‘สติ’ เป็นเครื่องมือสร้างสุขในองค์กร
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจาก สสส.
การที่เครื่องจักรสามารถทำงานอย่างลื่นไหลนอกจากจะเกิดจากชิ้นส่วนเครื่องจักรขนาดเล็กมาประกอบกันในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว หัวใจสำคัญคือการมีน้ำมันหล่อลื่นที่จะทำ ให้เครื่องทำงานได้รวดเร็ว ไม่มีสะดุด
เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนระบบองค์การให้บรรลุเป้าหมายและพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต ต้องเกิดจากศักยภาพและความทุ่มเทของพนักงานในองค์กรทุกคน สิ่งที่จำเป็นไม่แพ้ทักษะความเชี่ยวชาญและความสามารถ นั่นคือความสุขรู้สึกผ่อนคลายในการทำงาน หากบุคลากรในองค์กรลดความกดดันจากปัญหาต่างๆ จะยิ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่การทำงานให้เต็มศักยภาพมากขึ้น
เหตุนี้ กระทรวงแรงงานร่วมมือกับมูลนิธิเสถียรธรรมสถาน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และงานนิทรรศการชีวิต 'สตรี คือ สติ' เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการสร้างสุของค์กร พร้อมทั้งร่วมฐานกิจกรรมเพื่อสุขภาวะ และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ 10 องค์กรต้นแบบนำร่องที่เข้าร่วมกิจกรรม ภายใต้โครง การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตสตรีวัยทำงาน สู่ความสุขทุกมิติด้วยการเสริมสร้างปัญญา
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า กระทรวงฯ มีความพยายามดูแลสตรีวัยทำงานให้มีคุณภาพชีวิตดีตามที่กฎหมายกำหนด จึงสร้างโอกาสเอื้อต่อการจัดการชีวิตให้สมดุลมากขึ้น เช่น การจัดมุมนมแม่ในที่ทำงาน การยกย่องสตรีที่มีจิตอาสาและมีคุณค่าต่อองค์กร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมไทย สตรีสวมบทบาทหลายหน้าที่ ทั้งเป็นลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ การเป็นภรรยาและแม่ที่ดีของครอบครัว ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าเขาต้องแบกรับความกดดันอะไรบ้าง ส่งผลให้เกิดความเครียดและความกดดัน อาจเป็นปัจจัยสำคัญทำ ให้ศักยภาพในการทำงานลดลง
สำหรับโครงการสตรี คือ สติ นายวิวัฒน์เผยว่า ถือเป็นการต่อยอดเป้าหมายของกระทรวงฯ เพราะสติเป็นสิ่งที่คอยกำกับชีวิตในการเลือกทำสิ่งต่างๆ ให้ออกมาเป็นผลบวกหรือลบ และการจัดนิทรรศการชีวิตสตรีคือสติ เกิดจากการนำองค์ความรู้จากการดำเนินงาน ผลงานขององค์กรนำร่องมาประกอบนิทรรศการ เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาบุคลากรให้เก่งดีและมีความสุขไปพร้อมกัน
ขณะที่ นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) สสส. กล่าวว่า สตรีคือสติ มีความหมาย 2 นัย คือ สตรี…เพศผู้ให้กำเนิดและดูแลชีวิต สตรีคือสติจึงส่งเสริมให้สตรี เป็นผู้นำทางสติปัญญาของคนในครอบครัวและองค์กร และนัยที่ดูแลคนอื่นด้วยหัวใจแม่ ไม่ว่าจะเพศใด หากมีความรัก ความเมตตา ดูแล และให้โอกาสได้เหมือนแม่ที่ให้ชีวิตลูก ผู้นั้นได้ชื่อว่ามีหัวใจแม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างและขยายผลต้นแบบองค์กรสุขภาวะ พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย 15 แห่ง เพื่อสนับสนุนองค์กรนำร่องสตรีคือสติ และพัฒนากลไกการทำงานของเครือข่ายวิทยากรจิตอาสาด้านความสุข สติ และสตรี
"สสส.เชื่อว่า คนทำงานจะมีความสุขเมื่อสามารถจัดสมดุลความสุขของโลก 3 ใบที่ทับซ้อนกันได้ ได้แก่ คนทำงานมีความสุข ชุมชนสมานฉันท์ และที่ทำงานน่าอยู่ โดยออกแบบความสุข 8 ประการที่จะช่วยสร้างความสมดุลด้านทัศนคติบวกต่อมุมมองในการดำเนินชีวิตการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การรับผิดชอบต่อสังคม เป็นสมาชิกที่ดีต่อครอบครัว องค์กรและสังคม เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการบริหารจัดการชีวิตให้มีความสุขอย่างยั่งยืน" ผอ.สำนัก 8 กล่าว
