สธ.ชี้ พนง.ออฟฟิศ กินข้าวเย็นเยอะ-ซ้ำเสี่ยงโรคหัวใจ
เน้นเนื้อสัตว์ลดข้าว ไขมันหน้าท้องมากสุด
ผลวิจัย สธ.เผยพฤติกรรมหนุ่มใหญ่-สาวใหญ่ทำงานออฟฟิศเมืองกรุง กินข้าวเย็นมาก กินปลาน้อย กินอาหารซ้ำซาก เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด-เบาหวาน ส่วนคนกินแบบเน้นเนื้อสัตว์ลดข้าวโอกาสไขมันหน้าท้องบานมากที่สุด แนะช่องลดอ้วนบริโภคเน้นผักผลไม้
ดร.วณิชา กิจวรพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง “ความชุกและปัจจัยเสี่ยงของเมตะบอลิก ซินโดรมในกลุ่มวัยทำงานประเภทงานเบา เขตกรุงเทพมหานคร” ซึ่งจากการศึกษาในประชาชนไทยกลุ่มวัยทำงานประเภทงานเบา เขตกรุงเทพมหานคร อายุ 35-60 ปี ด้วยแบบสำรวจ ระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2550 จำนวน 1,737 คน ชาย 284 คน และหญิง 1,453 คน ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างเมตะบอลิกซินโดรม หรือโรคอ้วนลงพุงกับปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมการกิน คือ การกินอาหารมื้อเย็นมากกว่า 4 ทัพพี การเลือกกินเนื้อปลาน้อยกว่าเนื้อหมูเนื้อวัว และการกินอาหารที่เหมือนๆ กันทุกวัน พบว่ามีความสัมพันธ์
ดร.วณิชากล่าวอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบผู้ที่มีไขมันในช่องท้องมากกว่า 100 ตารางเซนติเมตร กับรูปแบบการเลือกกินอาหารใน 4 รูปแบบ พบว่ากลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการมีไขมันในช่องท้องมากกว่า 100 ตารางเซนติเมตร มากที่สุดคือ รูปแบบการกินที่เน้นเนื้อสัตว์ ลดอาหารกลุ่มข้าว-แป้ง 44.2% รองลงมาเป็นกลุ่มที่กินเนื้อสัตว์ ธัญพืชผักผลไม้ในสัดส่วนเท่าๆ กัน 31.9% กลุ่มที่กินแบบมังสวิรัติเป็นหลักเนื้อปลา ข้าว-แป้งสูงแต่ไขมันต่ำ 28.1% และกลุ่มที่กินแบบมังสวิรัติเป็นหลัก เนื้อสัตว์ นม เนย ไข่ได้บ้างแต่ปริมาณน้อย 25.7%
“กลุ่มที่มีความผิดปกติในการเผาผลาญอาหาร หรือเมตะบอลิก ซินโดรม จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ผู้ที่ถือเป็นเมตะบอลิก ซินโดรม ตามเกณฑ์ของ national cholesterol education program (ncep) ต้องมีความผิดปกติทางเมตะบอลิซึ่ม หรือการเผาผลาญอาหารอย่างน้อย 3 ใน 5 ข้อ คือ 1.อ้วนลงพุง 2.ระดับไตรกลีเซอไรด์ 3.ระดับเอช-ดี-แอลคอเลสเตอรอล 4.ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร และ 5.ความดันโลหิต และตามเกณฑ์สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ ต้องมีภาวะอ้วนลงพุงร่วมกับความผิดปกติทางเมตะบอลิซึ่ม อีกอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อ ดังนั้นการเลือกกินอาหารเพื่อช่วยป้องกันภาวะเสี่ยงต่อเมตะบอลิกซินโดรม ควรเน้นประเภทธัญพืช ผัก ผลไม้เป็นหลัก และกินเนื้อสัตว์ นม เนย ไข่บ้างในปริมาณน้อยและเป็นประเภทที่ไขมันต่ำ” ดร.วณิชากล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update : 17-06-51