สสส.พัฒนา’หน่วยจัดการระดับพื้นที่’ทั่วประเทศขยายโอกาสการทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


สสส.พัฒนา'หน่วยจัดการระดับพื้นที่'ทั่วประเทศขยายโอกาสการทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน thaihealth


แฟ้มภาพ


          สสส. ขยายโอกาสด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะ ผ่านสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนรับการสนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น โดยมีหน่วยการจัดการระดับพื้นที่ เพื่อกระจายโอกาสการทำงานสร้างเสริมสุขภาพสู่ภาคีรายย่อยในพื้นที่อย่างทั่วถึง


          เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนการดำเนินงาน หน่วยจัดการโครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็ก เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การนำเสนอและเผยแพร่ผลลัพธ์การดำเนินงานของโครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็ก


สสส.พัฒนา'หน่วยจัดการระดับพื้นที่'ทั่วประเทศขยายโอกาสการทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน thaihealth


          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สสส.ทำงานเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพในหลายมิติ ร่วมผลักดันนโยบายที่สำคัญ สื่อสารต่อสังคม และชักชวนภาคีเข้ามาขับเคลื่อนงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็ก ถือเป็นแผนงานสำคัญของ สสส.ที่เชื่อมร้อยภาคีในการทำงานมากกว่าปีละ 2,000 โครงการ แต่ก็ยังมีพื้นที่ตกหล่น เพื่อให้การทำงานครอบคลุมทุกพื้นที่ วันนี้จึงเกิด หน่วยจัดการโครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็ก เพื่อเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยมอง ค้นหา และสนับสนุนคนในพื้นที่ให้มีความพร้อม สามารถเข้าถึงการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโครงการ หรือชุดความรู้พื้นฐานในการทำงานเรื่องต่างๆ ให้สามารถขับเคลื่อน สรุปและประเมินผลงานได้ และในอีก 3 ปีข้างหน้า การทำงานสุขภาพของ สสส.จะเน้นการให้ความสำคัญต่อการดูแลกลุ่มพื้นที่เฉพาะอย่างเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น


สสส.พัฒนา'หน่วยจัดการระดับพื้นที่'ทั่วประเทศขยายโอกาสการทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน thaihealth


          รศ.นพ.อำนาจ ศรีรัตนบัลล์ ประธานการบริหารแผนคณะที่ 6 สสส. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อ "พลังเล็กๆ ของชุมชน…สู่การเปลี่ยนแปลงสังคมที่ยิ่งใหญ่" ไว้ว่า มนุษย์เราเมื่อทำอะไรแล้วประสบผลสำเร็จ จะรู้สึกภูมิใจ พอใจ มีความสุข และความภูมิใจในตนเอง คือ พลังของความสุขใจเป็นส่วนหนึ่งของพลังกายที่ส่งพลังต่อการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ให้หลอมรวมพลังอย่างเข้มแข็ง และเพื่อไม่ให้พลังเหล่านั้นหายไป จะต้องก้าวต่อไปและพัฒนาควบคู่ไปกับการยกระดับการทำงาน จากการทำงานเชิงระบบสู่ระดับองค์กร และยกระดับสู่ชุมชน การ 'สร้างเครือข่าย' จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการรวมพลังในการทำงานให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากการเชิญชวนผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านร่วมปรึกษากับหน่วยจัดการระดับพื้นที่ในแต่ละจังหวัด ก็จะขับเคลื่อนงานต่างๆ ได้สำเร็จ


          จากการสนับสนุนของ สสส.ผ่านโครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็ก ก่อให้เกิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพจากการคิดและริเริ่มของชุมชน และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แต่ละพื้นที่อย่างน่าสนใจ


สสส.พัฒนา'หน่วยจัดการระดับพื้นที่'ทั่วประเทศขยายโอกาสการทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน thaihealth


          เริ่มจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย โครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนบ้านบัลลังก์ อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี นายวีระศักดิ์ ตำเภา หัวหน้าโครงการ เล่าว่า เป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ สสส.เข้ามาสนับสนุนการทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีสุขภาพดีขึ้น โดยใช้นวัตกรรมเครื่องออกกำลังกายจากสิ่งที่มีในชุมชนมาปรับใช้ เรียกว่า 'คลีชนบทบ้านบัลลังก์' ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง กระตุ้นความคิด และบริหารสายตา และ 'กาบตาลฟื้นฟูกาย'


          ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย คลายเส้นกล้ามเนื้อ ซึ่งนวัตกรรมทั้ง 2 สิ่งนี้นอกจากทำให้สุขภาพกายดีแล้ว ผู้สูงอายุยังได้สุขภาพจิตที่ดีจากการเข้าสังคม เพราะได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด เกิดปฏิสัมพันธ์กับคนหลายรุ่นขึ้น ถือเป็นการคลายเหงา และได้ขยายการทำงานไปยังโรงเรียนและอำเภอข้างเคียง ในอนาคตวางแผนจะขยายต่อให้ครอบคลุมทั่วตำบล


สสส.พัฒนา'หน่วยจัดการระดับพื้นที่'ทั่วประเทศขยายโอกาสการทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน thaihealth


          สำหรับการจัดการขยะในชุมชน นางศิริพร ปัญญาเสน นายกสมาคมส่งเสริมการพัฒนาสตรีและเยาวชนลำปาง จ.ลำปาง เล่าถึงศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมบ้านต้นยาง จ.ลำปาง ว่า การจัดการขยะในครัวเรือนเป็นปัญหาสำคัญของชุมชน เพราะบางครัวเรือนหรือองค์กรท้องถิ่นไม่รู้วิธีจัดการและการเพิ่มมูลค่าขยะ ทำให้เกิดโครงการที่ทำให้ชุมชนมีความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อม และพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนอย่างมาก เช่น คนในชุมชนรู้จักวิธีคิดและวิธีจัดการขยะ จนทุกครัวเรือน 100% สามารถเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ ชาวบ้านมีส่วนร่วมช่วยกันคัดแยกขยะ ทำให้เกิดความสะอาดของชุมชน มีระบบการจัดการขยะอย่างทั่วถึง ซึ่งต้องขอบคุณ สสส.ที่ให้การสนับสนุน ให้ความรู้ สอนทักษะกระบวนการคิด และมองเห็นคุณค่าขององค์กรเล็กๆ ให้มีส่วนร่วมในการจัดการประเด็นปัญหาต่างๆ ทำให้คนในชุมชนบ้านต้นยางมีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น


สสส.พัฒนา'หน่วยจัดการระดับพื้นที่'ทั่วประเทศขยายโอกาสการทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน thaihealth


          ปิดท้ายด้วย อำเภอที่มีการดื่มสุรามากที่สุดของประเทศ ทำให้ผู้นำชุมชนลุกขึ้นมาจัดการเรื่องการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน นางประวิฐญา จันทร์ศุกเสน ประธานกลุ่มแม่บ้านบ้านทุ่งเจริญ เล่าว่า พะเยา ถือเป็นจังหวัดที่มีประชากรดื่มสุรามากที่สุดของประเทศ และเชียงม่วน คืออำเภอที่มีการดื่มสุรามากที่สุดของจังหวัด ทำให้ผู้นำชุมชนหลายคนเริ่มตื่นตัว มองหาทางออกของปัญหาและเกิดโครงการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนบ้านทุ่งเจริญ อ.เชียงม่วน ตั้งแต่ปี 2558 จนวันนี้เป็นหมู่บ้านต้นแบบลดเหล้าของอำเภอ โดยเน้นการปรับพฤติกรรมการดื่มของคนในชุมชน พบว่า พฤติกรรมการดื่มลดลงไปมาก จากเดิมในชุมชนเคยมีวงเหล้าถึง 9 กลุ่ม ปัจจุบันลดลงเหลือ 2 กลุ่มที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งนอกจากทำให้คนในชุมชนสุขภาพดีขึ้นแล้ว คนในชุมชนยังรู้จักเก็บออม ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลดลง และในอนาคตเราจะขยายขอบเขตการทำงานไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบต่อไป


          นอกจากนี้ยังมีการทำงานด้านการจัดการจุดเสี่ยง เพื่อลดอุบัติเหตุในชุมชน การผลิตและบริโภคผักปลอดสารเคมีในครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยมีสุขภาวะที่ดีนั่นเอง.

Shares:
QR Code :
QR Code