สร้างสื่อในฝันเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล

สร้างสื่อในฝันเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล

เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยพายัพ โดยการสนับสนุนของสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะในประเด็น “สื่ออย่างไรให้สังคมไทยได้เข้าใจคนพิการ” ซึ่งมีผู้ร่วมเวที ประกอบด้วย ตัวแทนผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ตัวแทนคนพิการ ผู้ชม อาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์

อาจารย์ศรีธรณ์ โรจนสุพจน์อาจารย์ศรีธรณ์ โรจนสุพจน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า รายการโทรทัศน์ทั้งหมดทำหน้าที่สื่อสารถึงคนไม่พิการว่าอย่าลืมคนพิการ คนเหล่านี้เป็นคนที่ถูกกระทำเช่นเดียวกับคนชายขอบอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับการละเลย และเอารัดเอาเปรียบ แม้ว่า คนพิการจะมีความบกพร่อง ต้องพึ่งพาและได้รับความช่วยเหลือ แต่หลายรายการเสนอให้เห็นว่า คนพิการทำอะไรก็ได้เหมือนคนปกติ คนพิการไม่ใช่ผู้ที่มีแต่ความเศร้าต้องรอรับบริจาค การสื่อสารจึงมีพลังอำนาจมากในการนำเสนอภาพลักษณ์ของคนพิการ ทั้งทางบวกและทางลบ แต่ด้วยพลังนี้จะสร้างให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น

“บางรายการสร้างและผลิตโดยคนพิการเอง พวกเขากำลังสื่อสารและสร้างเนื้อหาสาระของตนต่อสังคม ซึ่งอาจเรียกได้ว่า “นิเทศศาสตร์แนวใหม่” ที่เจ้าของเรื่องจะเป็นผู้ทำการสื่อสาร โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางนำเสนอ เป็นการเปิดพื้นที่ และเปิดเผยอัตลักษณ์ให้แก่กลุ่มคนชายขอบ หรือผู้ที่ถูกกดทับ การสื่อสารเช่นนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจคนพิการมากขึ้น ซึ่งศาสตร์ทางนิเทศฯ จะต้องเรียนรู้ และให้ความสนใจมากขึ้น จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดี ไม่ว่าจะร่างกายแบบไหนทุกคนต้องการการสื่อสารที่มีเป้าหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล”

กัชกร ทวีศรี ชมรม global campus เชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นว่า จากรายการโทรทัศน์ที่ได้รับชม 10 รายการนำเสนอภาพคนพิการมีด้านบวกที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต และด้านลบจะตอกย้ำความพิการ ร่างกายที่บกพร่อง เน้นภาพคนพิการร้องไห้ หดหู่ ในฐานะที่เป็นตัวแทนผู้ชมองค์กรคนพิการ สิ่งที่อยากเห็นมากขึ้นคือ การช่วยเหลือคนพิการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิต หรือทำให้คุณภาพชีวิตคนพิการดีขึ้นอย่างไร รวมถึงการพัฒนาคุณภาพรายการที่ผลิตโดยคนพิการเอง ควรทำให้น่าสนใจ มีจุดเด่น และสร้างความสะเทือนอารมณ์คนดู ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นอารมณ์เศร้าเท่านั้น เป็นเรื่องความสุขบ้างก็ได้

สร้างสื่อในฝันเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล

เนื้อหาของบางรายการสะท้อนปัญหาและเรียกร้องให้เกิดการแก้ไข ซึ่งน่าจะทำเพิ่มมากขึ้นว่า เมื่อได้แก้ไขไปแล้ว จะทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แม้เป็นรายการที่ผลิตโดยคนพิการ ก็ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเชิงลึกในเรื่องคนพิการ รวมถึงพัฒนาการทักษะการสื่อสารและการสร้างสรรค์ให้มากขึ้น”

โอปอล์ ประภาวดี ผู้ผลิตและสร้างสรรค์รายการ “ล้อ เล่น โลก” เล่าถึงแนวคิด (concept) ของรายการตั้งแต่แรกว่า รายการ “ล้อ เล่น โลก” ไม่ใช่รายการเฉพาะคนพิการ และไม่ได้เป็นรายการเพื่อคนพิการ แต่ สสพ.ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนต้องการให้เป็นรายการที่ทุกคนดูได้ สนุกและมีความสุขที่ได้ดู เนื้อหาหลักของรายการเป็นการเรียนรู้ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตของบุคคลที่หลากหลาย โดยมีผู้ดำเนินรายการเป็นคนพิการ แต่ไม่ได้เป็นจุดขายหลัก

“กลุ่มเป้าหมายของรายการเป็นคนทั่วไป ซึ่งเป็นกลุ่มคนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะจากการวิเคราะห์ถึงรากเหง้าของปัญหาคนพิการ มันไม่ได้มาจากคนพิการ แต่เป็นปัญหาความคิดและมุมมองของคนทั้งสังคม การสื่อสารเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ในรายการจะไม่เน้นย้ำตัวคนพิการ บอกว่าคนพิการมีชีวิตและมีความสุขอย่างไร แต่เรื่องราวในรายการจะพาไปเอง โดยไม่ต้องยัดเยียด”

