สคอ.ฟื้นสวมหมวกนิรภัย 100% ใน สธ.

สร้างตระหนักความปลอดภัยการขับขี่

 

          สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เตรียมหารือผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำมาตรการสวมหมวกนิรภัย 100% ใน สธ.กลับมาใช้ หลังจากที่ผ่านมาผู้ใช้รถจักรยานยนต์ภายในกระทรวงฯ ละเลย

 

สคอ.ฟื้นสวมหมวกนิรภัย 100% ใน สธ.

 

          นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนวินรถจักรยานยนต์รับจ้างภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เข้าพบตน เพื่อหารือวางแผนผลักดันมาตรการสวมหมวกนิรภัย 100% ใน สธ. ให้กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อเปลี่ยนผู้นำ มาตรการดังกล่าวก็ไม่ได้รับการขานรับและตอบสนอง ประกอบกับผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่ยอมสวมหมวกนิรภัย โดยอ้างเหตุผลว่ากลัวผมเสียทรง หมวกนิรภัยไม่สะอาด มีกลิ่นอับ บางคนเห็นว่าเป็นการใช้ในระยะเส้นทางที่ใกล้ และไม่เชื่อว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นกับตนเอง ดังนั้นทาง สคอ.จึงได้ร่วมมือกับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัย และวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง จัดทำวินโมเดลต้นแบบ โดยนำวินที่มีอยู่เดิมศึกษาพฤติกรรมผู้โดยสารโดยจัดทำเป็นแบบสอบถามความคิดเห็น เพื่อรวบรวมหาสาเหตุที่ผู้โดยสารไม่ยอมสวมหมวกนิรภัยที่ชัดเจนอีกครั้ง ตลอดจนการให้บริการของรถจักรยานยนต์รับจ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะอาด ราคาค่าโดยสาร เป็นต้น เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นแนวทางแก้ไข และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อขอความร่วมมือในการสวมหมวกนิรภัยในการโดยสารทุกครั้ง พร้อมทำจัดกระบวนการทำความสะอาดหมวกนิรภัยทุกสัปดาห์ โดยจะประเมินผลภายใน 6 เดือน

 

          ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตนเตรียมหารือกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้มีการนำมาตรการสวมหมวกนิรภัย 100% ใน สธ. กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง แต่ตนไม่อยากให้มีการบังคับข้าราชการในกระทรวงต้องสวมหมวกเพราะถือเป็นคำสั่ง แต่อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัยในการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นมากกว่า  ส่วนแนวทางแก้ปัญหาเรื่องของหมวกที่มีการพูดว่ามีกลิ่นอับชื้นนั้น ทางบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยฯ ได้เสนอให้มีการจัดทำซับในไว้ภายในหมวกนิรภัย โดยเบื้องต้นทางบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยฯ ได้มอบหมวกนิรภัยจำนวน 200 ใบให้แก่วินรถจักรยานยนต์รับจ้างนำมาใช้สวมให้แก่ผู้โดยสารอีกด้วย

 

          นายพรหมมินทร์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตนมีแนวคิดว่าจะพัฒนาหมวกนิรภัยสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ โดยจะเสนอให้มีการผลิตหมวกนิรภัยที่ผ่านมาตรฐานของไทย เพราะหมวกนิรภัยที่ผ่านมาตรฐานสากลนั้น เมื่อนำมาใช้กับเมืองไทยที่มีอากาศร้อนในบางเรื่องแล้วขัดแย้งกัน โดยหมวกนิรภัยตามมาตรฐานสากลนั้นผลิตขึ้นมาเป็นไปตามสภาพภูมิอากาศในต่างประเทศ ที่มีอากาศเย็น วัสดุที่ใช้จึงมีความแตกต่างกัน โดยของไทยนั้นวัสดุที่ใช้ควรเป็นไฟเบอร์กลาสที่เป็นพลาสติกแข็งจะดีกว่า อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือทุกคนสวมหมวกนิรภัยก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปขึ้นหนึ่งแล้ว

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร team content www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

update : 04-10-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code