดการทรัพยากรต้องใช้ผู้รับประโยชน์คนสุดท้ายเป็นตัวตั้ง แล้วจึงจัดสรรให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง อาจจะเริ่มต้นที่ลุ่มน้ำขนาดเล็กก่อนก็ได้
“ปัญหาน้ำ รัฐควรใช้วิธีการจัดการแบบใหม่ การแก้ไขปัญหาจะต้องตรงกับปัญหา และตรงกับความต้องการ ซึ่งทางออกนี้จะต้องจัดการโดยไตรภาคี คือ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม” ดร.กิตติชัย กล่าว
ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์
update 04-06-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฐภัทร ตุ้มภู่