สสส. ผนึกกำลัง สกอ. รวมพลังต้านหวัด 2009
นับตั้งแต่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เดินหน้ารณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักถึงพิษภัยของ “ไข้หวัด 2009” จนถึงการรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจต่อสุขอนามัยของตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเท่านี้ สสส.ยังเดินหน้าผนึกกำลังสร้างภาคีเครือข่ายตั้งแต่ปั๊มน้ำมัน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท ห้างร้านต่างๆ อย่างมากมาย
และเพื่อให้การป้องกันการแพร่ระบาด เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงผนึกกำลังกับ คณะอนุกรรมการสนับสนุนป้องกัน ควบคุม และการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด ของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 สสส. จัดการประชุมประกาศเจตนารมณ์ โครงการรณรงค์การป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ขึ้น พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมเป็นภาคีในการรณรงค์และป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเอเชีย โดยมีนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี
โดย นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะอนุกรรมการฯ หวัด สสส. เล่าให้ฟังว่า จากสถิติพบว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะเกิดในกลุ่มอายุ 11-40 ปี เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไทยมีประชากรในช่วงวัยดังกล่าวถึง 30 ล้านคน จึงถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ ที่มีโอกาสป่วยและมีอาการรุนแรงได้ แม้จะไม่มีโรคประจำตัว สถิติที่ผ่านมาผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัด 2009 ที่อยู่ในกลุ่มอายุ 11-40 ปี มีอัตราตายถึง 30% จึงต้องไม่ประมาท เพราะยังไม่สามารถพึ่งยารักษาโรคหรือวัคซีนได้ 100% ดังนั้นการรณรงค์ป้องกันอย่างเข้มข้นต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งกลุ่มนิสิต นักศึกษา ถือเป็นพลังสำคัญที่จะร่วมต่อสู่กับไข้หวัด 2009 เนื่องจากนิสิต นักศึกษา มีศักยภาพที่จะช่วยให้สังคมตระหนักและเกิดความตื่นตัว
“สสส. จะจัดงบประมาณให้กับ สกอ. ประมาณ 5 ล้าน เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน 165 แห่ง โดยถือเอาวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 เป็นวันเริ่มต้นการรณรงค์ครั้งใหญ่พร้อมกันทุกสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นจะสนับสนุนงบประมาณให้สถาบันอุดมศึกษาแห่งละไม่เกิน 10,000 บาท เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ จากนั้นจะมีคณะกรรมการร่วมกันระหว่าง สกอ. สสส. และ ตัวแทนมหาวิทยาลัย เพื่อให้นิสิต นักศึกษาเสนอโครงการต่อเนื่องที่จะเผยแพร่รณรงค์ทั้งมหาวิทยาลัยและชุนชนโดยรอบ ภายใต้งบประมาณ 20,000 บาท ซึ่งเชื่อมั่นว่าโครงการนี้ จะทำให้นิสิต นักศึกษา กลายเป็นบุคลากรสำคัญ ที่จะป้องตนเองและป้องกันผู้อื่นจากโรคไข้หวัด 2009 ได้” นพ.มงคล กล่าว
ด้านนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ สกอ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ 2 ล้านกว่าคน ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ และมักมีกิจกรรมที่อยู่ร่วมกันจำนวนมาก เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 นอกจากนี้นิสิตนักศึกษายังเป็นกำลังสำคัญ ในการเผยแพร่ความรู้ในการป้องกันตนเองไปสู่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยด้วย
“โครงการนี้ เป็นการรวมพลังครั้งสำคัญของสถาบันการศึกษา 165 แห่งทั่วประเทศ ทั้งของรัฐและเอกชน โดยกิจกรรมหลักๆ ที่สถาบันอุดมศึกษาจะดำเนินการ คือ 1.สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งจะจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ 2.สถาบันอุดมศึกษาที่มีหน่วยงานพยาบาล งานอนามัย คณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือหน่วยงานอื่นในมหาวิทยาลัยที่ได้รับมอบหมาย จะเปิดศูนย์หรือหน่วยบริการให้คำปรึกษาด้านการป้องกัน การรักษากับนิสิตนักศึกษา บุคลากร ประชาชนทั่วไป 3.นิสิต นักศึกษา ชมรม หรือคณะ จัดกิจกรรมอาสาสมัครโดยเสนอขอความสนับสนุนผ่านสถาบันอุดมศึกษามายังคณะกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งกิจกรรมสามารถรณรงค์ได้ทั้งในสถาบันและชุมชนรอบข้าง และ 4.หน่วยงานในสถาบันที่มีศักยภาพและอาสาสมัครจะเข้าร่วมรณรงค์สามารถจัดทำโครงการและเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเช่นเดียวกับนิสิตนักศึกษา โดยเสนอโครงการในนามสถาบันได้”
