สสส.ชี้ชุมชนคือคำตอบให้ผ่านพ้นภัยพิบัติน้ำท่วม

สสส.ชี้ชุมชนคือคำตอบให้ผ่านพ้นภัยพิบัติน้ำท่วม

การประชุมเชิงปฏิบัติการ สานพลังร่วมสร้างเครือข่ายจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ จัดขึ้นในวันที่ 13-14 พฤศจิกายน ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ณ โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแนวทางในการจัดการภัยพิบัติร่วมกันในภาคชุมชนท้องถิ่นทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 400 คน

หัวข้อสำคัญหนึ่งในการเสวนาครั้งนี้คือ ศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ โดยมี ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมทั้งนายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป เสวนาร่วมกัน

กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ทพ.กฤษดา ให้ความคิดเห็นว่า เหตุที่วันนี้ต้องให้ความสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ เพราะสภาพอากาศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ก่อนบางพื้นที่น้ำไม่ท่วม ตอนนี้ก็ท่วม แล้วต่อไปในอนาคตจึงเป็นที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าน้ำต้องท่วมหนักกว่านี้อีก 

ดังนั้น การรู้จักแนวทางหลักของการจัดการภัยพิบัติจะสามารถทำให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่สามารถรับมือกับภัยที่จะมาถึงได้

วงจรการจัดการภัยพิบัติมี 4 แนว แผนป้องกัน เตรียมการ รับมือ ฟื้นฟู ตอนนี้กรุงเทพฯ กำลังรับมือเหตุการณ์ที่พบอย่างต่อเนื่อง พื้นที่อพยพที่เตรียมไว้มีน้ำท่วมทำให้ต้องย้ายคน เป็นเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก หลายศูนย์เกิดเหตุการณ์ประชาชนไม่ยอมไป

ทั้งหมดเกิดจากในแต่ละพื้นที่ไม่ได้มีการวางแผนเตรียมการกันอย่างเป็นระบบ บางคนถึงกับบอกว่าถ้าจะต้องไปอยู่ที่ศูนย์อพยพยอมตายดีกว่า เขาไม่ยอมไป สะท้อนว่าพื้นที่ไม่ได้เตรียมการ ทำให้การเตรียมการไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เมื่อทุกอย่างไม่พร้อมเจอความเสียหายมาก” ทพ.กฤษดา กล่าว

หากเป็นแนวคิดของสากล การจัดการภัยพิบัติไม่ได้จัดการจากข้างบน ต้องจัดการในระดับพื้นที่โดยใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง อย่างเช่น ประเทศนิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น

“อย่างที่ญี่ปุ่น มีการทำงานกันทั้ง 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ พื้นที่ และบุคคล เหมือนที่ทุกบ้านเขาจะมีกระเป๋า ข้างในมีจะมีอุปกรณ์พื้นฐานจำพวกเสื้อผ้า ไฟฉาย วิทยุรับข่าวสาร และคู่มือสามารถเอามาใช้ได้เลย อันนี้ทุกคนต้องรู้ว่าจะมีการเตรียมตัวอย่างไร ไม่ใช่ที่ กทม.ที่มีการรื้อคันกั้นน้ำกันทุกวัน ไม่ให้น้ำท่วมบ้าน ฉันต้องการรื้อคันกั้นน้ำ อันนี้ไม่ใช่ว่าเขาผิด แต่เพราะทุกคนไม่ได้ถูกเตรียมตัวไว้ก่อน สร้างความเข้าใจกันไว้ก่อน ในระดับตัวบุคคล”

ดังนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ท้องถิ่นในการทำงานจัดการภัยพิบัติต้องเตรียมพร้อมทั้งระดับบุคคล พื้นที่ ระดับชาติ ต้องมีความสอดคล้องซึ่งกันและกันในการแก้ไขปัญหา

ภัยพิบัติครั้งนี้เป็นเหมือนมหาอุทกภัยหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของประเทศที่ชัดเจนมากว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ต้องยอมรับว่า ประเทศต้องเปลี่ยนได้แล้ว เพราะทำให้คนหลายล้านคนต้องลำบากกับปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อประเทศไทยมองภาพรวมมีความกว้างกว่าเดิม ต้องมีการกระจายการจัดการ

ผู้จัดการ สสส. กล่าวอีกว่า อย่างเราจะเห็นว่า บริษัทใหญ่ก็แตกเป็นบริษัทลูก ไม่มีหน่วยไหนใหญ่แล้วไม่แตก มันใหญ่เมื่อมีปัญหามันไม่รู้จริง ชุมชนไหน ท้องถิ่นไหน ชุมชนที่จับมือกันได้รอดหมดเลย ระบบประเทศมีปัญหามาก ต้องไปปรับที่ชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งและมีกำลังจัด การได้ทุกเรื่อง ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะในอนาคตยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมาก

