สธ.เปิดตัวสัญลักษณ์ ขนมลดน้ำตาล

รวมไขมัน และโซเดียม 25 เปอร์เซ็นต์

 

สธ.เปิดตัวสัญลักษณ์ ขนมลดน้ำตาล         

          กระทรวงสาธารณสุข โดยนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการ เปิดตัวสัญลักษณ์ “รับรองอาหารลดน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม 25 เปอร์เซ็นต์”

 

          หลังจากองค์การอนามัยโลกรายงานว่าปี 2549 เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก 22 ล้านคน มีน้ำหนักเกิน และในประเทศไทยก็พบเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลการสำรวจสุขภาพเด็กไทยระดับประเทศ 2 ครั้ง ในช่วงเวลาห่างกัน 5 ปี พบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ อ้วนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 และผลการสำรวจเด็กนักเรียนอนุบาล และประถมศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยปี 2544, 2545 และ 2546 พบเด็กมีภาวะโภชนาการเกิน ร้อยละ 12.3, 12.8 และ 13.4 ตามลำดับ โดยบางโรงเรียนในภาคกลางมีเด็กอ้วนถึงร้อยละ 25

 

          เด็กเหล่านี้ใช้เงินซื้อขนมกรุบกรอบเฉลี่ย 26 บาทต่อคนต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายที่ได้รับต่อวันหรือคนละ 9,800 บาทต่อปี

 

          กรมอนามัยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และแกนนำบริษัทผลิตอาหาร 6 บริษัท คือบริษัท วาไรตี้ ฟูดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทโรงงาน แม่รวย จำกัด (โก๋แก่) บริษัทเวิร์ลฟูดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทอุตสาหกรรม ส.ขอนแก่น จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทอัลฟ่า เจ จำกัด (ฟ้าสาธุ,ซองเดอร์) ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ลงร้อยละ 25

 

          และเพื่อให้ขนมที่ผลิตใหม่เหล่านี้แตกต่างจากขนมชนิดเดิม จึงกำหนดตราสัญลักษณ์อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม 4 แบบ โดยใช้วงกลมสีแดงและตัวหนังสือสีฟ้า ตามชนิดของการลด คือ 1.อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม 2.อาหารลดน้ำตาล ไขมัน 3.อาหารลดน้ำตาล โซเดียม  และ 4.อาหารลดไขมัน โซเดียม โดยต้องมีข้อความ “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ”

 

          แผนงานโภชนาการเชิงรุกนี้ได้ร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการทดลองกว่า 2 ปี เรื่องการลดน้ำตาล โซเดียม ไขมัน ในขนมเด็กลงร้อยละ 25 พบว่า ยังมีความเป็นไปได้ในเชิงการตลาด เพราะเด็กยังนิยมบริโภคและไม่กระทบต่อกระบวนการผลิต การติดสัญลักษณ์ไว้บนผลิตภัณฑ์ จึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณการบริโภคของเด็กลง

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update:24-04-52

Shares:
QR Code :
QR Code