สรุปความคืบหน้าและก้าวต่อไปของการขับเคลื่อน ‘ประชารัฐ E6’
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน www.thaihealth.or.th
‘ประชารัฐ’ คือ ความร่วมมือร่วมใจจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันสานพลังปิดช่องโหว่ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ สู่การพัฒนาสังคมไทย
เมื่อไม่นานมานี้ คณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม (E6) ได้จัดการประชุมสรุปผลงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อการพัฒนาสังคมไทย ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2559 ถึง 30 พฤศจิกายน 2561 โดยให้มีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข 5 ด้าน ได้แก่ 1.การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้พิการ 2.การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ 3.การออมเพื่อการเกษียณอายุ 4.ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย และ 5.ความปลอดภัยทางถนน โดยมีหัวหน้าทีมภาครัฐ หัวหน้าทีมภาคเอกชน หัวหน้าทีมภาคประชาสังคม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังการสรุปผลงาน ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะประธานการประชุมสรุปผลงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อการพัฒนาสังคมไทย กล่าวว่า จากระยะ 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า ภาคเอกชนจะมีบทบาทจากการที่บริษัทริเริ่มทำด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่จะเป็นการขับเคลื่อนงานแบบ CSR และการบูรณาการการทำงานเพื่อสังคมที่สอดคล้องกับประเด็นที่ต้องการแก้ไข ยกตัวอย่างเช่น ด้านการส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุและผู้พิการ กรมกิจการผู้สูงอายุได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุและคนพิการได้เข้าทำงานในสถานีบริการน้ำมัน ในร้านสะดวกซื้อ SPAR และรับสินค้ามาขายในร้านนอกจากนี้ยังได้ประสานความร่วมมือกับชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในการเตรียมคามพร้อมรับต่อการค้าขายออนไลน์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีคุณสมบัติเข้าทำงานในโครงการ ‘พี่ใหญ่ ไฟแรง’ เป็นต้น
สำหรับ ด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชน เช่น โฮมโปร เอสซีจี จัดตั้งโครงการพัฒนานวัตกรรมสภาพแวดล้อมสังคมสูงวัย หรือ Universal Design Center (UDC) 5 ศูนย์ทุกภูมิภาค เพื่อตั้งเป็นศูนย์รวบรวมองค์ความรู้ นวัตกรรม ให้คำปรึกษา คำแนะนำ จัดอบรมและเป็นธนาคารอุปกรณ์รวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ ในการจัดบ้านจำลองที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก คนพิการ หรือผู้สูงอายุ
“จากการขับเคลื่อนงานทั้ง 5 ด้าน จะเห็นว่าการส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุและผู้พิการเป็นสิ่งที่บรรลุเป้าหมายได้มากที่สุด ภายในปี 2560 สามารถส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุได้ถึง 41,950 คน และในปี 2561 สามารถส่งเสริมการมีงานทำได้ถึง 22,685 คน และคณะทำงานย่อยยังร่วมพิจารณาความเหมาะสมมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ และจะผลักดันให้เกิดการกำหนดอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุเป็นรายชั่วโมงในสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้อีกด้วย ส่วนแนวทางการทำงานในระยะต่อไปคือ 1) สร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง ทั้งความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว 2) สร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Impact Finance ในรูปแบบกองทุนที่เชิญชวนให้คนสนใจทำงานจิตอาสาเพื่อสังคมมากขึ้น และ 3) การสร้างสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว คือมีจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมากกว่าอัตราการเกิด ดังนั้นจึงต้องเตรียมพร้อมในด้านการรับมือ การดูแล และสร้างคุณภาพ” พล.อ.อนันตพร เผย
