สร้าง ‘คนต้นแบบ’ อุตสาหกรรม 4.0
ที่มา : มติชนออนไลน์
กระทรวงแรงงาน จับมือ สสส. สมาคมนายจ้าง สร้าง ‘คนต้นแบบ’ อุตสาหกรรม 4.0
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงแรงงาน นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว(สสส.) ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ และนายวิชัย ศิรินคร ประธานสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ร่วมลงนามความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินงาน “โครงการต้นแบบ การเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา”
นายธีรพล กล่าวว่า ปี 2560 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะเน้นการเพิ่มคุณภาพฝีมือแรงงานสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเน้นการสร้างเครือข่าย การใช้พื้นที่และดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในวิถีประชารัฐ ดังนั้นการสร้างทักษะฝีมือแรงงานอย่างเดียวไม่พอ จึงได้รับความร่วมมือจาก สสส.และสมาคมนายจ้างเพื่อสร้างทักษะชีวิตก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะวินัยและความปลอดภัยซึ่งมีความสำคัญอย่างมากเพื่อป้องกันความสูญเสีย โครงการนี้จึงเป็นการเติมเต็มการทำงานและเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนให้เป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ โดยดึงเยาวชนนอกระบบการศึกษาเข้ารับการฝึกหลักสูตรก่อนเข้าทำงาน จำนวน 1,240 คน ในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิษณุโลก สระแก้ว สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ และเชียงราย เพื่อพัฒนาศักยภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า วินัยและความปลอดภัยจากการทำงานเป็นสิ่งที่สถานประกอบการให้ความสำคัญเพื่อลดความเสียหายทางธุรกิจและสร้างสุขภาวะที่ดีแก่คนทำงาน อย่างไรก็ตาม จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ในปี 2558 โดยสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม พบว่า มีลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนประสบอันตรายอันเนื่องจากการทำงานถึงขั้นเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ และมีการหยุดงาน จำนวนถึง 96,826 คน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความประมาทและขาดวินัยในการทำงาน สสส.จึงร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในการสร้างวินัยและความปลอดภัย รวมถึงการสร้างความเข้าใจในด้านสุขภาวะ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ซึ่งมีสาเหตุที่สำคัญจากความยากจน ให้ได้รับการฝึกวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานซึ่งจะส่งผลต่อโอกาสการทำงานและความสุขในการประกอบอาชีพ โดยออกแบบกิจกรรมในรูปแบบค่ายเพื่อให้เยาวชนได้ฝึกปฏิบัติ พร้อมกับประเมินพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้เข้าร่วม รวมถึงการประเมินผลความพึงพอใจของสถานประกอบการเมื่อเยาวชนกลุ่มนี้เข้าทำงานเพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรทักษะฝีมือควบคู่วินัยหรือนิสัยอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการอบรมวิทยากรประจำศูนย์ให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อเข้าสู่การอบรมในระบบปกติ
นายวิชัย ศิรินคร ประธานสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า นายจ้างคาดหวังแรงงานมีประสิทธิภาพทั้งร่างกายและจิตใจพร้อมที่จะทำงาน เป็นคนดี มุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองโดยเฉพาะการมีวินัย เพราะมักมีนายจ้างกล่าวอยู่เสมอว่าลูกจ้างยังขาดวินัย ทั้งการหยุดงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ไม่ตรงต่อเวลา ไม่สวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัย ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ เป็นต้น ดังนั้นพฤติกรรมของแรงงานที่นายจ้างคาดหวัง ประกอบด้วย การมีพฤติกรรมเชิงบวกในสังคม ได้แก่ ความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีวินัย ขยันอดทน รวมถึงมีพฤติกรรมที่ดีต่อการทำงาน เช่น คำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน ใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องเหมาะสม ทำงานอย่างมีขั้นตอน ประณีต ใช้เวลาการทำงานที่เหมาะสม เป็นต้น โครงการนี้จึงเป็นการวินัยในการทำงานให้แก่แรงงานที่นายจ้างและสถานประกอบการต้องการ