สสส.จัดกิจกรรมรับวันเด็ก 54
ดึงเยาวชนฝึกจิตอาสา-แบ่งปัน
สสส. ร่วมสร้างจิตสาธารณะแก่เด็กไทยจัดกิจกรรม “อาสา – แบ่งปัน” รับวันเด็ก 54 หนึ่งในพื้นที่จัดงานวันเด็กที่ได้รับความนิยม คือ ทำเนียบรัฐบาล ในปีนี้ก็เช่นกัน ที่บรรดาเด็กๆ จากทั่วสารทิศได้เข้ามาร่วมกิจกรรมหลากหลายอย่างซึ่งจัดขึ้นภายในสถานที่แห่งนี้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งองค์กร ที่เข้ามาร่วมจัดกิจกรรม ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาล โดยในปีนี้ ได้มีการตั้งกล่องเพื่อรับบริจาคของขวัญให้แก่มูลนิธิที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อให้เด็กๆ ที่มาร่วมงานได้รู้จักแบ่งปัน ซึ่งสอดคล้องกับหนึ่งในคำขวัญวันเด็ก ปี 2554 ในเรื่องจิตสาธารณะ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเขียนการ์ดให้เด็กๆ ในโรงพยาบาลเด็ก การรับบริจาคหนังสือช่วยน้ำท่วม จากโครงการตลาดนัดแบ่งปันหนังสือเด็กมือสอง รวมน้ำใจช่วยน้ำท่วม ซึ่งหลังจากนี้ ยังคงรับบริจาคตามจุดบริจาคของโครงการทั่วประเทศ
กิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องจิตสาธารณะอื่นๆ ที่ สสส. สนับสนุนยังคงมีอีกหลายโครงการ ซึ่งมีทั้งดำเนินการไปบ้างแล้ว และกำลังจะเริ่มในไม่ช้านี้ กิจกรรมที่เริ่มไปแล้ว ก็เช่น โครงการเด็กในชุมชนแออัด ซึ่งมีสมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง (สxส) เป็นผู้ดำเนินการ เป็นโครงการที่มีเด็กๆเข้ามาเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยคุกคามแก่เด็กและเยาวชนในชุมชนของตนเอง ขณะนี้ ดำเนินการใน 50 ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ แบ่งเป็นชุมชนตามพื้นที่จริง 45 แห่ง และชุมชนตามประเด็นอีก 5 แห่ง คือ ลานกีฬา โรงเรียน และชุมชนในตึกสูง
ภุชงค์ กนิษฐชาต นายกสมาคม สxส เล่าถึงแนวคิดของโครงการนี้ว่า เป็นการนำเด็กและเยาวชนมาพูดคุยกัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยผู้ใหญ่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและจัดการปัญหาให้
“เปรียบเสมือนว่าชุมชนของพวกเขาคือวัว เด็กๆ อาสาสมัครเหมือนคนเฝ้า ที่ให้อยู่บนนั่งร้าน คอยเฝ้าวัวไว้ หากมีอันตรายคือ เสือ เข้ามาก็ให้ตะโกนบอกผู้ใหญ่ เพราะหากนำเด็กลงมาทำงาน ลงมาจัดการกับเสือ จัดการกับปัญหา เด็กก็จะได้รับอันตราย นอกจากนี้ ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากโครงการ child watch ของ อ.อมรวิชช์ นาครทรรพ ซึ่งมองภาพรวมของทั่วประเทศ แต่โครงการนี้จะย่อลงมาที่ระดับชุมชน”
ส่วนวิธีการทำงานนั้น เขาบอกว่า แต่ละชุมชนจะมีเด็กร่วมทำงานอย่างน้อย 5 – 10 คน รวม 300 กว่าคน ในแต่ละแห่งจะมีเด็กเป็นแกน 2 – 3 คน และจะขยายเป็นทีมงานอีก 5 – 7 คน และเป็นอาสาสมัครสื่อสาร ทำหน้าที่กระจายข่าวอีก 2 คน เริ่มการทำงานจากสำรวจชุมชนว่า มีปัญหาเรื่องใดบ้าง แล้วให้เด็กเลือกมาหนึ่งประเด็น จากนั้นจะศึกษาข้อมูล และเริ่มเฝ้าระวัง มีการตะโกนบอกผู้ใหญ่ผ่านสื่อชุมชน ทั้งเสียงตามสายและวิทยุชุมชน รวมทั้ง สื่อที่เด็กๆ ช่วยกันออกแบบ ท้ายสุดจะเป็นการเรียนรู้เชิงประจักษ์ถึงผลที่ได้รับ
“เด็กๆ ที่อาสามาทำงานร่วมกับเรา ส่วนใหญ่จะมีพ่อแม่ ญาติ หรือคนรู้จัก ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการอาสามาก่อน ภาพการทำงานเหล่านี้ของคนใกล้ตัวจึงเป็นส่วนในการดึงดูดเด็กๆ ให้มาทำงานอาสา อีกส่วนมาจากการที่เด็กๆ ตั้งใจเองว่าต้องการทำงานอาสา ต้องการมาช่วยเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม”
สำหรับเด็กๆ ที่ต้องการทำงานอาสาสมัคร ภุชงค์แนะนำว่า ต้องค้นหาตัวเองให้เจอ ค้นหาแรงบันดาลใจ แรงขับดันในการทำงานด้านนี้ เพราะงานอาสาสมัครเป็นเรื่องของการเสียสละ ไม่ใช่มีเพียงอุดมคติอย่างเดียว ต้องเจอกับปัญหาหลายๆ อย่าง เราต้องค้นหาให้เจอ เพื่อจะทำให้เราก้าวไปสู่การทำงานเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน
อีกโครงการหนึ่ง ซึ่งกำลังจะดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์นี้ คือ กิจกรรมสร้างสรรค์เยาวชนเป็นพลเมืองเข้มแข็งใจอาสา ในโครงการใสสะอาดพอเพียงเพื่อพ่อสู่สถานศึกษาและชุมชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเยาวชนให้มีจิตสาธารณะ ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกับชุมชน เช่น การรณรงค์รักษาความสะอาดและรักษาสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ฟื้นฟูแม่น้ำในท้องถิ่น จัดค่ายอนุรักษ์อุทยานการศึกษา ค่ายเรียนรู้วิถีชาวบ้านและรากฐานของการเกษตร จัดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมดีๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมการมีจิตสาธารณะแก่เด็กและเยาวชน ที่ สสส. ได้ให้การสนับสนุน ยังมีโครงการและกิจกรรมลักษณะนี้อีกมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้เด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทย ได้รู้จักการให้ การแบ่งปัน และเสียสละ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสาธารณะ เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
update : 10-01-54
อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก