สสส.ร่วมกับสพฐ. นำร่อง 9 โรงเรียนต้นแบบ “เด็กไทยดูดี มีพลามัย”
แฟ้มภาพ
สสส.ร่วมกับสพฐ. นำร่อง 9 โรงเรียนต้นแบบ “เด็กไทยดูดี มีพลามัย” อบรมค่ายผู้นำสุขภาพ 4.0 สร้างเด็กรุ่นใหม่ห่างไกลโรคอ้วน จัดอาหารกลางวันคุณภาพ เพิ่มผักผลไม้ คุมเข้มอาหาร 4 เมนู “อาหารทอด–ไส้กรอก–เบเกอรี–เครื่องดื่มเติมน้ำตาลปริมาณสูง”เปลี่ยนพฤติกรรม “เนือยนิ่ง” เป็นออกกำลังกายเพียงพอ หวังลดปัจจัยเสี่ยงโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่โรงแรมเอเชีย ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ หัวหน้าโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาโรคอ้วนในเด็กกำลังเป็นภัยคุกคาม โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียนและในเขตกรุงเทพมหานครที่พบโรคอ้วนในอัตราสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคต่างๆ ซึ่งสาแหตุเกิดมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่นิยมบริโภคอาหารพลังงานสูง รสหวาน มัน เค็ม ได้แก่ ไก่ทอด ไส้กรอก ขนมเค้ก ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม น้ำหวาน ฯลฯ ขณะเดียวกันมีการบริโภคผักผลไม้น้อย และขาดการออกกำลังกาย ส่งผลให้เด็กมีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดทำโครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย โดยได้สำรวจโรงเรียน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จำนวน 5 โรงเรียน ในปี 2558 พบว่าเด็กวัยเรียนเป็นโรคอ้วนร้อยละ 21 ขณะที่ทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 12 นอกจากนี้พบมีไขมันในเลือดสูงถึงร้อยละ 66 ความดันโลหิตสูงร้อยละ 30 พบน้ำตาลในเลือดระดับเริ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและลักษณะปื้นดำที่คอเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคเบาหวานร้อยละ 10 ซึ่งภาวะอ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สะสมตั้งแต่วัยเด็ก
ศ.พญ.ชุติมา กล่าวต่อว่า โรงเรียนเด็กไทยดูดีเป็นโรงเรียนที่มีนโยบายการจัดการเชิงโครงสร้างและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนในด้านอาหารและออกกำลังกาย มีการจัดอาหารกลางวัน อาหารว่างในการประชุม และอาหารขายในโรงเรียนที่มีคุณภาพ การสำรวจข้อมูลด้านโภชนาการของนักเรียนและครู การทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครอง และการสร้างทักษะความรู้โภชนาการ การออกกำลังกายในบทเรียนและกิจกรรมนอกหลักสูตร ซึ่งดำเนินการใน 9 โรงเรียน ประกอบด้วยโรงเรียนประถมศึกษา 5 โรงเรียน ได้แก่ รร.อนุบาลวัดนางนอง รร.อนุบาลวัดปรินายก รร.อนุบาลสามเสน รร.อนุบาลพิบูลเวศม์ รร.พญาไท และโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสพฐ. 4 โรงเรียน ได้แก่ รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย รร.สตรีวิทยา รร.สามเสน รร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มีการสร้างต้นแบบของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง เป็นแกนนำ ซึ่งจัดกิจกรรมค่ายผู้นำสุขภาพ 4.0 ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคมนี้ ขณะเดียวกันมีการควบคุมอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ 4 รายการ ได้แก่ อาหารทอด ไส้กรอก เบเกอรี เครื่องดื่มเติมน้ำตาลปริมาณสูง และมีการสนับสนุนให้บริโภคผักผลไม้เพิ่มขึ้น โรงเรียนมีการจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ปริมาณเหมาะสม สนับสนุนให้มีการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ชั่วโมง
ด้าน ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า จากผลการสำรวจสถานการณ์อัตราชุกของผู้มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ในปี 2558 โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยเรียน อายุตั้งแต่ 5 ปี – 14 ปี ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กวัยเรียน ร้อยละ 12.5 มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ซึ่งภาวะดังกล่าวล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยสำคัญทั้งในด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการจัดการสภาพแวดล้อมด้านอาหารในโรงเรียน โดยโครงการสำรวจสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมโรงเรียนประถมศึกษา ในปี 2557 พบว่า เด็กวัยเรียนดื่มน้ำหวาน 1 แก้วต่อวัน ถึงร้อยละ48.8 และซื้อขนมกรุบกรอบ/ขนมขบเคี้ยวนอกโรงเรียน อย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 42.7 นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ57.9 ของโรงเรียนที่สำรวจ มีร้านค้าขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลมที่จำหน่ายอยู่บริเวณรอบรั้วโรงเรียน จำนวน 1-2 ร้านค้า ซึ่งอาหารหน้าโรงเรียนที่เด็กวัยเรียนนิยมซื้อมาบริโภคส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ได้แก่ ลูกชิ้นปิ้ง/ทอด ไอศกรีม ขนมหวาน เนื้อสัตว์ทอด/ย่าง และไส้กรอก เป็นต้น
นอกจากนี้พบว่า เด็กไทยยังกินผักและผลไม้น้อยกว่าครึ่งของคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งแนะนำให้บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม รวมถึงขาดการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอต่อสุขภาพ และมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary) คือการนั่งนิ่งอยู่กับที่ถึงวันละ 13.08 ชั่วโมง มีพฤติกรรมติดจอ 3.09ชั่วโมง และวิ่งเล่นเพียง 42 ชั่วโมง ขณะที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เด็กๆ มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนักวันละ 60นาที ซึ่งเหล้านี้เป็รสาเหตุของการเกิดภาวะอ้วนในเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สสส.จึงร่วมมือกับทั้งภาครัฐ และเอกชนในการแก้ไขปัญหาโดยตั้งเป้าภายในปี 2562 จะสามารถลดจำนวนผู้มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10