สร้างชุมชนน่าอยู่ด้วยพลังชาวบ้าน

ที่มา : เนชั่นสุดสัปดาห์ 


สร้างชุมชนน่าอยู่ด้วยพลังชาวบ้าน thaihealth


เพื่อสร้างการเรียนรู้ และกระตุ้นขบวนการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่น น่าอยู่ โดยน้อมนำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาขับเคลื่อนให้เกิด เป็นรูปธรรม


ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดย สำนักงานสนับสนุนสุขภาวะชุมชนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที สานพลังชุมชนเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2560 ตามรอยพ่อสานต่อปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่น น่าอยู่ ซึ่งมีภาคประชาชน หน่วยงาน ท้องถิ่น มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากการลงมือปฏิบัติจริง


หัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ ธุรกิจเพื่อสังคม เสริมเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง, สวัสดิการสังคมโดยชุมชนเกื้อกูล,  แปรทุนชุมชนสู่สังคมสวัสดิการ,  สร้างพลังงานทดแทน เสริมเศรษฐกิจชุมชน ฯลฯ 


เริ่มจากแนวคิดในการทำกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) เพื่อหารายได้เข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม ซึ่งช่วงแรกมีการจัดสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตายคือ การคลอดบุตร  รับขวัญบุตร ทุนการศึกษา เงินช่วยเหลือกรณีนอนโรงพยาบาล การจัดการศพ เงินช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส คนพิการ


ฐิติพงศ์ ศักดิ์ชัยสมบูรณ์ นายก อบต.ท่างาม จ.สิงห์บุรี เล่าว่า  เมื่อแรกตั้งกองทุนฯ ไม่มีรายได้อื่นๆ นอกจากเงินสมทบจากสามฝ่าย ประกอบด้วย สมาชิก จ่ายเงินสมทบปี 365 บาท, อบต. และรัฐบาลผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จ่ายสมทบอีกรายละ 365  บาท หลังดำเนินงานพบว่าใช้เงินไปเพียงส่วนเดียว แต่เห็นว่าเงินมีโอกาสลดลง หากต่อไป พอช.ไม่ช่วยจ่ายสมทบ จึงคิดหาเงินเพิ่มเข้ากองทุนฯ และสรุปออกมาเป็นกิจการสองประเภท คือ 1.โรงงานผลิตน้ำดื่ม ลงทุน 7.5 แสนบาท 2.ร้านกาแฟสด ราคาขายเริ่มต้นที่ 20 บาท สูงสุด 35 บาท โดยหักกำไร 20 เปอร์เซ็นต์ให้กับคนดูแลร้าน อีก 80 เปอร์เซ็นต์นำเข้ากองทุนสวัสดิการ การทำร้านกาแฟ มีผลพลอยได้คือ ชาวบ้านมีพื้นที่วางขายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของคนในชุมชน


หลักคิดในการทำธุรกิจ คือ ขายสินค้าในราคาที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ และกำไรที่จากผลประกอบการ ผลักเข้าสู่กองทุนฯ เพื่อเป็นทุนสำหรับจัดบริการให้กับสมาชิกm ปัจจุบันมีสมาชิก 1,413 คน คิดเป็น 33 เปอร์เซ็นต์  ของประชากรที่อยู่ในพื้นที่จริง


ส่วนเกษตรกรที่ อบต.คอรุม ต้องการ 'น้ำ' เพื่อใช้หล่อเลี้ยงพืชผล จึงตั้งเป็น 'สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำไฟฟ้าคอรุม' สิริชัย เหรียญทองชัย ประธานสหกรณ์ผู้ใช้น้ำคอรุม อบต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ของสมาชิกอยู่ในเขตกันดาร นอกพื้นที่ชลประทาน แม้จะมีหน่วยงานราชการสำรวจและจัดหาแหล่งน้ำให้ ก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้มีปัญหาต้นทุนในการผลิต


ปี 2542 เกษตรกรบ้านปากคลอง, คลองกล้วย และท่าเดื่อ จึงรวมตัวจดทะเบียนสหกรณ์ ใช้ชื่อว่า 'สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำไฟฟ้าคอรุม' มูลค่าหุ้นละ 100 บาท โดย ธ.ก.ส.  และสหกรณ์จังหวัด ได้ให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต เมื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำได้มากขึ้น และมีการจัดสรรปันส่วนอย่างชัดเจน ทำให้มีน้ำใช้สม่ำเสมอในพื้นที่ทำนา


หลักการคือ สถานีสูบน้ำไฟฟ้าจะสูบน้ำและส่งไปยังพื้นที่ของสมาชิก ซึ่งจัดแบ่งเป็นโซน โดยคิดค่าใช้จ่าย (เป็นค่าไฟฟ้า) ไร่ละ 150 บาท รายได้หลักเริ่มแรกจากการสูบน้ำมาขาย (จริงๆ คือคิดค่าไฟฟ้า) ปัจจุบันมีสมาชิก 1,000 คนเศษ ให้บริการน้ำครอบคลุมพื้นที่ 2,000 หลังคาเรือน


ส่วน 'กลุ่มออมทรัพย์เยาวชนคนดีใหม่ศรีทอง' ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 จากแนวคิดของเยาวชนในตำบลกุดสะเทียน  ที่อยากมีเงินออมไว้เป็นทุนการศึกษา ผ่านไป 1 ปี เงิน ในกองทุนไม่เพิ่ม เพราะสมาชิกเป็นเด็ก ยังไม่ได้ทำงาน ต่อมา พระครูสิรินวการ เจ้าอาวาสวัดใหม่ศรีมงคล  ในฐานะที่ปรึกษา จึงเสนอให้รับผู้ปกครองเข้าเป็นสมาชิก  หุ้นละ 20 บาท ทำให้ยอดเงินเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนประมาณ 2.8 ล้านบาท สมาชิก 274 คน และบริหารงาน โดยเด็กและเยาวชน


ปนัดดา เอราวัณ รองปลัด อบต.กุดสะเทียน อ.ศรีบุญเรือง จ.อำนาจเจริญ กล่าวถึงกลุ่มดังกล่าวว่า  ตอนแรกเป็นการระดมทุนเพราะต้องการทุน ต่อมาได้ขยายเป็นธนาคารความดี และกลุ่ม 'เยาวชนจิตอาสา เทวดาของสังคม' สมาชิกเป็นนักเรียนโรงเรียนมัธยมกุดสะเทียนวิทยาคาร มีครูเป็นพี่เลี้ยง


กลุ่มเยาวชนจิตอาสาฯ มีสมาชิก 30-40 คน เป็นการรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม ถ้าเด็กรู้ว่า มีงานบุญ ลอกคลอง กวาดถนน  ก็จะชักชวนกันไปช่วยทำงาน ส่วน กลุ่มธนาคารความดีมีกิจกรรมคือ นักเรียนมัธยมฯ  รุ่นพี่ จะออกไปสอนให้น้องๆ ทำความดี โดยจดบันทึกในสมุดความดี และให้ผู้ปกครองเซ็นกำกับในการทำกิจกรรมแต่ละครั้ง ตัวอย่างเช่น ช่วยแม่ล้างจาน  ให้แม่เซ็นให้ พอสัปดาห์ต่อมา พี่ๆ  จะเก็บสมุดมาดู หากครบตามเกณฑ์ ที่กำหนดจะได้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ  เช่น ปากกา ดินสอ


ขณะที่พระครูสิรินวการ ก็มีวิธีการจูงใจเด็กๆ ให้รู้จักการทำประโยชน์เพื่อสังคม ตัวอย่างเช่น ในวัดมีศูนย์ไอซีที หากเด็กอยากเล่นเกมจากคอมพิวเตอร์ ก็มีเงื่อนไขว่าก่อนเล่นเกมต้องทำความดีก่อน เช่น เก็บขยะ กวาดลานวัด โดยพระครูฯ จะเดินนำเอง


หากเด็กอยากเรียนภาษาอังกฤษ ก็จะมีพี่ๆ อาสาสมัครหรือลูกศิษย์มาสอนให้ แต่น้องๆ ต้องทำความดีก่อนเช่นกันทั้งหมดนี้เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักการทำประโยชน์เพื่อสังคม แม้เบื้องต้นจะต้องมีรางวัลเป็นสิ่งโน้มน้าวใจ ด้วยการหล่อหลอมของสังคม คนรอบข้าง และผู้ใหญ่ใจดี เชื่อว่าเยาวชนเหล่านี้จะเติบโตเป็นบุคลากรที่ดีของชุมชน และประเทศชาติในที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code