สร้างชีวิต ‘คนไร้บ้าน’ ภารกิจสู่สังคมสุขภาวะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ถ้าจะมีการเอ่ยถึง "คนไร้บ้าน" เรามักนึกถึงภาพคนเนื้อตัว สกปรกมอมแมม นั่ง นอน อยู่ในที่สาธารณะตามท้องถนน หรือสวนสาธารณะ พร้อมๆ ไปกับการเกิดภาพขึ้นในจินตนาการว่า การไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงปลอดภัยเป็นปัญหาเบื้องต้น ที่นำไปสู่ประเด็นปัญหาด้านความปลอดภัย คุณภาพชีวิตและสุขภาพ
แฟ้มภาพ
รศ.ภก.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวไว้ในเวทีสื่อสารสาธารณะฯ ว่า การสำรวจข้อมูลประชากรและ สุขภาพคนไร้บ้านกับการต่อยอดเชิงปฏิบัติการและนโยบาย พบว่า สภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคม และผลจากการพัฒนาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ปัญหาความไม่มั่นคงของ มนุษย์เกิดขึ้นในทุกกลุ่มประชากร ซึ่งการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน ไม่ใช่การสนับสนุนด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยทั้งความเข้าใจ และปัจจัยอื่นๆ ในการแก้ปัญหา ดังนั้นข้อมูลจากการสำรวจจึงมีความสำคัญที่สามารถนำไปสู่การต่อยอดทั้งในเชิงปฏิบัติการ และขับเคลื่อนเป็นนโยบาย เพื่อที่จะให้ คนไร้บ้านสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการประกอบสัมมาอาชีพ และดำเนินชีวิตได้อย่างมีสุขภาวะที่ดีได้
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกองทุน สนับสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. มีภารกิจ ในการส่งเสริม พัฒนาและสนับสนุน ให้คนไทยมีสุขภาพดี โดยทำงานผ่าน "ภาคีเครือข่าย" ในการขับเคลื่อนกระบวนการ สร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะดีทั้ง กาย จิต ปัญญา สังคม โดยประเด็นคนไร้บ้านก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ สสส. ให้ความสำคัญ เช่น ที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับเครือข่ายคน ไร้บ้าน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย บ้านอิ่มใจ กรุงเทพมหานคร และเทศบาลนครขอนแก่น ดำเนินการเรื่องของบัตรประจำตัว ประชาชนให้คนไร้บ้านในพื้นที่เข้าถึงสิทธิพื้นฐาน จนปัจจุบันเป็นพื้นที่ต้นแบบการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน ต่อยอดไปยังพื้นที่ อื่นๆ เช่น จ.เชียงใหม่ เมืองพัทยา และจ.ชลบุรี เป็นต้น
"คนไร้บ้าน เป็นคำที่ใช้เรียกทางกายภาพ เพราะกลุ่ม คนเหล่านี้ไม่มีบ้านอยู่เป็นหลักแหล่ง แต่ในทางนามธรรมคนไร้บ้าน ประสบกับปัญหามากมาย อาทิ ไม่มีอาชีพที่มั่นคง ไม่มีสิทธิ ทั้งการเข้าถึงสุขภาพตลอดจนการศึกษา และไม่มีหน่วยงานที่ดูแลโดยตรง มีเพียงการทำงานที่ต่างมิติกัน หากเราสามารถ รวมมิติการทำงานจากหลายหน่วยงานได้ ก็จะทำให้การทำงานเป็นระบบ และเมื่อรวมกับข้อมูลการสำรวจก็จะเป็นเครื่องมือ ที่จะช่วยให้เกิดการทำงานที่ตรงจุดได้ยิ่งขึ้น" นายแพทย์วีระพันธ์ กล่าวย้ำ
สำหรับ คุณอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าคณะวิจัย โครงการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้าน อธิบายผลจากการวิจัย ว่า คุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน เป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่มีต้นทุนการดำรงชีพสูง ผลสำรวจพบว่า รายได้หลักในปัจจุบันของคนไร้บ้านมาจาก ทำงานรับจ้างทั่วไป มีสัดส่วนสูงที่สุด รองลงมาคือ หาของเก่า ไปขาย และค้าขาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพการทำงานที่มีความเปราะบางไม่แน่นอน และปราศจากสวัสดิการด้านการ ทำงาน
ซึ่งสภาวะความเสี่ยงทางสังคมจากการอยู่อาศัย ก็เป็น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งด้านพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพของ คนไร้บ้าน โดยผลสำรวจพบว่า สัดส่วนของคนไร้บ้านสูบบุหรี่ หรือยาเส้นสูงถึงร้อยละ 55 เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรโดยทั่วไปที่มีเพียงประมาณร้อยละ 21 ส่วนการดื่มสุรา ก็เช่นเดียวกัน พบว่า ประมาณร้อยละ 41 ของคนไร้บ้านรายงานว่า ดื่มสุรา โดยส่วนใหญ่ดื่มสัปดาห์ละ 2-3 วัน ซึ่ง เป็นประเด็นที่น่าศึกษาต่อไปว่าอะไรเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพดังกล่าว
นอกจากนี้ เรื่องของการเข้ารับบริการสุขภาพของคนไร้บ้าน พบว่า คนไร้บ้านประมาณร้อยละ 31 มีโรค ประจำตัวที่ต้องรักษาโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง โดยเกือบทั้งหมดเป็นโรคจากพฤติกรรม หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ เป็นต้น และเมื่อจำเป็นต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รองลงมา คือ จ่ายด้วยตนเอง โดยมีเพียงบางส่วนจ่ายผ่านระบบสังคมสงเคราะห์ ซึ่งผลสำรวจแสดงให้ชัดเจนว่า ปัญหาของคนไร้บ้านที่หลากหลายในทุกมิติ ที่จำเป็นที่คนในสังคม ควรหยิบยื่นโอกาสของการให้ความช่วยเหลือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น