สสส.ชงโครงการใช้เงินบาปหลังขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่
เน้นนำมาสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น
ชี้ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดในแต่ละโครงการได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเพิ่มมาตรการลดการบริโภคแอลกอฮอล์หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้น
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลจัดเก็บอัตราภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น ถือว่าได้ทั้ง 2 ทาง คือ รัฐบาลได้งบประมาณเพิ่มขึ้นและช่วยให้การบริโภคเหล้าและบุหรี่ลดลง ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่องค์การอนามัยโลก (who) สนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ขึ้นภาษีเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องเหมาะสม รวมทั้งต้องคิดอัตราภาษีตามภาวะเงินเฟ้อเพื่อไม่ให้เหล้าและบุหรี่มีราคาถูก ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายสำหรับการขึ้นภาษีครั้งนี้ กรมสรรพสามิตจะสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 6 พันล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปี โดยธุรกิจแอลกอฮอล์และบุหรี่จะต้องจ่ายเพิ่มอีก 2% สำหรับเข้ากองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือเป็นจำนวน 120 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 3-4% ของงบประมาณที่ สสส. ได้รับ คือ ประมาณ 2,700 ล้านบาท โดยในแต่ละปีจะไม่เท่ากันเนื่องจากตามกฎหมายรายรับของ สสส. จะผูกติดกับรายได้ของกรมสรรพสามิต ซึ่งรายได้ที่เพิ่มเข้ามาถือเป็นจำนวนที่ไม่มาก นอกจากนี้บริษัทเหล้าและบุหรี่จะต้องจ่ายเงินสนับสนุนสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (ไทยพีบีเอส) อีกประมาณ 1.5% หรือ 90 ล้านบาท โดยที่งบประมาณส่วนนี้จะไม่ได้ทันทีแต่จะได้รับหลังจากนี้ 1 ปี
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการของ สสส. อยู่ระหว่างการประชุมเพื่อจัดทำแผนงบประมาณ รวมถึงงบประมาณที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาสร้างสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดในแต่ละโครงการได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามาตรการลดการบริโภคแอลกอฮอล์หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร. บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น มีการสนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งในระดับจังหวัดและจะขยายสู่ภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนมีความเข้มแข็ง สร้างลานกีฬาเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
update 13-05-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด