สวนบำบัด ช่วยเด็กพิการ

แนวคิดการใช้ "สวนบำบัด" กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง นั่นเพราะการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติควบคู่กับการแพทย์ปัจจุบัน สามารถช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยได้หลากหลายกลุ่ม ทั้งผู้ป่วยทางจิต เด็กพิการ กระทั่งคนทั่วไปที่มีความเครียดสูง


สวนบำบัด ช่วยเด็กพิการ thaihealth


อีกทั้งเรื่องการประยุกต์ใช้ธรรมชาติเพื่อสร้างประโยชน์ในแต่ละรูปแบบ สามารถทำได้จริงและไม่ยุ่งยากเกินกว่าที่ใครๆจะทำได้ ดั่งเช่นบางตอนของ "เวทีถอดบทเรียนองค์ความรู้ด้านสวนบำบัด" ที่เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้มีประสบการณ์การทำสวนบำบัดมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างน่าสนใจ


น.พ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อเด็กพิการและผู้ผลักดันโครงการ "สวนบำบัด" ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายย้ำถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงของการใช้ "สวนบำบัด" หรือ "ธรรมชาติบำบัด" ว่า ได้รับความนิยมมานานแล้วในต่างประเทศโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า ทหารที่ผ่านสงคราม เด็กพิการ ทั้งนี้เพราะนอกจากสีเขียวของธรรมชาติจะสร้างความผ่อนคลายแล้ว การใช้ สี กลิ่น ผิวสัมผัสของธรรมชาติที่มีความแตกต่างกัน ยังสร้างจุดดึงดูดให้กลุ่มเด็กที่บกพร่องทางสมองหรือร่างกาย นำไปสู่การพัฒนาอื่นๆ เช่น การเรียนรู้เรื่องผิวสัมผัสจากใบไม้ การนับจำนวนตัวเลข การขยี้ใบไม้เพื่อรับกลิ่น ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุการได้อยู่ในสวนย่อมทำให้ความเครียดลดลง สามารถทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับกายภาพได้นานขึ้น


ขณะที่ประสบการณ์ของผู้ใช้แนวคิดสวนบำบัดกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตนั้น กรรณิกา ไชยชนะ กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ สถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา เล่าว่า พื้นที่เล็กที่ดัดแปลงเป็นสวนผักบริเวณสถาบันเพื่อทำการเกษตรได้สร้างผลดีให้แก่ผู้ป่วย โดยกิจกรรมสวนบำบัดจะเปิดกว้างให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้เลือกว่าอยากปลูกพืชชนิดใดบ้าง มีการดูแลอย่างไร เพื่อนำไปสู่การจำหน่ายช่องทางไหน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะดำเนินการเองทั้งหมดโดยมีพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด ส่งเสริมให้มีความต่อเนื่อง และเมื่อผลสำเร็จดี ผู้ป่วยที่เคยท้อแท้ จะมีกำลังใจสามารถกลับไปดำเนินชีวิตสู่ภายนอกได้เช่นเดิม


"เริ่มแรกเราจะให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดเลือกก่อนว่าจะปลูกอะไร ไม่ว่าจะเป็นผักกาดขาว คะน้า พริก ต้นหอม หรือผักสวนครัวอื่นๆ ที่เอาไปขายได้จริง สามารถเห็นผลเร็ว จากนั้นเขาก็จะเริ่มกระบวนการปลูกผัก ทั้งการ เตรียมดิน การรดน้ำ ไปจนถึงการวางขายในตลาด กระบวนการเหล่านี้มันช่วยให้ผู้ป่วยได้บำบัดตัวเอง ได้พูดคุยกับคนรอบข้าง มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมปกติ เป็นการฝึกทักษะทางสังคมโดยมีการเกษตรเป็นเครื่องมือ"


"เหตุที่มาบำบัดทางจิต เป็นเพราะผู้ป่วยบางรายมีลักษะก้าวร้าว บ้างก็ซึมเศร้าไม่สามารถใช้ชีวิตกับสังคมภายนอกได้ การรักษาด้วยวิธีการแพทย์ที่เหมาะสมพร้อมไปกับการฝึกทักษะทางสังคม ทำให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น หรือเวลากลับไปเยี่ยมบ้านพวกเขาก็จะเอาผักที่ปลูกกลับไปด้วย บางคนเอากลับไปขาย ทั้งหมดได้สร้างความภูมิใจกับตัวเขาเอง และคนในครอบครัว แปลงปลูกผักเล็กๆ จึงเป็นทั้งความหวัง และห้องเรียนที่สอนการดำเนินชีวิตกับผู้ป่วย" กรรณิกา กล่าว


รวิสรา อิสสรากุล นักจิตวิทยาและนักกิจกรรมบำบัด บ้านเด็กคามิลเลียน กล่าวว่า ได้ใช้กิจกรรมสวนบำบัดกับกลุ่มเด็กออทิสติก มาประมาณ 1 ปี ซึ่งได้เห็นพัฒนาการของเด็กว่ามีความกระตือรือร้นที่จะออกไปเล่นข้างนอกมากขึ้น แทนจากเดิมที่ค่อนข้างเก็บตัว ขณะที่ด้านร่างกายเมื่อมาออกแรงด้านร่างกายได้ลงมือทำสวน ได้ใช้มือ ใช้ขา การพรวนดิน การทรงตัวและหยิบจอบ ได้สร้างความแข็งแรงให้กับเด็ก อย่างไรก็ตามสวนบำบัดเพื่อเด็กจำเป็นต้องออกแบบให้เหมาะสม เช่น ทางเดินที่ต้องให้รถเข็นผ่านได้ การใช้หญ้าเทียม ไม่วางวัตถุให้ต่ำหรือสูงเกินไป การคำนึงถึงวัตถุที่จะสร้างอันตรายกับเด็ก การปลูกผักที่เน้นไม้พุ่มขนาดเล็ก การใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กที่ให้เด็กสามารถทำได้จริงเพื่อความต้องการอยากมีส่วนร่วม


การนำหลักธรรมชาติมาประยุกต์ทำสวนบำบัดจึงเป็นการเปิดพื้นที่เรียนรู้ สร้างทักษะให้แก่คนแต่ละกลุ่มที่เห็นผลได้จริง


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code