สร้างคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง คืนคนดีสู่สังคม
“ยธ.-มหิดล-สสส.” เดินหน้าเสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง คืนคนดีสู่สังคม นำร่อง 6 พื้นที่ทั่วไทย ชูเรือนจำกลางขอนแก่น ต้นแบบสร้างคุณค่าจากภายใน 5 มิติ เป็นแรงบันดาลใจเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ เรือนจำกลางขอนแก่น ในกิจกรรม “จากใจสู่ใจ คุณค่า ความสุข และพลังภายในที่แท้จริง” ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สภาพปัญหาสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของยาเสพติด ส่งผลต่อจำนวนผู้กระทำผิดในกระบวนการกระทรวงยุติธรรมเพิ่มมากขึ้นจนเป็นวิกฤติ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการดูแล และปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิด รวมถึงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพอนามัย การเตรียมตัวกลับสู่สังคม สสส. และกระทรวงยุติธรรม ได้บันทึกข้อตกลงขับเคลื่อนงานเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้กระทำความผิดและการปรับทัศนคติของชุมชนและบุคคลรอบข้างเพื่อส่งมอบคนดีกลับคืนสู่สังคม ดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ 25 เม.ย. 2557–24 เม.ย. 2560 สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง ยึดหลักว่า “การถูกส่งมาอยู่ในเรือนจำคือการลงโทษ แต่มิได้ถูกส่งมาเพื่อถูกลงโทษในเรือนจำ”
“เรือนจำต้องเป็นพื้นที่ดูแล ให้กำลังใจ ทำทุกวิถีทางให้ผู้ต้องขังใช้เวลาในเรือนจำอย่างมีคุณค่า ไม่ถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1.ปฏิรูปเรือนจำ: สร้างชุมชนแห่งความห่วงใยเพื่อพัฒนาชีวิตผู้ต้องขังหญิง 2.คืนชีวิตให้ชีวิต และ 3.จากใจสู่ใจ: คุณค่า ความสุข และพลังภายในที่แท้จริง พร้อมพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ 6 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางขอนแก่น เรือนจำกลางเชียงใหม่ เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา เรือนจำกลางราชบุรี เรือนจำกลางอุดรธานี และทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี โดยมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เป็นธรรมยิ่งขึ้นต่อผู้ต้องขังหญิง” ดร.ประกาศิต กล่าว
รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาโครงการจากใจสู่ใจฯ กล่าวว่า โครงการฯ ที่เรือนจำกลางขอนแก่น ดำเนินการระหว่าง ก.ย. 2556–พ.ค. 2557 มีผู้เข้าร่วม 30 คน พบผลลัพธ์ 5 มิติ ได้แก่ 1.รู้จักตนเองและพลังจากภายใน ผู้เข้าร่วมกลับมาดูและสังเกตตนเอง เกิดความมั่นใจ และเห็นคุณค่าตนเองมากขึ้น 2.เจริญสติ ผู้เข้าร่วมออกจากความคิดที่เป็นทุกข์ จิตใจที่เศร้าหมอง ปล่อยวาง ปรับเปลี่ยนตนเองไปในทางที่ดีขึ้น 3.สื่อสาร สนทนา และสัมพันธภาพ ทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดี เข้าใจกันและกัน 4.เขียนบันทึกสะท้อนความรู้สึกส่วนตัว กลับมาใคร่ครวญในตนเองได้ลึกซึ้ง และเป็นทางออกในการระบายความทุกข์ในใจ และ 5.โครงสร้างสังคมและความเป็นสตรีเพศ เห็นถึงอิทธิพลของกรอบสังคมต่อชีวิต บางคนเข้าถึงต้นเหตุและเชื่อมโยงอิทธิพลของกรอบเรื่องเพศในครอบครัวกับปัญหาความสัมพันธ์กับชีวิตคู่ได้ชัดเจนขึ้น เกิดแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ก้าวข้ามความโกรธต่อคนในครอบครัวไปสู่ความรัก ความเมตตา และให้อภัย
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข