สสส.พัฒนาเว็บไซต์เพื่อผู้พิการสร้างสุขภาวะอย่างเท่าเทียม

 

 

“มองไม่เห็น ไม่ได้ยิน ใช้สองมือไม่ได้” แม้ร่างกายจะไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตในประจำวัน บางครั้งอาจส่งผลเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องปิดกั้นการรับรู้และเรียนรู้ สร้างสุขภาวะที่ดีต่อชีวิตของผู้พิการในทุกประเภท
 
สสส.พัฒนาเว็บไซต์เพื่อผู้พิการสร้างสุขภาวะอย่างเท่าเทียม
 
โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขประมาณการว่าประเทศไทยมีผู้พิการราว 1.8 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูง ดังนั้นการที่ผู้พิการในทุกประเภทจะได้รับสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ
 
ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีผู้เข้าถึงเป็นจำนวนมาก โดยจากผลสำรวจของสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) พบว่า ผู้พิการใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่บ้าน 12% มากกว่าภาพรวมของประเทศซึ่งใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่บ้าน 9%
สำหรับปัญหาเฉพาะในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้พิการ คือ การที่เว็บไซต์ไม่รองรับการใช้งานของผู้พิการ
 
ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ได้ถือโอกาสนำร่องยกเครื่องพัฒนาเว็บไซต์ สสส. รองรับผู้พิการทุกประเภท ผู้สูงอายุสายตาพร่าเลือนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโลกไอที โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า เนื่องจาก สสส.เป็นองค์กรที่ทำงานด้านสุขภาพ และนำองค์ความรู้เผยแพร่ต่อสาธารณะ ขณะที่ปัจจุบันพบว่าประชากรกลุ่มผู้พิการที่มีประมาณเกือบ 2 ล้านคน ซึ่งเราเชื่อว่ากลุ่มผู้พิการเหล่านี้มีความรู้ความสามารถสูง แต่ปัจจัยด้านสังคมไม่เปิดให้กลุ่มพิการเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเว็บไซต์ที่มีอยู่ยังไม่รองรับกับการใช้งานของผู้พิการ โดยจากการสำรวจพบว่า 90% ของเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐยังไม่เอื้ออำนวยต่อผู้พิการและผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ สสส.จึงได้พัฒนาเว็บไซต์ www.thaihealth.or.th ให้รองรับการใช้งานของผู้พิการทุกประเภทและผู้สูงอายุ 
 
“ความจริงแล้วในระดับสากลมีการกำหนดมาตรฐานเว็บไซต์เพื่อรองรับการใช้งานของผู้พิการไว้แล้ว ซึ่งมันน่าสนใจมากว่าหากเราสามารถนำมาใช้ได้ในเมืองไทย ผู้พิการจะใช้ประโยชน์ได้เหมือนกับในต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งก็ได้มีการคิดและทดลองใช้เว็บไซต์ พบว่ามีประโยชน์และใช้ได้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก และแม้ว่าเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ 90% ที่พัฒนาแต่ยังไม่เอื้ออำนวยนั้น ผมคิดว่าพอมีหน่วยงานเริ่มทำ ในทางสังคมก็น่าจะมีการผลักดันกันต่อเนื่อง และในอนาคตคิดว่ากลุ่มผู้พิการเองก็น่าจะได้ร่วมพัฒนาด้วย”ทพ.กฤษดา กล่าว
 
ผู้จัดการ สสส. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สสส.จะมีการขอความร่วมมือไปยังภาคีเครือข่ายของ สสส.ที่มีเว็บไซต์ให้มีการพัฒนาเว็บเพื่อให้สามารถรองรับกับกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน เพราะหากมีเว็บไซต์อยู่แล้วสามารถพัฒนาได้เลย โดยใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย โดยในช่วงเดือนเมษายนนี้ สสส.เตรียมจัด Work Shop อบรมภาคีเครือข่ายในเรื่องดังกล่าวประมาณ 15 ภาคี จำนวน 60 คน เพื่อให้การใช้งานด้านข้อมูลผ่านเว็บไซต์เข้าถึงกับทุกกลุ่ม
 
ขณะที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร และบริการสื่อสาธารณะสำหรับคนพิการ พ.ศ.2554 ตามมาตรา 20 (6) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2500 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.2544 ที่ผ่านมานั้น
 
น.ส.ธีรารัตน์ เรืองกิจธนโชติ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาเว็บไซต์ สสส.บอกเล่าถึงการดำเนินงานว่า เนื่องจากปัจจุบันนี้เว็บไซต์ในประเทศไทยที่รองรับต่อผู้พิการยังถือว่าน้อยมาก ขณะที่กฎกระทรวงดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ จึงมีการพัฒนาเว็บไซต์ www.thaihealth.or.th ให้สามารถเข้าถึงได้ของผู้พิการหรือทุพพลภาพ โดยจะต้องผ่านมาตรฐานกลางที่เรียกว่า WCAG 2.0 (Web Content Accessibility Guideline 2.0) ตามที่องค์กร w3c เป็นผู้กำหนดมาตรฐานสากลไว้ โดยมีรายละเอียดและแนวทางการแก้ไขให้เว็บไซต์สามารถรองรับการใช้งานในทุกกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งมี 4 หลักการพื้นฐาน คือรับรู้ได้ (ระดับ A) ) ปฏิบัติงานได้ เข้าใจได้ (ระดับ AA) และคงทนต่อความเปลี่ยนแปลง (ระดับ AAA) 
 