อย่างไรก็ตาม สถาบันที่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าสถาบันอุดมศึกษานั้น ก็คือ โรงเรียนต่าง ๆ ที่อยู่ตามชนบท และพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะโรงเรียนในกลุ่มที่มีการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้…เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้รับการเปิดเผยโดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ขณะนี้กลุ่มนักเรียนน่าเป็นห่วงมากกว่ากลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะโรงเรียนที่ห่างไกลและขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ซึ่งมีอยู่กว่า 3,000 โรงทั่วประเทศ และขณะนี้ทีมนักวิชาการของ สสส.กำลังหาวิธีคัดกรองและการดูแลสุขภาพของเด็กในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ไม่มีน้ำกิน น้ำใช้อย่างเป็นระบบ เพราะหากมีการระบาดไปถึงท้องถิ่นที่ห่างไกลขาดแคลนน้ำ เด็กไม่มีน้ำล้างมือ การแพร่ระบาดจะไปอย่างรวดเร็ว และจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในการเตรียมตัวเด็กก่อนปิดเทอม ซึ่งจะมีจำนวนมากที่กลับภูมิลำเนาเดิม ซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวที่คาดว่าไข้หวัดใหญ่ 2009 อาจจะกลับมาระบาดอีกครั้ง
ไม่เพียงแต่การป้องกันการแพร่ระบาดเท่านั้น เรื่องของ “วัคซีน” ในการรักษาโรคร้ายชนิดนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้คนทั้งประเทศต่างจับตามองว่า “ผล” จะออกมาเป็นเช่นไร…โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า เมื่อกระทรวงสาธารณสุขประกาศตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตลดน้อยลงทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดเบาบางลง ทำให้การตั้งการ์ดตกไป คือมีการเฝ้าระวัง และป้องกันลดลง ทั้งที่จริง ๆ แล้วยังมีผู้ป่วยที่ตกสำรวจและผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวมใส่เครื่องช่วยหายใจ และตายโดยไม่ทราบสาเหตุอีกมาก นอกจากนั้นองค์การอนามัยโลกยังคาดการณ์ว่าจะมีการแพร่ระบาดระลอก 2 ในอีก 2-3 เดือน นี้ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการในการเฝ้าระวังและป้องกันให้เข้มข้นขึ้นตลอดเวลา
“สำหรับวัคซีน 2 ชนิด คือวัคซีนเชื้อเป็นและวัคซีนเชื้อตายนั้น ประเทศไทยไม่สามารถผลิตวัคซีนเชื้อตายเองได้ ต้องสั่งจากต่างประเทศ และสามารถสั่งได้ 2 ล้านโด๊ส ใช้ได้เพียง 1 ล้านคนเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอ ส่วนวัคซีนเชื้อเป็นสามารถผลิตได้โดยองค์การเภสัชกรรม โดยมีต้นแบบที่ ม.ศิลปากร แต่มีปัญหา 2 ประการใหญ่ คือ หัวเชื้อเป็น ที่ได้มาจากรัสเซีย เมื่อคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ถอดรหัสพันธุกรรมแล้วพบว่ารหัสมีลักษณะผิดไปจากหัวเชื้อเดิม ดังนั้น จึงมีความกังวลกันว่าอาจเกิดการกลายพันธุ์และทำให้เชื้อโรคมีความแข็งแรงขึ้น” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาโรงงานผลิตวัคซีนที่ ม.ศิลปากร มีกำลังการผลิตขึ้นอยู่กับจำนวนของไข่เป็ดปลอดเชื้อ ซึ่งขณะนี้มีไข่เป็ดปลอดเชื้อเพื่อทดลองเพียงสัปดาห์ละ 4,500 ฟอง โดยที่ไข่ 1 ฟองผลิตวัคซีนได้ 30 โด๊ส ก็ต้องรอเวลาถึง 6 ปี จึงจะสามารถผลิตวัคซีนได้ 40 ล้านโด๊ส จึงจะเพียงพอต่อจำนวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้ได้ทั่วทั้งประเทศ แต่ถ้าหากหาจำนวนไข่เป็ดมาได้สัปดาห์ละ 6,000 ฟอง อาจใช้เวลาเพียง 17 เดือนเท่านั้นจึงจะได้วัคซีนสำหรับคนกลุ่มเสี่ยงที่มีอยู่กว่า 40 ล้านคน ต้องบอกว่า!!! ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องตัดสินใจกันใหม่ แล้วหันมาใช้โรงงานผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ของกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีสถานที่ บุคลากร และเครื่องมือทุกอย่างพร้อม แล้วนำมาปรับปรุงให้เป็นโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับคน ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้งบฯประมาณ 80 ล้านบาท
“องค์การอนามัยโลกเคยส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบแล้วให้การรับรองว่าโรงงานของกรมปศุสัตว์เป็นโรงงานที่มีคุณภาพดีผลิตวัคซีนได้ ถึงกับบอกว่าพระเจ้าส่งโรงงานนี้มาให้คนไทย ผมเชื่อว่าหากปรับปรุงโรงงานของกรมปศุสัตว์จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ก็จะสามารถผลิตวัคซีนเชื้อเป็นได้ถึง 86 ล้านโด๊ส ซึ่งใช้ได้ถึง 86 ล้านคน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยความหวัง
เชื่อได้ว่า การจับมือกันในครั้งนี้ ของ คณะอนุกรรมการฯหวัด 2009 และ สกอ. จะเป็นอีกหนึ่งใบเบิกทางที่จะช่วยให้ประเทศไทย รอดพ้นจากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายได้อย่างแน่นอน…อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาสุขอนามัยของตนเอง ยังเป็นการแก้ปัญหาระดับพื้นฐานที่ได้ผลเสมอในทุก ๆ สถานการณ์ เพียงพึงระลึกไว้เสมอว่า…กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือค่ะ…
เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย : นพรัตน์ นริสรานนท์ Team content www.thaihealth.or.th
Update 26-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์