สสส.จับมือภาคีเครือข่าย กระตุ้นเด็กไทยเสริมนิสัยรักการอ่าน
การอ่านเขียนภาษาไทยได้ของคนไทยมีสถิติที่แย่มาก อ่านก็คืออ่านไม่ออกเขียนก็ไม่ค่อยได้เมื่อเทียบกับประเทศที่เคยแย่อย่างเพื่อนๆ บ้านเรา โดยเฉพาะเยาวชน นี่มีการพูดถึงมาหลายปีแล้ว
การพูดถึงเรื่องนี้เกิดขึ้นด้วยความห่วงใย ที่สุดก็ต้องร่วมกันรณรงค์ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้อ่านหนังสือกันมากขึ้นจะด้วยการบังคับโดยระบบเรียน หรือการหล่อหลอมปลูกฝังให้รักการอ่านเองก็ตามเอาทุกทาง อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน เปิดตัวโครงการ “ปิดเทอมสร้างสรรค์ชวนอ่านสร้างสุข” เพื่อให้เด็กไทยใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์ มีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การสำรวจหนังสือที่เด็กอยากแนะนำให้เพื่อนๆ อ่านในช่วงปิดเทอม และหนังสือที่เด็กอยากอ่าน และอยากได้เป็นของขวัญมากที่สุด โดยผลการสำรวจกลุ่มเด็กไทยทั่วประเทศ อายุ 6-18 ปี จำนวน 3,216 คนพบว่า เด็กชอบอ่านการ์ตูนเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งมีทั้งการ์ตูนเพื่อความบันเทิง และการ์ตูนส่งเสริมการเรียนรู้ นอกจากนี้ หนังสือที่เด็กอยากได้เป็นของขวัญในลำดับต้นๆ ก็ยังเป็นการ์ตูนเช่นเดียวกัน
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า ในเมื่อผลการสำรวจระบุชัดเจนว่า หนังสือที่เด็กอยากอ่านมากที่สุดคือ การ์ตูน ก็คงต้องเรียกร้องไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ ให้ช่วยกันสร้างสรรค์ และผลิตการ์ตูนดีๆให้แก่เด็ก โดยมีผู้ปกครองและครูเป็นผู้ให้คำแนะนำว่าการ์ตูนแบบใดที่มีความเหมาะสม ซึ่งคงต้องดูตามวัย หากเป็นเด็กเล็กก็ควรเป็นการ์ตูนภาพ โดยเน้นเรื่องความผูกพัน ความไว้ใจ และความมีน้ำใจส่วนเด็กโตก็ควรมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับเรื่องทัศนคติ ความเกื้อกูล ค่านิยมทางเพศและค่านิยมทางสังคมที่ดีงาม
“อยากเปิดศักราชใหม่ให้ผู้ใหญ่ได้เข้าใจและยอมรับว่าการ์ตูนก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพสมองของเด็ก โดยจะเห็นได้ว่าในต่างประเทศก็นิยมใช้การ์ตูนเป็นหนังสือที่ใช้ในการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นในเด็ก เพราะการอ่านการ์ตูนจะช่วยทำให้เกิดความสุข และความเพลิดเพลินซึ่งจุดนี้จะทำให้เด็กจดจำเรื่องต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้หากเราต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา ทุกฝ่ายคงต้องช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมการอ่านในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกับเด็กเล็ก ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นผู้ที่จะสร้างพลเมืองแห่งอนาคต”นางสุดใจ กล่าว
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีกิจกรรม “ปั่นสร้างปัญญา” ซึ่ง นายจรัญ มาลากุล หัวหน้าโครงการอ่านสร้างชาติมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการปั่นจักรยานเข้าไปในชุมชน เพื่อนำหนังสือเข้าไปถึงกลุ่มผู้ที่ขาดโอกาส โดยระยะแรกจะเริ่มนำร่อง 10ชุมชนใน กทม. ซึ่งนอกจากจะนำหนังสือไปให้เด็ก และคนในชุมชนได้เลือกอ่านหนังสือตามความชอบของตนเองแล้ว จะมีการตั้งกลุ่มเล่านิทาน
ขณะเดียวกัน “รถเข็นนิทานมอบความสุขถึงเตียงผู้ป่วยเด็ก” ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มาร่วมสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านของเด็กไทยที่เป็นผู้ป่วยเด็กในหอผู้ป่วย โดยน.ส.อวยพร กิติเจริญรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีกล่าวว่า ขณะนี้ทางสถาบันฯ มีรถเข็นนิทานประมาณ 27คัน โดยจะส่งหนังสือเข้าถึงทุกตึกของผู้ป่วย แต่ขณะนี้หนังสือขาดแคลนมาก เพราะบางคนเมื่ออ่านแล้วรู้สึกชอบก็จะนำกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม เราจะเน้นให้แม่ช่วยอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ซึ่งการอ่านหนังสือนอกจากจะช่วยให้เด็กจดจำสิ่งดีๆ และเกิดนิสัยรักการอ่านแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยเด็กลืมความเจ็บปวด และคลายวิตกกังวลกับอาการเจ็บป่วยได้ด้วย
ด้าน นายพุฒิเมธ นพเก้ารัตนมณี ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนโพธิสารพิทยากร และนักกิจกรรมประจำโรงเรียน เล่าถึงกิจกรรมรักการอ่านของโรงเรียนว่าโรงเรียนได้สนับสนุนเรื่องการอ่านมาโดยตลอด โดยจะมีการจัดกิจกรรมสัปดาห์นักอ่านขึ้นเป็นประจำทุกภาคเรียนประกอบด้วย การออกร้านจำหน่ายหนังสือเกมส่งเสริมพัฒนาการทางด้านการอ่านพร้อมกันนี้ยังได้มีการจัดกิจกรรมมอบหนังสือสู่ชุมชน ซึ่งพวกเราจะได้ลงพื้นที่เพื่อนำนิสัยรักการอ่านสู่ชุมชน ทั้งนี้ การทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ทำให้ตนรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะได้ช่วยสร้างความสนุกสนานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้มากมาย
ความห่วงใยนี้เพราะรู้ว่าการอ่านออกเขียนได้ของไทยเราล้าหลังมาก จึงต้องมาร่วมกันรณรงค์ หน่วยงานที่ต้องหันมาหนุนจริงๆ ก็คือภาครัฐผ่านกระทรวงศึกษาธิการก็ยิ่งดีหรือใน กทม. ก็ต้องผู้ว่าราชการหนุนต่อเนื่อง อย่าทำแค่เพื่อประชาสัมพันธ์เป็นไฟไหม้ฟาง หนุนวัฒนธรรมรักการอ่านให้ฝังอยู่ในสำนึกให้จงได้ คงไม่ใช่แค่จะบรรลุผลในสองสามวัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดย นายหวังดี