ด้านหัวหน้าทีมภาคประชาสังคม อย่าง ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญของการขับเคลื่อนงานในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความร่วมมืออย่างเหนียวแน่นกับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนในหลายๆ มิติ ซึ่งจุดแข็งของภาคเอกชนคือความสามารถในการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยม เมื่อ 3 ฝ่ายประสานความร่วมมือร่วมกันแล้วทำให้ทะลุทะลวงปัญหาสำคัญๆ ได้ดีเยี่ยม อย่างเช่นเรื่องการจ้างงานผู้พิการ สามารถนำร่องผลักดันให้เกิดการจ้างงานได้จริง ไม่ใช่เพียงการส่งเงินเข้ากองทุน ทำให้ผู้พิการร่วมหมื่นคนได้รับการจ้างงานเพิ่มขึ้น เปรียบเป็นมูลค่ากว่าหลายพันล้านบาท
“สสส. ตั้งขึ้นมาด้วยการสร้างสุขภาวะให้เพิ่มขึ้นและลดทุกขภาวะในส่วนที่รัฐไม่สามารถทำได้ เราประสานงานกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี สำหรับแนวทางการเคลื่อนงานในระยะต่อไปที่ท่าน พล.อ.อนันตพร ได้เสนอมานั้น สสส. ได้ดำเนินการอยู่แล้ว และพร้อมที่จะเป็นแกนกลางในการประสานความรู้และความร่วมมือใหม่ๆ เช่น โครงการธนาคารเวลา ที่เปิดรับจิตอาสามาดูแลอภิบาลผู้สูงอายุ โดยเมื่อในอนาคตผู้อภิบาลต้องการความดูแลก็สามารถเบิกถอนเวลาและมีผู้อภิบาลรุ่นใหม่มาดูแล เป็นต้น” ผู้จัดการกองทุน สสส. ทิ้งท้าย
ขณะที่ ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวรายงานความคืบหน้าด้านการออมเพื่อการเกษียณอายุว่า ได้จัดทำโครงการเงินทองต้องวางแผน Happy Money Happy Retirement ให้เข้าถึงในวงกว้างกว่า 4 ล้านคน โดยร่วมกับเครือข่ายกว่า 30 แห่ง เผยแพร่ความรู้ผ่าน 326 องค์กร จัดทำคลังความรู้ทั้งอินโฟกราฟิก คลิปความรู้ เอกสารเผยแพร่ จัดสัมมนาออนไลน์ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น ร่วมมือกับ สสส. พัฒนาองค์ความรู้และอบรมเครือข่ายประสังคมเกิดเป็นชุมชนต้นแบบ Happy Money ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุเผยแพร่ชุดสื่อความรู้แก่ 878 โรงเรียน รวมถึงประสานความร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย สภากาชาดไทย ชมรม CSR สมาคมธนาคารไทย และมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมพัฒนาสื่อความรู้และจัดอบรมให้แก่กลุ่มผู้พิการให้มีความรู้และสร้างวินัยการออม
ส่วนด้านความปลอดภัยทางถนน นายปรีชา โภคะธนวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวสรุปผลงานว่า ที่ผ่านมาได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือกับ 8 หน่วยงานหลักในกิจกรรม ‘ประชารัฐร่วมใจ…ปลอดภัยทุกเส้นทาง’ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน โดยที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุ ‘ถนนคนดี ประชารัฐร่วมใจ’ จ.ชลบุรี และขยายผลไปยัง 5 จังหวัด รวมไปถึงจัดทำสื่อโฆษณา ชุด ‘ความหวังดี’ จัดแคมเปญ ‘3 ดี 20 ไม่ : ปลอดภัยถึงบ้าน’ โดยมีองค์กรเครือข่ายร่วมสนับสนุนสร้างมาตรการเพื่อความปลอดภัยทางถนนกว่า 500 องค์กร ผ่านเครือข่าย สสส. และ สอจร. เช่น โครงการถนนสีขาว สังคมหัวแข็ง เมาไม่ขับ และ ขับดีมีสุข ซึ่งทำให้ในพื้นที่ EEC (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) มีสถิติการเสียชีวิตในพื้นที่ลดลงถึง 8%
เห็นได้ว่า แม้ปัญหาที่มีอยู่จะยิ่งใหญ่สักเพียงไหน แต่หากได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วนก็สามารถผนึกกำลังเป็นกลุ่มก้อนที่ยิ่งใหญ่ พร้อมที่จะทุบปัญหาทีมีอยู่ให้ค่อยๆ ทลายลงได้ในที่สุด