สธ.เตือนเลี่ยงกินหมูดิบลดเสี่ยงโรคหูดับ

อสม.ให้ความรู้ชาวบ้านเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน

 สธ.เตือนเลี่ยงกินหมูดิบลดเสี่ยงโรคหูดับ

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เน้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม. ในภาคเหนือ ให้ความรู้ชาวบ้าน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินลาบหลู้หมูดิบ โดยเฉพาะในวงเหล้า ให้ปรุงสุกทุกครั้งก่อนรับประทาน เพราะหากติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 20-30 และหากรักษาช้า จะมีโอกาสหูหนวกสูงถึงร้อยละ 50-80

 

          นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดรณรงค์ อสม.จอมทองรวมใจต้านภัย โรคไข้หูดับ ไข้เลือดออกและโรคอ้วน มีอสม.ในอ.จอมทองร่วมงานกว่า 1,000 คน และมอบประกาศเกียรติคุณดีเด่นให้อสม. ที่ปฏิบัติงานครบ 20,30 ปี และมีผลงานดีเด่น 10 สาขา ซึ่งจัดที่สนามที่ว่าการอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่เมื่อเช้าวันนี้(28 ก.ค.2551)ว่า ขณะนี้พบโรคไข้หูดับในภาคเหนือบ่อยขึ้น เนื่องจากบางกลุ่ม ยังนิยมกินลาบ หลู้ หมูดิบๆ มักกินกับแกล้มในวงเหล้า ในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 30 มิถุนายน พบผู้ป่วย 51 ราย เสียชีวิต 2 ราย ในจำนวนนี้อยู่ใน อ.จอมทอง 43 ราย เสียชีวิต 1 ราย หูหนวก 4 ราย ตลอดปีที่ผ่านมาทั่วประเทศพบผู้ป่วย 150 ราย เสียชีวิต 23 ราย ร้อยละ 99 อยู่ในภาคเหนือ โรคนี้มีอันตรายมาก เชื้อจะทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ บางรายอาจทำให้เยื่อบุหัวใจ ปอด เกิดการอักเสบ มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 20-30 และยังทำให้หูหนวกถาวรพบได้ร้อยละ 50-80

 

          นายวิชาญ กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพคนไทยขณะนี้ ปัญหาใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการกินสุกๆดิบๆ กินอาหารที่มีไขมันสูง เค็มจัด หวานจัด หรือกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย ได้มีนโยบายแก้ไขปัญหา ให้ทุกจังหวัดรณรงค์ประชาสัมพันธ์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน เลิกกินอาหารดิบๆสุกๆ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่อาจการกินสุกๆดิบๆตามผู้ปกครอง ให้หันมาบริโภคอาหารปรุงให้สุกทุกครั้ง ให้อสม. ช่วยกันเตือนประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลงานบุญ งานศพหรืองานสังสรรค์ ต้องปรุงให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง และรณรงค์ประชาชนลดการกินอาหารรสหวาน เค็ม มันให้น้อยลง และกินผักผลไม้ให้มากขึ้น

 

          ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ สเตรปโตคอคคัส ซุอิส (streptococcus suis) เชื้อจะอยู่ในโพรงจมูกและในช่องปากของหมูโดยไม่แสดงอาการ แต่จะแพร่เชื้อมาสู่คน โดยการกินหมูดิบๆทั้งเนื้อ เครื่องใน เลือดหรือสัมผัสหมูที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้เลี้ยง ผู้ชำแหละ หลังได้รับเชื้อ 1-3 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน บางรายอาการโคม่า ชักกระตุก เป็นอัมพาต บางรายอาจมีอาการอักเสบที่เยื่อบุหัวใจ ปอด สายตาพร่ามัว หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะหลังกินหมูดิบใน 3 วัน ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน และต้องแจ้งแพทย์ว่ากินหมูดิบมา หากพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและหูหนวก ตาบอดได้ วิธีป้องกันโรคไข้หูดับที่ดีที่สุดคือ กินหมูสุกเท่านั้น ไม่กินดิบๆสุกๆ คนที่สัมผัสจะต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันคือ สวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบู้ท ล้างมือหลังสัมผัสหมูทุกครั้ง

 

          ทางด้านนายแพทย์วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โรคไข้หูดับ ไข้เลือดออกและโรคอ้วน เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของอ.จอมทอง โดยพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 43 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 32 ราย และพบผู้มีรอบเอวเกินมาตรฐาน 120 คน ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจตามมาได้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอจอมทอง ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชน ทางวิทยุชุมชนอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในส่วนของโรคไข้หูดับได้ร่วมกับปศุสัตว์ องค์การปกครองส่วนตำบลจอมทอง ดูแลเขียงหมูในตลาดสดและโรงฆ่าสัตว์ให้ได้มาตรฐาน ควบคุมการจำหน่ายและชำแหละหมู เพื่อป้องกันโรค

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักสารนิเทศ

 

 

update: 28-07-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code