ผศ.จิรภัทร กิตติวรากูล ผศ.จิรภัทร กิตติวรากูล อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อได้ดูรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคนพิการแล้ว พอจะจำแนกให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการนำเสนอได้ 5 ประการ ได้แก่ การเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้ออกสื่อ การปรับทัศนคติความเข้าใจกับคนไม่พิการ การนำเสนอเรื่องราวคนพิการเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนไม่พิการ ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นว่าคนพิการมีความเป็นอยู่อย่างไร และเป็นรายการเพื่อคนพิการ ทั้งนี้วัตถุประสงค์จะสะท้อนเนื้อหาและรูปแบบของรายการ เช่น หากต้องการเพียงเปิดพื้นที่ให้คนพิการ ก็อาจไม่ต้องคำนึงว่า เนื้อหารายการจะนำมาสู่การปรับทัศนคติหรือไม่ แต่หากต้องการสร้างความเข้าใจ จะแตกต่างออกไป โดยตัวรายการอาจจะมีหรือไม่มีคนพิการก็ได้

“ภาพคนพิการที่สะท้อนออกมามีหลากหลาย ตั้งแต่น่าเวทนา น่าสงสาร จนถึงเป็นนักต่อสู้ชีวิต เป็นยอดมนุษย์ บางรายการทำให้คนพิการเป็นตัวตลก หรือทำให้คนพิการกลายเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต แต่สิ่งที่เห็นได้น้อยมาก และอยากจะเห็นคือการนำเสนอภาพคนพิการที่เป็นคน คนพิการที่เป็นมนุษย์”

อาจารย์จิรภัทรยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติม โดยเน้นย้ำหลักการสำคัญของการสื่อสารที่ว่า ถ้าไม่เข้าใจ ก็ไม่ต้องสื่อสาร การเป็นนักสื่อสารย่อมต้องสื่อสารได้ดีกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจารย์ให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาสื่อเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการไว้ว่า การสร้างอารมณ์สะเทือนใจน่าจะใช้การนำเสนอเชิงอุปมา ไม่ต้องย้ำหรือเน้นย้ำความพิการ เช่น การแสดงให้เห็น ความพิการเป็นความหลากหลายอย่างหนึ่ง เหมือนความเป็นชาย เป็นหญิง เป็นคนแก่ เป็นเด็ก หรือเป็นคนอ้วน ซึ่งทำให้คนมีความแตกต่างกัน

ด้านนันท์นภัส ตัณศิริวัฒน์ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ม.พายัพ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ บอกว่า รายการที่ได้ดูไม่ดึงดูดใจวัยรุ่น รายการทีวีไม่ได้ต่อสู้กับรีโมทคอนโทรลเท่านั้น แต่ต้องต่อสู้กับไลฟ์สไตล์วัยรุ่นปัจจุบัน ซึ่งมีกิจกรรมและเทคโนโลยีรอบตัวมากขึ้น ขณะที่ตัวรายการจัดเป็นรายการสื่อกระแสรองที่ยากจะเบียดแข่งกับสื่อกระแสหลัก การทำรายการให้น่าสนใจต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

“รายการที่มีเรื่องคนพิการส่วนใหญ่ดูแล้วเศร้า ไม่สบายใจ หดหู่ ยิ่งขอให้บริจาค ให้ความช่วยเหลือด้วย เราดูแล้วรู้สึกผิดที่ช่วยอะไรเขาไม่ได้ เลยปิดไม่อยากรับสื่อพวกนี้ อยากให้รายการสนุก ดูแล้วสบายใจ เหมือนรายการล้อ เล่น โลก ดูแล้วมันยิ้ม รู้สึกเต็ม แล้วไม่ต้องเน้นเรื่องคนพิการมาก แต่ให้เสนอว่า คนรอบข้าง คนใกล้ชิด หรือเด็กวัยรุ่นอย่างเราจะอยู่ร่วมกับคนพิการอย่างไร เป็นรายการที่สื่อเพื่อให้คนข้างๆ คนพิการเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนพิการอย่างมีความสุข”

สร้างสื่อในฝันเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล

เวทีสาธารณะ “สื่ออย่างไรให้สังคมไทยได้เข้าใจคนพิการ” เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการ “สื่อเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษาวิเคราะห์และร่วมพัฒนาต้นแบบสื่อโทรทัศน์อย่างมีส่วนร่วมของกลุ่มนักศึกษาสื่อสารมวลชนวิชาชีพในการนำเสนอเรื่องราวคนพิการ โดยได้เลือกรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคนพิการจำนวน 10 รายการมาทำการวิเคราะห์ได้แก่ รายการตะลุยสิบทิศ รายการสังคมอุดมสุข รายการเคียงบ่าเคียงไหล่ สารคดียิ้สู้ รายการบางอ้อ รายการตีสิบ รายการคน ค้น คน รายการคุณไปไหน ผมไปด้วย รายการ one world และรายการล้อ เล่น โลก โดยจะมีการจัดเวทีดังกล่าวสัญจรไปตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งหลังจากนี้จะไปจัดนิทรรศการและเวทีสาธารณะที่จังหวัดหนองคาย ชลบุรี และปัตตานีตามลำดับ

ที่มา: สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