ภายในงาน ม.ล.ปุณฑริกา สมิติ อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้ริเริ่มและสนับสนุนโครงการ กล่าวในวงเสวนาว่า ปัจจุบันแรงงานสตรีมีอัตราร้อยละ 50 จากแรงงานทั้งหมด 37 ล้านคน ในด้านทักษะการทำงานเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต่างช่วยกันเติมเต็มอยู่แล้ว แต่ทักษะการจัดการชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนัก ทำให้เราไม่รู้เลยว่าพนักงานแต่ละคนอาจจะกำลังเครียดกับปัญหาที่เผชิญ เช่น ดูแลผู้ป่วยติดเตียง คิดไม่ตกกับภาระหนี้สิน ทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะเจ็บป่วยบ่อย หรือขาดใจรักในองค์กร เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 ได้เริ่มโครงการนี้ขึ้น เพื่อเติมเต็มด้านสังคมและจิตใจ ทำให้พนักงานมีความสุขในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวไปพร้อมๆ กัน
"ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ดำเนินโครงการ ผลิตผู้ร่วมกิจกรรมถึง 12 รุ่นจากหลายพันคน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร คนทำงานจากภาครัฐและเอกชนรายเล็ก ผลการขับเคลื่อนที่เห็นได้ชัดเจนคือ ด้าน Safety ช่วยลดอันตรายและเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น ด้าน Product ผลิตงานที่มีคุณภาพได้เพิ่มขึ้น ด้าน Happy Society เกิดความสุขในองค์กร เมื่อหัวหน้ามองพนักงานเป็นทั้งลูกและเป็นทั้งน้อง ส่วนพนักงานได้รับความเมตตาจากเจ้านายมากขึ้น และด้าน Happy Relax พนักงานสามารถรักษาสมดุลชีวิตทั้งการทำงานและครอบครัวได้" ม.ล.ปุณฑริกาเผย
การออกแบบความสุข ม.ล.ปุณฑริกา บอกว่า บางบริษัททำกิจกรรมตั้งแต่การดูแลสุขภาพ ชวนพนักงานออกกำลังกายเพื่อเป้าหมายในการลดพุงลดโรค ส่งเสริมการปลูกผัก ส่งเสริมการออมเงิน ซึ่งหากมองเผินๆ จะคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ แต่ถ้าภายในองค์กรได้ทำกิจกรรมร่วมกันจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างหัวใจอาสา ช่วยกันคิด ช่วยกันพัฒนาในการทำกิจกรรมต่างๆ จะเป็นการลดช่องว่างการทำงานได้
ด้าน แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน ในฐานะบุคคลสำคัญในการออกแบบหลักสูตรสตรี คือ สติ กล่าวว่า ชีวิตคนเราไม่ใช่เพียงแค่สิ่งสวยงาม แต่เป็นความงดงามที่งอกงามเป็นสติและปัญญา สติจึงไม่ใช่เรื่องของวัดหรือสถานปฏิบัติธรรมเท่านั้น แต่เป็นวิถีชีวิตของทุกคนตั้งแต่ตื่นนอน จึงออกแบบหลักสูตรให้เกิดการทำซ้ำบ่อยๆ ในกิจวัตรประจำวันจนกลายเป็นวิถีชีวิต สู่การสร้างกระแสสังคมทำให้เกิดมุมมองว่า สติ เป็นอริยทรัพย์ที่ทุกคนไม่ควรละเลยในลมหายใจเข้าออกทุกๆ ขณะ
ที่สำคัญ แม่ชีศันสนีย์ ระบุว่า สามารถถอดบทเรียนผลสำเร็จขององค์กรนำร่องเป็นนวัตกรรม 6 เรื่อง ได้แก่ 1.มะกรูด…สื่อธรรมะจากธรรมชาติ มหัศจรรย์การเรียนรู้สู่โลกภายใน 2.การเคลื่อนไหว…ใจตั้งมั่น ด้วยบทเพลงแห่งสติ 3. How to สุขภาพดีเมื่อมีสติ…ด้วยสื่อดิจิตอล Motion Graphic 4.มื้ออาหาร…กับการสื่อสารธรรม 5.มองนอก…ดูในกิจกรรมค้นใจด้วยศิลปะภาวนา และ 6.พักกายพักใจในที่ทำงาน…ด้วยคลื่นเสียงแห่งสติ
สำหรับองค์กรนำร่องทั้ง 10 แห่ง ประกอบด้วย 1.บริษัท ไนซ์ แอพพาเรล จำกัด จ.นนทบุรี และขอนแก่น 2.บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด จ.พระนครศรีอยุธยาและปราจีนบุรี 3.บริษัท ไอดอล ซิสเทิม จำกัด จ.ปทุมธานี 4.บริษัท อีเกิลส์ แอร์แอนด์ซี จำกัด จ.กรุงเทพฯ 5.ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลาภทักษิณพลาสติก จ.นครศรีธรรมราช 6.เครือข่าย โรงเรียนคาทอลิกในประเทศไทย 7.บริษัท สตาร์มาร์คแมนูแฟคเชอริ่ง จำกัด จ.สมุทรสาคร 8.โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น 9.บริษัท เอ็น.ยู.ซี.อินเตอร์แพค จำกัด จ.นครปฐม และ 10.โรงพยาบาลสมิติเวช
สติที่สร้างความสุขจึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ มีความจำเป็นตั้งแต่ระดับตนเองไปจนถึงระดับองค์กรและสังคม เพราะความสุขเป็นพลังใจชั้นดีทำให้คนเรากล้าที่จะขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้น