สสส.ขยายโรงพักเสริมสร้างสุขภาพ
เป็น 101 สถานี หลังจาก 52 สถานีแรกสำเร็จดี
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโครงการเพิ่มขีดความสามารถสู่การเป็นสถานีตำรวจสร้างเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลดารารัศมี สังกัดโรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จัดเวทีสรุปผลการดำเนินงาน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553 ที่โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ โดยมีตัวแทนจากสถานีตำรวจที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 52 สถานี ใน 3 จังหวัด สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 คือ จ.เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน ตัวแทนจากสถานีอื่นๆในกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ทั้งจาก จ.เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ตัวแทนจากตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กองการฝึกตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจทางหลวง ร่วมงาน
พล.ต.ท.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ แถลงว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์มาก โรงพยาบาลตำรวจจึงร่วมมือกับ สสส. เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการนี้ ซึ่งหลังดำเนินงาน ภาพที่ออกมาดีกว่าที่คิดไว้ ข้าราชการตำรวจมีจิตสำนึกเรื่องสุขภาพ ร่วมแรงร่วมใจกันจัดกิจกรรม เป็นไปตามที่เราเน้นในเรื่องกิจกรรม เพื่อให้ทุกคนมาร่วมกัน ออกกำลังกาย ลดละเลี่ยงอบายมุข ทำให้โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลดารารัศมี และ สสส. คิดว่า น่าจะขยายผลไปยังสถานีอื่นๆในภาคเหนือตอนบน ให้ครบทั้ง 8 จังหวัด ขยายไปอีก 101 สถานีใน 5 จังหวัด สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 โดยจะให้ทั้ง 52 สถานีที่ผ่านการทำงานในโครงการนี้ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และมีโรงพยาบาลดารารัศมีทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของพี่เลี้ยง
“ในปีต่อไป จะมีการประเมินผล หากการดำเนินโครงการอีก 101 สถานีในภาค 5 ประสบความสำเร็จ ก็จะขยายไปในเขตใกล้เคียงในรัศมีของโรงพยาบาลดารารัศมี อาจจะเป็นภาค 6 และหากได้ผลดี ก็จะขยายไปทั่วประเทศ เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีโรงพัก ที่มีแต่ตำรวจสุขภาพดี เราต้องสุขภาพดีก่อน จึงจะไปช่วยปราบปรามผู้ร้าย หากยังสุขภาพไม่ดี ต่อสู้กับคนร้ายก็ไม่ชนะ ในนามโรงพยาบาลตำรวจและโรงพยาบาลดารารัศมีต้องขอขอบคุณ สสส.ที่ได้สนับสนุนมาโดยตลอด ทั้งด้านงบประมาณ องค์ความรู้ทางวิชาการ และการให้คำปรึกษา และขอขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลจากความร่วมมือจะทำให้ตำรวจในภาคเหนือตอนบน มีสุขภาพที่ดี ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” พล.ต.ท.จงเจตน์กล่าว
พ.ต.อ.อนุพงศ์ เรืองเดชอนันต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดารารัศมี กล่าวว่า นอกจากงานด้านการรักษาพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลดารารัศมียังมีงานด้านการส่งเสริมสุขภาพให้แก่ข้าราชการตำรวจและครอบครัว ซึ่งเป็นงานสุขภาพเชิงรุก แต่การดำเนินงานที่ผ่านมายังไม่ครบถ้วน จากผลการตรวจสุขภาพประจำปีของข้าราชการตำรวจในปี 2549-2551 พบว่า ข้าราชการตำรวจมีแนวโน้มเกิดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆเพิ่มขึ้น ทั้งไขมันในเลือดสูง ที่พบความผิดปกติ 77.5 % ในปี 2549 เพิ่มเป็น 91.8 % ในปี 2550 กรดยูริก ผิดปกติ 16.2 % ในปี 2549 ต่อมาในปี 2550 ความผิดปกติ เพิ่มเป็น 52.8 % ค่าดัชนีมวลกาย ปี 2550 ผิดปกติ 36.1 % ปี 2551 ผิดปกติ 35.9 % ความดันโลหิตสูง ปี 2549 ผิดปกติ 17.8 % ปี 2550 ผิดปกติ 27.4 % และปี 2551 ผิดปกติ 32.0 % โลหิตจาง ปี 2549 ผิดปกติ 20.1 % ปี 2550 ผิดปกติ 24 % และปี 2551 ผิดปกติ 27.6 % น้ำตาลในเลือดสูง/เบาหวาน ปี 2549 ผิดปกติ 6.4 % ปี 2550 ผิดปกติ 20.3 % และปี 2551 ผิดปกติ 19.5 %
พ.ต.อ.อนุพงศ์กล่าวว่า ในรอบ 3 ปีดังกล่าว โรงพยาบาลดารารัศมีได้ให้ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพแก่ข้าราชการตำรวจในกลุ่มเสี่ยงโดยตลอด แต่พบว่า ข้าราชการตำรวจจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนในระยะ 3 เดือนแรก จากนั้นจะกลับสู่พฤติกรรมเดิม จึงริเริ่มจัดทำโครงการเพิ่มขีดความสามารถสู่การเป็นสถานีตำรวจสร้างเสริมสุขภาพขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณและองค์ความรู้ทางวิชาการจาก สสส. โดยหลังจากดำเนินโครงการแล้ว เพียงระยะที่ 3 คือระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2552 ปรากฏว่า ผลการตรวจสุขภาพข้าราชการตำรวจ ประจำปี 2552 เป็นที่น่าพอใจ โดยพบว่า สัดส่วนของผู้ที่มีโรค/กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคในปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 92.1 % ลดลงจากปี 2551 ที่มี 94.9 % สัดส่วนความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆในข้าราชการตำรวจต่อ 1 ราย ลดลงและมีการกระจายผลไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลดลงอย่างชัดเจน
“และสัดส่วนของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆเกือบทุกโรค ในปี 2552 ลดลงจากเดิม เมื่อเทียบกับปี 2551 โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับไตและตับ โดยปี 2551 มีผู้เสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับไต 17.01 % ส่วนตับ 19.20 % ส่วนปี 2552 มีผู้เสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับไต 1.10 % และตับ 5.15 % ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการที่ชัดเจน เนื่องจากสถานีตำรวจที่เข้าร่วมโครงการได้จัดกิจกรรมรณรงค์การลด ละ เลิก บุหรี่และสุรา ช่วงเข้าพรรษา และต่อยอดขยายเวลาออกไปอย่างต่อเนื่อง” พ.ต.อ.อนุพงศ์กล่าว
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า จากการดำเนินงาน ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ เพียงปีเดียวก็เห็นผลชัดเจน อย่างน้อย ข้าราชการตำรวจที่เข้าร่วมโครงการเริ่มเข้าใจแล้วว่า เรื่องสุขภาพไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย และมีระบบเกิดขึ้นแล้วในแต่ละสถานี โดย สสส.ตั้งใจจะสนับสนุนให้ทำต่อในสถานีอื่นๆ อย่างน้อย 10 % ของ 700 อำเภอทั่วประเทศ ซึ่งคิดว่า จากการให้รางวัลโดยการเลือกกันเองของสถานีที่เข้าร่วมโครงการ และนำประสบการณ์การทำงานมาเล่าสู่กันฟังในเวทีนี้ จะทำให้มีสถานีอีกมากสนใจเข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ จากการลงคะแนน มีสถานีตำรวจที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลผลการปฏิบัติงานระดับดีมาก 3 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีตำรวจภูธรจอมทอง จ.เชียงใหม่ 2.สถานีตำรวจภูธรเชียงดาว จ.เชียงใหม่ และ 3.ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 จ.ลำปาง และสถานีตำรวจที่มีผลการปฏิบัติงานระดับดี 8 แห่ง ประกอบด้วย 1.สถานีตำรวจภูธรฝาง จ.เชียงใหม่ 2.สถานีตำรวจภูธรแม่อาย จ.เชียงใหม่ 3.สถานีตำรวจภูธรแม่พริก จ.เชียงใหม่ 4.สถานีตำรวจภูธรทุ่งฝาย จ.ลำปาง 5.สถานีตำรวจภูธรเวียงมอก จ.ลำปาง 6.สถานีตำรวจภูธรก้อ จ.ลำพูน 7.สถานีตำรวจภูธรบ้านโฮ่ง จ.ลำพูน และ 8.สถานีตำรวจภูธรวังเหนือ จ.ลำปาง
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
update: 01-04-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร