สธ.สั่งตรวจคลินิกลูกข่ายทั่วประเทศ
หลังกรณีถูกร้องทำเด็กตาย
“ชวรัตน์” สั่งสอบคลีนิคเปรมประชาการแพทย์ มาตรฐานสถานพยาบาล-หมอประจำ-การรักษา หลังพ่อแม่บุกร้องวินิจฉัยโรคบุตรชายวัยขวบเศษผิดพลาด-ไม่ทำใบส่งตัว รพ.จนลูกเสียชีวิต พร้อมกำชับ”สปสช.”ตรวจสอบคุณภาพคลีนิคลูกข่าย 252 แห่งทั่วประเทศ
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำคณะประกอบด้วย นพ.ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (รองเลขาธิการ สปสช.) นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสาขาเขตพื้นที่ กทม. ตรวจสอบคลีนิคเปรมประชาการแพทย์ เลขที่ 145/15 ซอยวิภาวดีรังสิต 33 แยก 1 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กทม. เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 สิงหาคม ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์นายกิตตินันท์ อินาวัง อายุ 52 ปี นางสุรีย์ แก้วทิพย์ชัย อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 221/45 หมู่ 1 แขวงตลาดบางเขน เขตบางเขน กทม. อุ้มศพ ด.ช.ทวินันท์ อินาวัง หรือน้องโฟร์โมสต์ อายุ 1 ขวบ 8 เดือน บุตรชายเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อสื่อมวลชน พร้อมกล่าวหาแพทย์ประจำคลีนิคเปรมประชาการแพทย์ วินิจฉัยอาการของ ด.ช.ทวินันท์ผิดพลาด ระบุป่วยเป็นไข้หวัด ตัวร้อน ไอ หายใจติดขัด โดยให้กินยาและนอนพักที่บ้าน และไม่ยินยอมทำหนังสือส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) ภูมิพลอดุลยเดช ตามที่เด็กมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งๆ ที่พ่อแม่เด็กร้องขอไปแล้วถึง 2 ครั้ง กระทั่งเวลา 22.00 น. เด็กหายใจไม่ออก ดิ้นทุรนทุราย พ่อแม่จึงตัดสินใจส่งเด็กไปรักษาต่อที่ห้องไอซียู รพ.ภูมิพลฯ และเด็กเสียชีวิตเวลาประมาณ 02.00 น. วันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่าปอดบวมและติดเชื้อ
ทั้งนี้ นายชวรัตน์ได้มอบเงินสดส่วนตัวจำนวน 10,000 บาท เพื่อช่วยเหลือครอบครัว ด.ช.ทวินันท์ พร้อมเปิดเผยว่า สั่งการให้ตรวจสอบคลีนิคเปรมประชาการแพทย์ 4 เรื่อง คือ 1.ข้อเท็จจริงในการรักษาพยาบาลผู้เสียชีวิต 2.มาตรฐานคลีนิคตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 เกี่ยวกับการขออนุญาต ความปลอดภัย และความพร้อมในการให้บริการ 3.มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมประจำคลีนิค และ 4.ประสาน รพ.ภูมิพลฯ สรุปประวัติการรักษาผู้ป่วยที่เสียชีวิต หากพบว่ามีความบกพร่อง จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมบริหาร สปสช.พิจารณาต่อไป
“คลีนิคแห่งนี้เป็นสถานพยาบาลลูกข่ายในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามโครงการลดความแออัดของการให้บริการผู้ป่วยนอก ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือเกินขีดความสามารถจะต้องส่งต่อรักษา รพ.ภูมิพลฯ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย”
นายชวรัตน์กล่าวอีกว่า จากผลดำเนินงานเดือนมีนาคม 2551 มีคลีนิคเข้าร่วมโครงการ 252 แห่งทั่วประเทศ แต่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ 115 แห่ง ในจำนวนนี้สังกัดภาคเอกชน 156 แห่ง ภาครัฐนอกสังกัด สธ. 81 แห่ง และสังกัด สธ.15 แห่ง จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้กำชับให้ สปสช.ตรวจสอบมาตรฐานคลีนิคที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคลีนิคที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการจะต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ
“ยืนยันว่าผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองทั่วประเทศ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือมีอาการหนัก สามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว สำหรับการช่วยเหลือผู้เสียหายรายนี้ จะให้ส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) สปสช.โดยเร็ว เพื่อพิจารณาค่าเยียวยา ซึ่งมีวงเงินสูงสุด 2 แสนบาท” รัฐมนตรีว่าการ สธ.ระบุ
นพ.ธารากล่าวว่า คลีนิคเปรมประชาการแพทย์ ขึ้นทะเบียนขออนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล เลขที่ 10101017843 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2543 มีแพทย์ให้บริการประจำ 4 คน เบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปชี้ขาดได้ เพราะต้องตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดอื่นประกอบด้วย หากพบเกี่ยวข้องกับมาตรฐานวิชาชีพของแพทย์ผู้รักษาจะส่งเรื่องให้แพทยสภาตรวจสอบต่อไป
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่คลีนิคไม่ส่งตัวผู้ป่วยไป รพ.ภูมิพลฯ ไม่อยากจะเหมารวมว่าเป็นปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงินที่คลีนิค กลัวว่าหากส่งต่อผู้ป่วยแล้วจะไม่ได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล เพราะเรื่องนี้มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจน ดังนั้น จึงต้องรอผลตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
ขณะที่นายกิตตินันท์พ่อน้องโฟร์โมสต์กล่าวว่า อยากขอความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และขอทราบข้อเท็จจริงว่าแพทย์ใช้หลักเกณฑ์ใดพิจารณาว่าควรส่งต่อหรือไม่ส่งต่อผู้ป่วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
update : 21-08-51