สถาบันสุขภาพเด็กฯ รณรงค์ ’เด็กไทยไร้สารตะกั่ว’
เผย ปนเปื้อนกับอาหาร น้ำดื่ม
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กไทยมีความเสี่ยงรับ ‘สารตะกั่ว’ ที่ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่ม ชี้ร่างกายเด็กดูดซึมสารพิษได้มากกว่าผู้ใหญ่ถึง 5-10 เท่า แม้รับสารปริมาณต่ำก็สามารถทำลายสมองและประสาท มีพัฒนาการช้าและถดถอย สมาธิสั้น ทำให้เกิดปัญหาการเรียน จังได้จัดทำสื่อเผยแพร่ โครงการ “รณรงค์ป้องกันภัยอาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว” ภายใต้โครงการ “อาหารปลอดภัยเด็กไทยฉลาด” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กไทยฉลาดรู้ ฉลาดเลือก และฉลาดบริโภค
พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า ถึงแม้ปัจจุบันจะพบผู้ป่วยเด็กที่ได้รับสารพิษจากตะกั่วไม่มาก แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเด็กวัย 2 ขวบ ไม่ยอมเดิน มีพัฒนาการช้าเข้ารับการรักษาในสถาบันฯ จากการตรวจหาสาเหตุและส่งเลือดตรวจเพิ่มเติม พบว่าเป็นผลจากการได้รับสารตะกั่วผ่านทางเดินอาหารเป็นระยะเวลานาน ทำให้สมองมีการสูญเสียถาวร ซึ่งหลังการรักษาแล้วพัฒนาการของเด็กยังคงล่าช้าเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน“สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ จึงจัดทำสื่อเผยแพร่โครงการ รณรงค์ป้องกันภัยอาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว ขึ้นภายใต้โครงการอาหารปลอดภัยเด็กไทยฉลาด โดยมีเป้าหมายให้เด็กไทยฉลาดรู้ ฉลาดเลือก และฉลาดบริโภค สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิเด็กของ unicef และ unep ที่ระบุว่าเด็กควรได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัยจากผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปกป้องเด็กให้ปลอดภัยจากพิษของสารตะกั่ว เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับผลกระทบ เพราะร่างกายของเด็กสามารถดูดซึมสารตะกั่วให้เข้าสู่ร่างกายได้มากถึง 50% เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ที่ดูดซึมเพียง 10-15% เท่านั้น”
ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กฯ กล่าวถึงรายละเอียดว่า โครงการรณรงค์ป้องกันภัยอาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว นี้มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โดยในปีแรก จะเป็นการทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของสารตะกั่วที่มีต่อสุขภาพให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอาหารในโรงเรียน และผลิตสื่อให้ความรู้แก่เด็กเพื่อไปกระตุ้นให้พ่อแม่ผู้ปกครองตระหนักถึงพิษภัยของสารตะกั่วที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำ โดยเฉพาะการส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการด้านสมองของเด็ก
“เราคาดหวังว่าผู้ที่ทำอาหารให้เด็กทาน จะระมัดระวังทุกขั้นตอนในการปรุงอาหาร ให้ห่างไกลจากสารตะกั่ว เด็กๆ ที่โตแล้วจะรู้วิธีเลือกอาหารที่ปลอดภัยจากสารตะกั่ว และรู้ความสำคัญของการล้างมือก่อนและหลังทานอาหาร การกินอาหารครบ 5 หมู่ การได้รับธาตุเหล็ก แคลเซียมและวิตามินซี เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันการได้รับและลดการดูดซึมสารตะกั่วเข้าสู่รางกายได้ดี”
การรณรงค์ในปีแรก พ.ศ. 2552 นั้น โครงการฯ ได้จัดทำสื่อโปสเตอร์ แผ่นพับและสื่อ vcd ให้กับโรงเรียนประถมและมัธยม 926 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยเหตุที่เลือกเด็กเป็นหลัก เนื่องจากร่างกายของเด็กดูดซึมสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ 5-10 เท่า และสารตะกั่วที่อยู่ในร่างกายของเด็กมีสัดส่วนการกระจายอยู่ในเนื้อเยื่อมากกว่าผู้ใหญ่ ร้อยละ 30 ต่อร้อยละ 10 ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายเด็กได้มากกว่า โดยไม่แสดงอาการใดๆ ให้เห็น หากเด็กได้รับสารสะสมในปริมาณต่ำ แต่ติดต่อกันเป็นเวลานานจะเป็นโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง เป็นอันตรายต่อสมองและระบบประสาท และระดับสารตะกั่วในเลือดที่เพิ่มขึ้นจะทำให้สติปัญญาต่ำลง 4-7 จุด จากงานวิจัยของต่างประเทศพบว่า อาจส่งผลกระทบต่อการเรียนและพฤติกรรมของเด็ก เช่น เรียนรู้ช้า สมาธิสั้นและพัฒนาการถดถอย
ส่วนในปีที่ 2 และปีที่ 3 คือปี พ.ศ. 2553 – 2554 สถาบันฯ จะลงสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการรับสารตะกั่วสูง เช่นพื้นที่ที่พบเด็กที่มีปัญหาโรคนี้ รวมทั้งการผลิตสื่อความรู้ให้เข้าถึงเด็กและผู้ปกครองได้มากยิ่งขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
update: 21-09-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย