‘ศูนย์เด็กเล็กฝึกคิด-มัสยิดครบวงจร’ ต้นแบบชุมชนสุขภาวะ ‘ตำบลปริก’
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
แฟ้มภาพ
จากการลงพื้นที่ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ความน่าสนใจในพื้นที่นี้คือ การเป็นตำบลสุขภาวะ หรือตำบลน่าอยู่ มีการพัฒนาที่เน้นชุมชนเป็นศูนย์กลาง สิ่งที่โดดเด่นในการดำเนินการมีอยู่ 2 ส่วนคือ 1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ฝึกให้เด็กปฐมวัยรู้จักกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และแฝงด้วยการปลูกฝังเรื่องการมีสุขภาพที่ดีให้แก่เด็กตั้งแต่เยาว์วัย และ 2. มัสยิดครบวงจร ที่นอกจากเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพ สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนด้วย
ในส่วนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของพื้นที่เทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา พบว่า การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยที่นี่ จะเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง อาศัยกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในการฝึกให้เด็กได้คิด ได้ตอบคำถาม และสอดแทรกการดูแลสุขภาพให้แก่เด็กไปด้วย ยกตัวอย่าง การทดลองเรื่องการละลาย ของน้ำตาล ก็จะสอดแทรกเรื่องของน้ำตาลในขนมที่จะทำให้อ้วน เด็กๆ ควรรับประทานหรือไม่ ซึ่งเด็กๆ ก็ตอบพร้อมเพรียงกันว่า ไม่ควรรับประทาน เป็นต้น
นายสุริยา ยีขุน นายเทศมนตรีตำบลปริก จ.สงขลา กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วไปใช้ครูเป็นศูนย์กลาง แต่ที่นี่จะใช้เด็กเป็นศูนย์กลาง ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อให้เด็กคิด ได้ตั้งโจทย์ตั้งคำถาม ทดลองวิเคราะห์แล้วสรุป แต่ละโต๊ะจะบอกได้ว่าทำไมเกิดสิ่งนี้สิ่งนั้นขึ้น เป็นการสอนและปลูกฝังกระบวนการเป็นนักคิด กล้าแสดงออก ทำให้เด็กเติบโตขึ้นกล้าคิดกล้าทำกล้าแสดงออกอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่คิดเรื่อยเปื่อย
"ทุกวันนี้เด็กคิดไม่เป็น เพราะถูกฝังมาคนละแบบ และในการสอนก็มีการสอดแทรกเรื่องสุขภาพลงไปให้เด็กซึมซับด้วย ขณะนี้ทำมา 4-5 ปีแล้ว ก็ค่อยๆ พัฒนา ซึ่งต้องใช้เวลาเพราะครูเองก็จะชินกับระบบเดิม ซึ่งเราก็ใช้สโลแกนว่าครูปรับเด็กเปลี่ยน คือใช้ครูปรับกระบวนการคิดการสอน ใช้กระบวนวิทยาศาสตร์ แอ็กทีฟเลิร์นนิ่ง ก็เห็นเลยว่าเด็กเปลี่ยนจริงๆ" นายสุริยา กล่าว
นายสุริยา กล่าวว่า นอกจากเรื่องของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแล้ว ในพื้นที่ยังอาศัยกลไกมัสยิด ซึ่งเป็นศาสนสถานมาเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชนด้วย เพราะเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมาขอโทษซึ่งกันและกัน และใช้เป็นพื้นที่ในการสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจร่วมกัน อย่างเรื่องขยะก็ทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญว่าขยะสามารถแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นและสร้างรายได้ได้ เช่น ขยะอินทรีย์นำไปทำปุ๋ย ขยะบางอย่างรีไซเคิลได้ และพัฒนาจนเป็นขยะมีบุญ โดยรวบรวมนำมาขายที่มัสยิดและเป็นเงินกองทุนนำมาพัฒนามัสยิด หรือการสื่อสารเรื่องบุหรี่เป็นสิ่งที่ควรละเว้น เป็นต้น
สำหรับมัสยิดครบวงจรต้นแบบคือ "มัสยิดดาหรนอาหมัน" ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา ในการสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาวะ ทั้งมิติทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ โดย นายธรรมนูญ เสาะแม หรืออีหม่ามรอซูล เล่าให้ฟังว่า มัสยิดทุกวันจะมีคนมาละหมาดรวมกันประมาณ 80-90 คนต่อวัน จึงถือเป็นพลังที่แข็งแรงมาก หากมีการสื่อสารออกไปแล้วเขานำไปบอกต่อคนในชุมชน และยิ่งเป็นพลังมากยิ่งขึ้นโดยทุกวันศุกร์จะมีการทำคุตบะห์ คือ อีหม่ามขึ้นบัลลงก์และบรรยายเรื่องราวต่างๆ หรือสิ่งที่ต้องการรณรงค์ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 400-500 คน ซึ่งมาจากพื้นที่รอบๆ ด้วย
อีหม่ามรอซูล เล่าต่อว่า เรามีการสื่อสารเรื่องของภัยสุขภาพจากบุหรี่ โดยอย่างแรกเริ่มจากการที่ผู้นำทำตัวอย่างก่อน คืออีหม่าม กรรมการมัสยิดต่างๆ เพราะเราเห็นชัดเจนถึงโทษภัยจากบุหรี่ ซึ่งเมื่อผู้นำทำแล้ว คนก็จะอ้างไม่ได้ว่าทำได้ นอกจากนี้ ยังอาศัยการคุตบะห์ในการสื่อสารว่าบุหรี่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพ และรณรงค์ชวนให้ชาวมุสลิมเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากชาวมุสลิมสูบบุหรี่กันจำนวนมาก เพราะคิดว่าไม่ผิดกฎศาสนา เนื่องจากผู้รู้สมัยโบราณบอกว่าเป็นเพียงใบไม้เท่านั้น ไม่ได้มีอะไรที่เป็นอันตราย
"ปัจจุบันมีวิวัฒนาการ ทางการแพทย์ก็พัฒนาขึ้นมาก ในการเข้ามาช่วยวินิจฉัยจนชัดเจนว่า บุหรี่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพจริงๆ เพราะผลทางการแพทย์ยืนยันชัด การตีความจึงต่างจากอดีต เพราะอดีตสูบไปแล้วไม่รู้ว่าก่อให้เกิดโทษทางร่างกาย ซึ่งหลักของศาสนาอิสลามแต่โบราณคือ อะไรที่เป็นโทษต่อร่างกายสิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่ต้องห้าม
เราก็พยายามสื่อสารให้เขาเห็นว่า บุหรี่นั้นมีโทษต่อสุขภาพจริงๆ และควรจะเลิก แต่คงไม่ได้เป็นการสื่อสารว่าต้องเลิก สูบแล้วจะทำผิด ตกนรก ก็อาศัยจิตวิทยาในการสื่อสารให้เขาเข้าใจมากกว่าจะไปบังคับ และทำให้เห็นเองด้วย จึงทำให้ประสบความสำเร็จ" อีหม่ามรอซูล กล่าว
นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว มัสยิดดังกล่าวยังสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะเรื่อง "ขยะมีบุญ" ซึ่งอีหม่ามรอซูล ระบุว่า เรื่องนี้อันดับแรกเราพยายามเริ่มตั้งโจทย์ให้พี่น้องก่อนว่า เราเกิดมาต้องทำความดี อะไรก็ได้ที่ดี และอย่ามองข้ามความดีเล็กๆ อย่างแม้กระทั่งขยะที่เราทิ้งแล้ว ก็เป็นความดีให้พี่น้องได้ เป็นความดีสะสมกับตัวเองได้ คนอื่นรับอานิสงส์ได้ด้วย จึงเกิดเป็นโครงการขยะมีบุญขึ้น
โดยเริ่มจากการประกาศให้พี่น้องรับทราบว่าจะมีการนัดนำขยะมายังมัสยิดกันวันไหน ทั้งการติดประกาศในชุมชนและในโซเชียลมีเดีย โดยให้ชาวบ้านคัดแยกขยะแล้วนำมาที่มัสยิดในวันที่กำหนด โดยมีผู้มารับซื้อรอที่มัสยิดในการให้ราคาขาย โดยเงินก็จะนำมาเข้าเป็นกองทุนในการพัฒนามัสยิดและดูแลชุมชนต่อไป หรือหากเกิดเหตุฉุกเฉินก็มีเงินไว้ในการดูแลคนในชุมชน
ราคาในการขายขยะมีบุญนั้นจะคิดคำนวณเป็นกิโลกรัม เช่น ขวดใส 7 บาทต่อกิโลกรัม ขวดเขียว 1 บาทต่อกิโลกรัม ขวดแก้ว 1 บาท กระป๋องน้ำอัดลม 30 บาท กระดาษลัง 3.5 บาท กระดาษสี 2 บาท เหล็ก 6 บาท พลาสติกกรอบ 1 บาท อะลูมิเนียม 35 บาท สายยาง 2 บาท เป็นต้น โดยเงินที่ได้จากโครงการขยะมีบุญเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6,00 บาทต่อเดือน โดยในปี 2560 พบว่า มิ.ย.ได้ 3,265 บาท ก.ค. 3,300 บาท ส.ค. 3,840 บาท ก.ย. 6,000 บาท ต.ค. 3,000 บาท พ.ย. 5,000 บาท ส่วนปี 2561 ม.ค.ได้ 7,070 บาท
ทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและมัสยิดครบวงจร ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งการดำเนินงานตำบลน่าอยู่ หรือชุมชนสุขภาวะที่เน้นชุมชนเป็นศูนย์กลาง ของเทศบาลตำบลปริก จ.สงขลา โดยอาศัยผู้นำที่เข้มแข็งในการดำเนินการ และได้รับการยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการสุขภาวะชุมชน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ชุมชนมีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ เพราะเขาเป็นเจ้าของสุขภาพ สุขภาวะ สุขและทุกข์อย่างแท้จริง รู้ดีว่าอะไรเป็นต้นเหตุและจะใส่ใจมากกว่าเพื่อน
นอกจากนี้ ตำบลยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือ มีโครงสร้างกำลังดี มีองค์กรเกี่ยวข้องทั้งระดับท้องถิ่น และระดับราชการที่เข้าไปช่วยหนุนเสริมอย่างพอเหมาะ สสส.จึงใช้โมเดลของตำบลสุขภาวะในการขับเคลื่อนสุขภาพและสุขภาวะของคนไทย ซึ่งปัจจุบัน สามารถขับเคลื่อนให้เกิดตำบลสุขภาวะได้กว่า 2,705 ตำบลทั่วประเทศ
"การจะทำให้ประชาชนหันมาสนใจเรื่องสุขภาวะและรู้สึกเป็นเจ้าของที่จะต้องลงมาปฏิบัติและดูแลสุขภาวะด้วยตัวเอง ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนระบบคิดของคนในชุมชนให้เห็นความสำคัญและรู้สึกเป็นเจ้าของที่ต้องดำเนินการเองก่อนโดยกระบวนการจุดแรกต้องใช้การมาเสวนาร่วมกัน ทำให้ชาวบ้านเริ่มเชื่อว่าเขาสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ สามารถเชื่อมโยงหน่วยงานภายนอกได้ และสุดท้ายเขาก็จะเป็นเจ้าของเรื่องเอง และที่สำคัญอีกประการคือ ผู้นำภายในชุมชนที่จะรวบรวมความคิดชาวบ้านได้" ผู้จัดการ สสส. กล่าว