สธ.เผย!!แม้ไทยไม่พบโรคโปลิโอมาแล้วกว่า 14 ปี แต่อยู่ในสถานะเสี่ยง

 

สธ.เผย!!แม้ไทยไม่พบโรคโปลิโอมาแล้วกว่า 14 ปี แต่อยู่ในสถานะเสี่ยง

 

สธ.เผย!!แม้ไทยไม่พบโรคโปลิโอมาแล้วกว่า 14 ปี แต่อยู่ในสถานะเสี่ยงเพราะพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านและปัญหาเด็กต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองเร่งหยอดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง-เตรียมพร้อมสกัดให้ไทยปลอดโปลิโออย่างถาวร

เผยปัญหาเด็กต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง การกลับมาระบาดใหม่ของโรคโปลิโอในประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชีย การเดินทางที่สะดวกทำให้ไทยเสี่ยงต่อการระบาดของโรคโปลิโอได้ ผู้ป่วย“โรคโปลิโอ”จะเสี่ยงสูงต่อการเป็นอัมพาตและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต สธ.เร่งหยอดวัคซีนโปลิโอในเด็กกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ 1.3 ล้านคน ควบคู่กับการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยต้องสงสัยที่มีเชื้อโปลิโออยู่ในลำไส้ ที่อาจแฝงมากับผู้ป่วยอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลัน เพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรคและรักษาพื้นที่ทั่วไทยให้ปลอดโรคโปลิโออย่างถาวร

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงสถานการณ์โรคโปลิโอในประเทศไทยว่า ถึงแม้ไทยจะสามารถกวาดล้างโรคโปลิโอได้เป็นผลสำเร็จและปลอดจากโรคโปลิโอมากว่า 14 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังมีความจำเป็นต้องรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากมีเด็กต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองซึ่งจะมีการย้ายที่อยู่บ่อย จึงทำให้ได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน รวมทั้งมีรายงานพบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชีย ด้วยการเดินทางไปมาระหว่างประเทศที่สะดวกและเป็นไปได้ง่ายจึงเกรงว่าเชื้อโปลิโอจะมีโอกาสแพร่เข้ามาในประเทศไทยได้ เพื่อคุ้มครองสุขภาพคนไทยและรักษาพื้นที่ทั่วไทยให้ปลอดโรคโปลิโออย่างถาวร กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอทั้งหมด 3.2 ล้านโด๊ส เพื่อหยอดให้ฟรี!! แก่เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีและเด็กต่างด้าวอายุต่ำกว่า 15 ปี ครอบคลุมพื้นที่ 36 จังหวัด 151 อำเภอ ตั้งเป้าให้เด็ก 1.3 ล้านคนได้รับการหยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งการให้บริการจะมี 2 รอบ รอบแรกให้บริการไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 ส่วนรอบที่ 2 จะให้บริการวันที่ 18 มกราคม 2555 ยกเว้น 5 จังหวัดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงการหยอดวัคซีนครั้งที่1 ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ลพบุรี และกทม. ให้เลื่อนกำหนดการหยอดวัคซีนครั้งที่ 1 เป็นวันที่ 18 มกราคม 2555 และครั้งที่ 2 เป็นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 ทั้งนี้พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องนำบุตรหลานที่อายุครบเกณฑ์เข้ารับวัคซีนให้ครบ ตามกำหนดดังกล่าวทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน เนื่องจากการให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอเป็นการสร้างภูมิต้านทานตั้งแต่เด็กและเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด ช่วยให้เด็กทุกคนห่างไกลจากโรคโปลิโอได้อย่างถาวร สำหรับเด็กที่เคยหยอดมาแล้วสามารถหยอดซ้ำอีกได้โดยไม่เป็นอันตราย

ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า“โรคโปลิโอ”หรือ “โรคไข้ไขสันหลังอักเสบ”เป็นโรคที่เกิดได้ในคนทุกกลุ่มอายุ โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทานหรือมีแต่ไม่สูงมากพอ ถึงแม้ไทยพบผู้ป่วยรายสุดท้ายเมื่อพ.ศ.2540และปัจจุบันจะไม่มีผู้ป่วยโรคโปลิโอแล้วก็ตาม แต่ที่ผ่านมาข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาของสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรคมีรายงานว่าระบบเฝ้าระวัง “ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลัน” ซึ่งเป็นอาการทางคลินิกของโรคโปลิโอ ยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ในขณะที่มีการพบผู้ป่วยโรคโปลิโอมากขึ้นในประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย พม่า เนปาล บังคลาเทศ โดยล่าสุดปี 2553 พบโรคโปลิโอเกิดการระบาดขึ้นใหม่ในประเทศทาจิกิสถาน โรคนี้อาจแพร่เข้ามาในประเทศไทยจากผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ปัญหาเด็กต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองซึ่งได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วนเพราะย้ายที่อยู่บ่อย เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโปลิโอได้

ผู้ที่เป็น“โรคโปลิโอ”จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นอัมพาตที่มีอาการรุนแรง และมีผลต่อการดำเนินชีวิตในระยะยาว โดยเชื้อจะออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ และติดที่มือหรือปนเปื้อนในอาหาร ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้ จะมีผู้ติดเชื้อประมาณร้อยละ 5-10 ที่แสดงอาการป่วยให้เห็น คือ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มีอาการตึงกล้ามเนื้อที่คอด้านหลัง ลำตัวและขา ผู้ที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการอัมพาตของแขนหรือขา บางรายอาจรุนแรงมากจนกล้ามเนื้อกระบังลมที่ช่วยในการหายใจเป็นอัมพาตและทำให้เสียชีวิตได้

นอกจากการเร่งรัดให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีและเด็กต่างด้าวที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ไปรับวัคซีนโปลิโอกันอย่างครอบคลุมและทั่วถึงแล้ว“การเฝ้าระวังผู้ป่วยอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลัน”acute flaccid paralysis (afp) ในกลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ยังเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่กรมควบคุมโรคได้นำมาใช้ดำเนินการควบคู่กันไป เพื่อเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโปลิโอที่มีเชื้อโปลิโออยู่ในลำไส้ ที่อาจจะแอบแฝงมากับผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลัน ซึ่งจะช่วยให้การสอบสวนการควบคุมโรคเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโปลิโอทำได้อย่างรวดเร็ว

ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า โรคโปลิโอเป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งการรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอในปี 2554 นี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ทั้งเด็กไทยและเด็กต่างด้าวได้รับวัคซีนโปลิโอกันอย่างครบถ้วนและทั่วถึง โดยจะเน้นพื้นที่เสี่ยง ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. จังหวัดที่มีความยากลำบากในการให้วัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มโรคในระบบปกติหรือมีการเคลื่อนย้ายประชากรสูง ได้แก่ จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร 2.อำเภอที่ติดชายแดนพม่า 3. อำเภอที่มีชุมชนชาวพม่าขนาดใหญ่ 4.อำเภอที่มีรายงานการเกิดโรคคอตีบ หรือ หัด โดยพิจารณาผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี รายอำเภอใช้ข้อมูล 3 ปีย้อนหลัง( พ.ศ.2551–2553 )ถ้าพบผู้ป่วยคอตีบตั้งแต่ 1 รายขึ้นไปหรือผู้ป่วยหัดตั้งแต่10 รายขึ้นไป

การได้รับวัคซีนตามที่กำหนดนอกจากจะช่วยให้หลีกไกลและหยุดยั้งโรคโปลิโอได้แล้ว ควรใส่ใจในการดูแลสุขภาพด้วย โดยเน้นสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง รับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด ถ่ายอุจจาระลงส้วมทุกครั้ง ล้างมือภายหลังจากการถ่ายอุจจาระทุกครั้ง จะสามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคโปลิโอได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มีการแพร่กระจายของเชื้อเข้ามาจากภายนอกซึ่งหลาย ๆ ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

 

 

ที่มา : สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code