สร้างเมืองต้นแบบปลุกกระแสการปั่น

กระทรวงมหาดไทย จับมือกับสำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ปลุกกระแสรัก การปั่น เปิดโครงการ 'เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี' เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และใช้จักรยานสัญจรในชีวิตประจำวัน


สร้างเมืองต้นแบบปลุกกระแสการปั่น thaihealth


แฟ้มภาพ


โครงการ เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี คือ การพัฒนายุทธศาสตร์ 3 ส. ได้แก่ 1 สวนสาธารณะ 1 เส้นทางสัญจร และ 1 สนามกีฬา หรือ สนามบิน ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ


ทั้งนี้ 1-สวนสาธารณะ คือการจัดทำทาง จักรยานในสวน ระยะทางประมาณ 3 กม. 1-เส้นทางสัญจร คือการพัฒนาเส้นทางจักรยานบนเส้นทางหลักที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญ เพื่อตอบสนองผู้ใช้จักรยานไปทำงานหรือ ไปเรียน ใช้วิธีปรับแบ่งพื้นผิวจราจร ในระยะทาง ประมาณ 3-8 กม. และ 1-สนามกีฬาหรือสนามบิน คือการสนับสนุนให้มีการขี่จักรยานโดยรอบพื้นที่ดังกล่าว  ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิ แผน ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สสส. กล่าวว่า การปั่นจักรยาน สามารถตอบโจทย์การ สร้างสุขภาพ ลดการใช้พลังงาน โดย สสส. ใช้ยุทธศาสตร์สำคัญ 2 ด้านในการผลักดัน คือ การสร้างกระแสความตื่นตัวด้านการเดินและใช้จักรยาน พร้อมทั้งผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในระดับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในวิถีชีวิต การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และการท่องเที่ยว และนันทนาการ โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี ระยะที่ 1 มีจำนวน 17 จังหวัดเข้าร่วม ได้แก่ จังหวัดเชียงราย, ลำพูน, น่าน, พิษณุโลก, นครสวรรค์, อุทัยธานี, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ชัยนาท, กาญจนบุรี, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, จันทบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, กระบี่, พัทลุง และสงขลา ก่อนที่จะขยายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ


"ผู้ที่มีศักยภาพที่จะใช้จักรยานมีมากถึง 60 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการรณรงค์ให้เปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาใช้การเดินทางในชีวิตประจำวันด้วยจักรยานมากยิ่งขึ้น โดยมีแผนการส่งเสริม ให้มีเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัยซึ่งถือเป็นหัวใจของเรื่องนี้ เพราะหากไม่ปลอดภัยก็จะไม่มีผู้ใช้จักรยานจริงเกิดขึ้นในวิถีชีวิต รวมถึง การสร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อการใช้ถนนร่วมกัน ในสังคม" ณรงค์ กล่าว


ตัวอย่างความสำเร็จของโครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี ในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีจุดแข็งในการวางผังก่อสร้างเมืองพร้อมเป็นเมืองจักรยาน มีเส้นทางจักรยานที่ชัดเจน รวมทั้งมีจักรยานยืมปั่น และจุดจอดจักรยานจำนวน 20 จุดรอบตัวเมือง


บุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรี นครพิษณุโลก กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการเป็นเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี ของเทศบาลนครพิษณุโลก เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ได้กำหนดให้มีการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เทศบาลฯ จึงได้เริ่มขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้จักรยาน ในชีวิตประจำวัน ประกอบกับกระทรวงมหาดไทย และสสส.ได้คัดเลือกเทศบาลนครพิษณุโลก เป็น 1 ใน 17 จังหวัดนำร่องโครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี ซึ่งมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน


ปัจจุบัน เทศบาลนครพิษณุโลก มีการก่อสร้างเส้นทางจักรยานแล้วเสร็จ 1 สาย คือ รอบสวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ ทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำน่านและกำลังก่อสร้างทางเพิ่มอีก 4 สาย คือ เส้นรอบ คูเมือง, เส้นริมน้ำน่าน บริเวณถนนพุทธบูชา จากสะพานสุพรรณกัลยาถึงทางเข้าเทศบาลนครพิษณุโลก, เส้นภายในโบราณสถานพระราชวังจันทน์ และเส้นบริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ (สวนเรือนแพ)


สร้างเมืองต้นแบบปลุกกระแสการปั่น thaihealthทั้งนี้ เทศบาลนครพิษณุโลก ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากประชาชน มีผู้คนออกมาใช้จักรยานเพิ่มขึ้น ทั้งในชีวิตประจำวัน และการออกกำลังกาย ขณะที่พฤติกรรมของผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะบนท้องถนนมีทัศนคติ ที่ดีกับจักรยานมากยิ่งขึ้น คือ มีการชะลอความเร็ว รถยนต์เมื่อพบเห็นจักรยาน เกิดการท่องเที่ยวด้วยจักรยานในพื้นที่ เกิดการรวมตัวกลุ่มจักรยานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เกิดธุรกิจการให้เช่าจักรยานมากกว่าสิบราย มีจักรยานหมุนเวียนโดยรวมอย่างต่ำ 500 คัน เกิดร้านจักรยาน ร้านซ่อมแซมจักรยานขึ้นมากกว่าที่มีอยู่เดิมอีกกว่า 10 ร้าน


"ความสำเร็จของโครงการนี้ จะต้องมาจากการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนและ ภาคส่วนต่างๆ เป็นเป้าหมายหลัก เราได้เน้น การมีส่วนร่วมของชุมชน การรับฟังความคิดเห็น ในการจัดทำเส้นทางจักรยาน การจัดเสวนาในวงกว้าง ชุมชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะต่อการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยในการใช้จักรยานบน ท้องถนนเช่น ข้อมูลจุดเสี่ยง ข้อควร ระมัดระวัง มาตรการเสริมความปลอดภัย" บุญทรง กล่าว


ขณะที่อีกหนึ่งของความสำเร็จคือ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีจุดแข็งทางด้านเครือข่ายภายใต้ชื่อ 'กลุ่มจักรยานปั่นปลุกเมือง' ที่สามารถร่วมกัน สร้างกระแสให้ประชาชนหันมาขี่จักรยานกันมากขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมปั่นปลุกเมือง ซึ่งจัดขึ้นทุกวันจันทร์- ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป โดยใช้เส้นทางย่านชุมชน ถนนดาวดึงส์ ถนนหิมพานต์ เชื่อมต่อเรียบแม่น้ำเจ้าพระยา และมีกิจกรรมวันสำคัญ ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน เช่น เดือนมกราคม กับกิจกรรมปั่นปั่นวันยุทธหัตถี เดือนกุมภาพันธ์ กับปั่นปั่นพลังรักปากน้ำโพ 


ดารณี กาญจนะ คุ้มสิน ผู้จัดการโครงการ ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (เมืองปั่นได้เมืองปั่นดี) เทศบาลนครนครสวรรค์ กล่าวว่า ที่นี่มีแผนการจัดกิจกรรมจำนวน 8 โครงการ อาทิ การจัดทำเครื่องหมายจราจรเพื่อเพิ่ม ความปลอดภัยบนถนน การสร้างจุดจองจักรยานจำนวน 10 จุด บริเวณพื้นที่ชุมชน เช่น โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า หรือจุดจอดใต้สะพานลอย โดยไม่ให้กีดขว้างบริเวณ ทางเดิน รวมทั้งโครงการความร่วมมือกับร้านซ่อมจักรยาน โดยไม่คิดค่าบริการ และโครงการบ้านพี่เมืองน้อง เช่น นครสวรรค์ กับชัยนาท หรือนครสวรรค์กับอุทัยธานี เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี


ทั้งนี้ เทศบาลนครสรรค์ให้ความสำคัญกับ การใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน ทั้งในสวนสาธารณะ เส้นทาง และ สนามกีฬา พร้อมทั้งมีระบบดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ใช้จักรยาน และอำนวยความสะดวกด้านจุดจอดจักรยานที่มีกว่า 100 จุด ทำให้เป็นที่ยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ และทำให้ที่นี่ได้รับรางวัลต้นแบบเมืองจักรยานเพื่อสุขภาพที่มีความโดดเด่นในภาคประชาสังคม จากกระทรวงสาธารณะสุข โดยตั้งเป้าหมายว่าในช่วง 3 ปีนับจากนับจากปี 2555 จะมีชาวนครสรรค์ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรในทะเบียนราษฎร์ หรือประมาณ 5,000 คน


"เรามีความยั่งยืนของการเป็นเมืองจักรยาน เพราะประชาชนให้ความร่วมมือเนื่องจากผ่านการทำประชาพิจารณ์ และยังสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ทั้งธุรกิจร้านจักรยานทั้งการขาย การซ่อม และการเช่า ธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะมี เส้นทางท่องเที่ยวหลายจุด และเกิดธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ" ดารณี กล่าว


นอกจากนั้น เทศบาลนครนครสวรรค์ ยังอยู่ ระหว่างการสร้างศูนย์นิทรรศการ หรือ Exhibition bike ในอุทยานสวรรค์ เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ การปั่นจักรยานในรูปแบบจอจอทัชสกรีน เพื่อแนะนำเส้นทางจักรยานในจังหวัด ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ศูนย์รวมของข่าวประชาสัมพันธ์ และเป็นที่พบปะของชาวจักรยาน ทั้งในจังหวัดนครสวรรค์และนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 เดือน


โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี นอกจากจะเป็น การส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเพิ่มการมีกิจกรรม ทางกายในชีวิตประจำวันให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็น การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนใน 4 ด้านตามนโยบายของ สสส. ได้แก่ ด้านสุขภาพ ซึ่งการปั่นจักรยานเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 6 โรคหลัก ด้านสังคม การใช้จักรยานในการเดินทาง ระยะสั้นประมาณ 1-5 กิโลเมตร จะช่วยคืนความเป็นชุมชนกลับมาด้วยการจัดผังเมือง ออกแบบ และพัฒนาเมือง ด้านเศรษฐกิจ พบว่าการใช้จักรยานแทนการใช้รถยนต์สัปดาห์ละ 1 วัน ประหยัดค่าน้ำมันได้เฉลี่ย 5,200 บาท/คัน/ปี และด้านสิ่งแวดล้อม การใช้จักรยานระยะสั้น ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้น้ำมันและ ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งได้อีกด้วย


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code