สธ.ห่วงคนไทยใช้ ‘ยา’ เกินจำเป็น
เตือน!! ไม่จำเป็นต้องแพง-เหมาะสมโรค
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการจัดสัมมนาเรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2551 เพื่อมุ่งให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสม ลดการใช้จ่ายยาที่ไม่จำเป็น เกิดการใช้ยาที่สมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาราคาแพง และทราบแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับยาโดยเฉพาะยาบัญชี จ ข้อย่อย 2 จากข้อมูลในปี 2548 พบคนไทยมีการใช้จ่ายยา 186,331 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.8 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด
ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วพบมีสัดส่วนการใช้ยาเพียง 10 – 20% ที่น่าเป็นห่วง คือ ในช่วงเศรษฐกิจพบ ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาค่ายาในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่ม 15 – 20% และล่าสุดในปี 2551 มีมูลค่าสูง 55,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,423 ล้านบาท
สำหรับประชาชนที่มีตู้ยาภายในบ้านควรหมั่นตรวจสอบยาว่าหมดอายุหรือไม่ และเมื่อหมดอายุควรนำไปทิ้ง ไม่ควรเก็บไว้รับประทาน เพราะแทนที่จะเกิดประโยชน์กลับจะเกิดโทษแทนจากการที่ยาเสื่อมสภาพ และยาที่ได้รับจากแพทย์สั่งนั้นล้วนมีอายุการใช้งาน ส่วนใหญ่แพทย์จะสั่งตามลักษณะอาการให้เกิดความเหมาะสม ไม่สั่งยามาเกินจำเป็น หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อไม่ให้เกิดการดื้อยา และหากยาเหลือก็ไม่ควรเก็บรักษานาน การซื้อยาก็เช่นกันควรคำนึงถึงความเหมาะสม
นายวิทยา ยังกล่าวแสดงความห่วงเรื่องปัญหายาเสพติด ที่พบกลับมาแพร่ระบาดมากขึ้น ส่วนหนึ่งยอมรับว่าเรื่องการทำความเข้าใจกับผู้เสพยาให้หันมาสมัครบำบัดรักษาไม่ได้ผลเพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นการบังคับเลิก และนำตัวมารับการรักษาหลังการถูกจับกุม ทั้งจากตัวเลขการติดยาเสพติดพบว่ามีอายุต่ำลง โดยพบว่าเด็กเพียงอายุ 13 ปีเริ่มมีการริลองยาเสพติดแล้ว จากเดิมพบในวัยรุ่นอายุ 15 ปี
ทั้งนี้เกณฑ์อายุช่วงดังกล่าว เป็นช่วงอายุของการพัฒนาร่างกายและสติปัญญา ควรได้รับแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่กลับไปใช้ยาเสพติดแทน ซึ่งเรื่องนี้จะมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดูแล เพราะปัจจุบันนี้พบว่ามีการแพร่ขยายการลักลอบการจำหน่ายยาเสพติดทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้เกิดการเข้าถึงยาเสพติดง่ายขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
update 18-03-52