สมพร ใช้บางยาง ด้าน นายสมพร ได้ให้ความเห็นสอดคล้องในทางเดียวกันว่า วันนี้ไม่เพียงแค่เรื่องภัยพิบัติ การจะทำงานให้ประเทศไทยอยู่รอดต้องดูที่ท้องถิ่น ต้องขึ้นมาจากฐานล่างมาเป็นฐานหลักคือ ประชาชน และฐานรอง รองรับอำนาจประชาชนก็คือ องค์กรระดับประเทศ ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่สนองตอบต่อความต้องการของประ ชาชน

ทั้งนี้การที่บ้านเมืองจะรอดได้ การรวมศูนย์ไม่สามารถตอบ ปัญหาได้ สสส.จึงเข้ามาสนับสนุนพลังชุมชนเพื่อให้บ้านเมืองสามารถไปรอดได้อย่างแท้จริง

“ภัยพิบัติทำให้พี่น้องเราเดือดร้อน เราคนพื้นที่ไม่มีใครรู้ดีเท่าเรา ประวัติ วิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมทั้งเหตุการณ์ คนในท้องถิ่นต้องเป็นหลักในการจัดการให้ชุมชนสามารถอยู่รอดได้ วิธีคิดการพัฒนาบ้านเมือง รักษาบ้านเมือง ความมั่นคงบ้านเมือง จะหวังพึ่งรัฐคงไม่ได้ เราต้องมาพึ่งชุมชน มองและยึดหลักตรงนี้ ทุกเรื่อง เราจำเป็นต้องร่วมกันแก้ไข ปรับเปลี่ยนวิธีคิดกัน ถ้าไม่เปลี่ยนปัญหามันจะยิ่งหนักขึ้น” นายสมพร กล่าว

สิ่งที่สำคัญวันนี้ถ้าจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งได้คือ ต้องให้ความสำคัญกับข้อมูล และการรู้จักวางแผนอย่างเป็นระบบในการรับมือกับภัยพิบัติ

นายสมพร กล่าวต่อว่า เราไม่ได้คิดเชิงระบบที่มีข้อมูล วิชาการเข้ามา เพราะเราคิดแบบบ้านๆ เราไม่รู้ว่าข้อมูลมีผลต่อการทำงานอย่างไร อย่างเช่นที่หัวไผ่ นายกฯ บอกข้อมูลได้หมดเลย เขาจึงทำงานได้ ที่อื่นที่ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน อบต.ก็น้ำท่วม ก็ทำงานต่อกันไม่ได้ เราต้องมีข้อมูล แล้วจะได้ทำแผนร่วมกันได้เลย ส่วนเรื่องการทำแผนก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ต้องทำ ถ้าอยู่แต่ในหัวมันทำอะไรไม่ถูก ถ้าเป็นข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง นำสู่การปฏิบัติการตามแผนได้ถ้ามีแผนที่ดี เราสามารถทำได้ทันที

อีกส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหา และมีความสำคัญเป็นฐานด้วยเช่นกัน สมพรกล่าว นั่นคือเรื่องของงบประมาณ กองทุนท้องถิ่นควรมีไว้ เพราะหากเกิดภัยพิบัติสามารถใช้งบประมาณที่มีอยู่ได้เลย เนื่อง จากภัยพิบัติเป็นภัยที่รอไม่ได้ หวังพึ่งภาครัฐก็คงนาน ถ้ามีกองทุนไว้บริหารกองทุนได้มากเท่าไร่ก็เป็นประโยชน์มากเท่านั้น

หากรู้จักจัดการและวางแผนอย่างเป็นระบบ นอกจากจะทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งแล้ว ก็จะสามารถเป็นที่พึ่งของเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ด้วย

“เครือข่ายชุมชนของเราทุกตำบลมีความสำคัญมาก เราช่วยกันได้ เครือข่ายที่ไม่ประสบภัย แต่มีอุปกรณ์ มีเงิน และเครื่องมือ เราก็ช่วยกัน สมัยก่อนเรียกลงแขกช่วยกัน สิ่งนี้ช่วยได้มาก ถึงเวลาน้ำท่วมจริงๆ เราช่วยตัวเองไม่ได้ ให้ท่านไปคุยกันกับเครือข่ายที่มี เราต้องคิดองค์รวมคิดแยกส่วนไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็ตายกันหมด คิดด้วยกันแม้อาจมีเสียหายบ้าง จากภัยพิบัติบ้าง แต่เราก็สามารถช่วยกันให้ลดน้อยและไม่ตายเลยได้ อันนี้เราสามารถช่วยเหลือกันได้ในอนาคต” นายสมพรสรุป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

         

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