สธ. เตรียมพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุไทย

จับมือองค์กรท้องถิ่น ดูแลคนชราในชุมชน

 

 สธ. เตรียมพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุไทย

          สาธารณสุข เตรียมพร้อมมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทย  เผยขณะนี้ไทยมีผู้สูงอายุกว่า 7 ล้านคน โดยจัดช่องบริการทางด่วนเฉพาะในโรงพยาบาล ขยายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และจัดบริการดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังถึงบ้าน เน้นความร่วมมือสถานีอนามัย อบต. และ อสม.เป็นด่านหน้าช่วยดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

 

          นายวิทยา แก้วภราดัย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักวิชาการ จากสถานีอนามัย โรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประมาณ 500 คน ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการบริการปฐมภูมิ ภาคีร่วมพัฒนาระบบดูแลผู้สูงวัย

 

          จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย และองค์กรภาคีเครือข่าย ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. ว่า

 

          ขณะนี้ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากคนไทยอายุยืนยาวขึ้น เฉลี่ย 71.7 ปี  โดยผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดในปี 2550 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10.7 ของประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน  คาดว่าในปี 2568 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20

 

          ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 80 มีโรคประจำตัว ที่พบมากที่สุดคือโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน  โรคหัวใจ  อัมพฤกษ์อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองตีบ ถุงลมปอดโป่งพอง ต้อกระจก และอีกส่วนหนึ่งเป็นโรคเรื้อรังหลายโรคร่วมกัน ทำให้เกิดความพิการ  ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่นดูแลประมาณร้อยละ 7

 

          จากการประเมินการใช้บริการสาธารณสุข เมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและโรคประจำตัว ในปี 2549 พบว่า ร้อยละ 40 จะไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน รองลงมาที่โรงพยาบาลศูนย์ร้อยละ 17 และสถานีอนามัยร้อยละ 15 ในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

 

          กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกระดับ รวม 880 แห่งทั่วประเทศ จัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ผู้สูงอายุได้รับบริการอย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยจัดช่องทางพิเศษเป็นทางด่วนสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ รักษาฟรี

 

          และจัดคลินิกผู้สูงอายุ ให้บริการตรวจสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคเรื้อรังและโรคจากความเสื่อมสภาพของร่างกาย รวมทั้งสนับสนุนผู้สูงอายุให้รวมตัวกันเป็นชมรมทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ

 

          นอกจากนี้ จะพัฒนาให้สถานีอนามัย ซึ่งเป็นหน่วยบริการสุขภาพที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดและมีมากที่สุด กระจายอยู่ทุกตำบลจำนวน 9,762 แห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เพื่อให้การดูแลรักษาโรคเรื้อรัง การฟื้นฟูสภาพ และออกเยี่ยมบ้านดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้สูงอายุรับบริการสะดวก ใกล้บ้าน ลดความแออัดของโรงพยาบาล

 

          ทั้งนี้ ในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนต่างๆ จะอบรมเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ อสม. 830,000 คนทั่วประเทศ ให้มีความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นด่านหน้าช่วยดูแลสุขภาพทั้งผู้สูงอายุและครอบครัวอย่างใกล้ชิดถึงบ้าน

 

          และจะจัดบริการดูแลสุขภาพที่บ้าน หรือ โฮม เฮลท์ แคร์ (home health care) มีทีมแพทย์ พยาบาลไปให้การรักษาดูแล ฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรัง แก้ไขปัญหาทั้งร่างกายและจิตใจควบคู่กัน จะทำให้ผู้สูงอายุทุกคนได้รับการดูแลอย่างอบอุ่นที่บ้าน

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

update 22-01-42

Shares:
QR Code :
QR Code