สร้างสุของค์กรรัฐ ส่งสุขสู่ประชาชน
ส่งเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานให้องค์การภาครัฐ เพื่อสร้างคุณภาพในการทำงาน และยกระดับศักยภาพขององค์กร นำร่องความสุข 18 องค์กร
องค์กรภาครัฐ ถือเป็นหน่วยงานที่ทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ ภาคการให้ความรู้ และทำงานเพื่อพัฒนาคน พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า
หน่วยงานราชการเองนั้นก็เต็มไปด้วยพนักงาน ซึ่งหากจะเปรียบแล้วก็เหมือนกับองค์กรเอกชนที่ต้องทำงานและสร้างผลงานอันนำไปสู่เป้าหมาย แต่ในปัจจุบัน เราพบว่าอุปสรรคเรื่อง "คน" เป็นเรื่องใหญ่ ในการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้องค์กรรัฐมีความตื่นตัว และมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ "แผนงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐ" โดยให้ ความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรภาครัฐให้เป็นองค์กรเครือข่าย แห่งความสุข อีกทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานด้านสุขภาวะของ แต่ละองค์กรร่วมกัน เพราะตระหนักดีว่า สมดุลสุขแห่งชีวิต จะช่วย สร้างคุณภาพในการทำงาน และยกระดับศักยภาพขององค์กร โดยรวมได้
นายสุจิตต์ ไตรพิทักษ์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 แผนสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและสร้างคุณภาพชีวิตให้กับบุคลากรในองค์กรภาครัฐ เหมือนเป็นการคืนความสุขให้กับคนทำงาน โดยมีแนวคิดสำคัญว่าจะทำอย่างไร ให้บุคลากรของรัฐมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขเพิ่มขึ้น และส่งผล ไปยังบริการภาคประชาชนได้ดีขึ้นด้วย
โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมเป็นเครือข่ายองค์กรแห่งความสุขนำร่อง 18 องค์กร เช่น กรมสุขภาพจิต กรมราชทัณฑ์ กรมชลประทาน กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งหลังจากดำเนินงานมากว่า 1 ปี ทุกองค์กรมีความตื่นตัวต่อการพัฒนาบุคลากรของตนเองมากขึ้น ส่วนความคาดหวังในอนาคตคือ อยากให้องค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศเห็นความสำคัญของการสร้างสุขภาวะทางกายและจิตใจที่ดีของบุคลากรในองค์กรตนเองด้วย
ด้านพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ได้หยิบยกประเด็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น ในการทำงานขององค์กรภาครัฐ นั่นคือปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ของคนทำงานร่วมกัน ที่ทำให้มีทัศนคติการทำงานต่างกันโดย สิ้นเชิง
"4 หลักการสร้างความสุข ในองค์กรภาครัฐ หลักการแรกคือ พัฒนาองค์กรซึ่งต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ต่อมาคือ งานที่ทำต้องเกิดประโยชน์และสามารถต่อยอดผลงานได้ ควรทำงานให้มีขั้นตอนที่เข้าใจง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน และหลักสำคัญที่สุดคือ ต้องลงมือ ทำงานด้วยตัวเอง" นายแพทย์ชาญวิทย์กล่าว
น.ส.อัจฉรา พุฒิมา นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ และ เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากร กรมชลประทาน เล่าถึงกระบวนการทำงานว่า กรมชลประทาน วางแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากร โดยเริ่มจาก เจ้าหน้าที่โครงการฯ จะให้ความรู้กับผู้ปฏิบัติงานด้านคุณภาพชีวิตของคนในหน่วยงานย่อยทั้ง 36 หน่วยงานของกรมฯ หลังจากนั้นก็จะคิดรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับคนในหน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่มักประสบปัญหาด้านสุขภาพและการเงิน
นอกจากนั้น จะมีกิจกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น มีการสอนโยคะ ส่วนด้านการเงิน จะมีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนด้านการเงินส่วนบุคคล เป็นต้น
จากแนวทางการพัฒนาด้วยกิจกรรมดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่า บรรยากาศในการทำงานของหน่วยงานราชการในบ้านเราน่าจะดีขึ้น ส่งผลให้คุณภาพของงานที่ส่งต่อมายังภาคประชาชนดีขึ้นด้วยตามลำดับ และในอนาคตจะมีการขยายผลต่อไปในอีกหลายหน่วยงานภาครัฐ
ซึ่งประโยชน์ทั้งหมดจะอยู่ที่ประชาชนคนไทยนั่นเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