น.ส.ธีรารัตน์  บอกอีกว่า เว็บไซต์ สสส. ได้พัฒนามาตรฐานผ่านระดับ AA คือเป็นแนวทางระดับกลางที่ควรจะทำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงที่เพิ่มขึ้น โดยเว็บ สสส.ได้พัฒนาให้รองรับลักษณะการใช้งานใน 4 ประเภท คือ 1.โปรแกรมช่วยอ่านออกเสียงบนหน้าจอ (Screen Reader) สำหรับผู้พิการทางสายตา 2.แป้นพิมพ์สำหรับผู้พิการที่ไม่สามารถใช้เม้าส์ได้ จึงต้องมีอุปกรณ์เสริม เช่น แท่งกดแป้นพิมพ์ด้วยศีรษะ แท่งกดแป้นพิมพ์ด้วยปาก 3.การใส่คำบรรยายในสื่อประเภทวิดีโอ สำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน สามารถอ่านคำบรรยายในคลิปวิดีโอได้ และ 4.เมนูปรับแสง สี พื้นหลังเว็บไซต์ และการขยายหน้าจอ สำหรับกลุ่มผู้ที่มีสายตาเลือนราง
 
โปรแกรมช่วยออกเสียงบนหน้าจอ (Screen Reader) เป็นโปรแกรมสังเคราะห์เสียงสำหรับคนตาบอดที่สามารถทำให้คอมพิวเตอร์พูดออกมาเป็นเสียง โปรแกรม Screen Reader ที่นิยมใช้คือโปรแกรม JAWS ซึ่งเป็นโปรแกรมอ่านออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้สามารถอ่านออกเสียงภาษาไทยได้ จะต้องดาวน์โหลดโปรแกรมเสริมชื่อว่า PPA Tatip Microsoft text to speech version 5.1 มาใช้งาน และคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานก็เป็นแบบปกติทั่วไปได้”  น.ส.ธีรารัตน์กล่าว
 
นายจรัญ จ้อยรุ่ง หรือ บิ๊กบัง ผู้พิการทางสายตา ปัจจุบันประกอบอาชีพนวดแผนโบราณอยู่ที่มูลนิธิคอลฟีลด์เพื่อคนตาบอด ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บอกเล่าถึงการใช้งานหน้าเว็บไซต์ สสส.ว่า หลังจากที่มีโอกาสทดลองใช้พบว่ามีการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อต้องการจะหาข้อมูลอะไร ก็จะมีโปรแกรมช่วยออกเสียงบนหน้าจอที่เป็นภาษาไทยอ่านให้ฟังทำให้รับรู้ได้ว่าในหน้าเว็บไซต์ที่เม้าส์คลิกหรือเอ็นเตอร์ลงไปนั้น เป็นคำว่าอะไร ภาพอะไร เป็นความสะดวกต่อการสืบค้นข้อมูลอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ แต่ที่อยากเสนอแนะคือการเพิ่มเติมเรื่องข้อมูลของคนพิการ การดูแลคนพิการให้มากขึ้น
 
สสส.พัฒนาเว็บไซต์เพื่อผู้พิการสร้างสุขภาวะอย่างเท่าเทียม
 
“ผมใช้เวลาเรียนรู้กับการใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 5 ปีกว่าจะใช้งานได้คล่อง ส่วนเว็บไซต์ สสส.ผมทดลองใช้มาไม่นานนี้ ผมได้รู้เรื่องอะไรหลายอย่างที่ไม่ค่อยรู้ โดยเฉพาะพวกข้อมูลด้านสุขภาพ เช่น การดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วย บทความ เกร็ดความรู้ด้านสุขภาพที่น่าสนใจ แม้ว่าโปรแกรมช่วยออกเสียงภาษาไทยจะฟังยากในช่วงแรก แต่ก็เชื่อว่าอนาคตก็จะพัฒนาไปได้ดีขึ้น แต่เสน่ห์ของโปรแกรมช่วยออกเสียงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ดีกว่าเดิมมาก เพราะของเดิมต้องสะกดทีละคำ แต่ตอนนี้อ่านได้เป็นคำฟังแล้วรู้ทันที” นายจรัญกล่าว
 
บิ๊กบัง ยังได้ฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า อยากจะฝากไปถึงภาครัฐ ในการพยายามผลักดันเว็บไซต์ต่างๆ ให้รองรับกับผู้พิการได้เข้าถึงข้อมูล และมีการนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ ให้แก่ผู้พิการทางสายตาให้ทัดเทียมกับคนปกติ เพราะผู้พิการก็เหมือนบุคคลปกติทั่วไปเช่นกัน
 
หากทุกเว็บไซต์ในประเทศไทยคำนึงความสำคัญของการเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตในทุกกลุ่ม เชื่อได้ว่าโลกมืดที่ถูกบดบังไว้เบื้องหลังในชั้นตาคงเป็นเพียงกายภาพภายนอกที่ปรากฏเท่านั้น เพราะเมื่อผู้พิการสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ความรู้ใหม่ๆ ที่พวกเขาจะได้รับคงจะเป็นเหมือนดั่งไม้เท้าที่นำทางพวกเขาให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง 
 
 
 
 
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Thaihealth.or.th
 
Shares:
QR Code :
QR Code