ศิลปะไร้สารตะกั่ว ‘คลิตี้ล่าง’ สะท้อนปัญหา13ปี ที่รอการแก้
วันนี้เป็นวันครบรอบ 13 ปี ของการนำเสนอข่าว ลำห้วยคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี ปนเปื้อนสารตะกั่ว กับสภาพแวดล้อมที่เสื่อมลง ลำห้วยที่เคยใส ปลาที่เคยแหวกว่าย ชาวบ้านที่เคยแข็งแรง มาจนถึงวันนี้ ผลกระทบที่ได้รับยังคงอยู่ และรอคอยให้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
คลิตี้ล่างหรือภาษากะเหรี่ยงที่แปลว่า “เสือโทน” ชุมชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ (โผล่ว) ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในชายขอบของผืนป่าตะวันตกทุ่งใหญ่นเรศวร ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอทองผาภูมิจังหวัดกาญจนบุรี
ชาวบ้านกว่า 300 ชีวิต ดำรงชีวิตด้วยการปลูกข้าวไร่ พืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ โดยมีลำห้วยคลิตี้เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการยังชีพ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มกิน อาบน้ำ ซักผ้า รดพืชผัก ตลอดจนการจับสัตว์น้ำ กุ้งหอยปูปลา ที่มีอยู่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนคลิตี้มาหลายร้อยปี
“น้ำห้วยคลิตี้ใส น่าเล่นมาก เย็นชื่นใจ มีปลา กุ้ง หอย และปูเยอะจริงๆ ปลาตัวขนาด 4-5 กิโลนั้น มีเยอะมาก พวกเราไปหาได้ตามสบาย แล้วก็จะไปอาบเล่น ใช้เลี้ยงควายมาโดยตลอด” เนโทนา สวนวิวัฒน์ ผู้อาวุโสของหมู่บ้านเล่า พ.ศ.2498 เริ่มมีการขุดบ่อแร่คลิตี้หรือบ่องามเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
น้ำที่เคยใสก็ขุ่นมัว ปลาที่เคยแหวกว่ายก็ลอยตาย วัวควายที่เลี้ยงไว้ต่างจบชีวิตอยู่ริมห้วยคลิตี้ กระทั่งชาวบ้านที่ใช้น้ำในห้วยต่างล้มป่วย และจบชีวิตลงราวใบไม้ร่วง จนกระทั่งเหมืองจากบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถูกสั่งปิดเมื่อ ปี พ.ศ.2541
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เล่าว่า แม้ว่าวันนี้จะครบรอบ 13 ปี ของการเสนอข่าวสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ สะท้อนทุกขภัยที่ชาวบ้านชายขอบได้รับนำไปสู่การปิดเหมือง แต่เด็ก เยาวชนในหมู่บ้านคลิตี้ล่างที่ต้องเจ็บป่วย เพราะผลกระทบจากการทำเหมืองยังไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง
ที่ผ่านมา หน่วยงานทางภาครัฐได้แต่เข้ามาตรวจอาการและเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำการวินิจฉัย จึงไม่เกิดกระบวนการรักษาเสียที แม้จะติดต่อแพทย์ หรือบุคคลที่มีความรู้ให้เข้ามาศึกษาหาวิธีรักษาและป้องกัน แต่ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลเลย ส่งผลให้ปัจจุบันเด็กคลิตี้ล่างหลายคนประสบปัญหาพัฒนาการทางสมองช้า
บางคนความจำสั้น ลืมง่าย บางคนเรียนตกซ้ำชั้น บางรายการเจริญเติบโตทางสมองผิดปกติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกจากยังไม่เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว ยังซ้ำเติมด้วยการผลักดันการสร้างเหมืองอีกครั้ง
“กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการพัฒนาเหมืองแร่ กระทรวงพลังงาน ได้ผลักดันการเปิดเหมืองแร่ตะกั่วและสังกะสีที่หมู่บ้านคลิตี้อีกครั้ง ถือเป็นเรื่องเลวร้ายที่ไม่น่าเกิดขึ้น แม้จะมีเจ้าหน้าที่รัฐให้ความสนับสนุน เพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มเดียว ซึ่งการเปิดเหมืองที่ผ่านมาส่งผลกระทบร้ายแรงและยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมทั้งชาวบ้านก็ออกมาคัดค้านการเปิดเหมืองนี้ด้วย”
ในวาระครบรอบ 13 ปี การเสนอข่าวสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ โครงการพัฒนาการสื่อสารสุขภาวะเพื่อชุมชนและสังคมที่เป็นธรรมของหมู่บ้านคลิตี้ ภายใต้ความร่วมมือของ สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อนชนเผ่า มูลนิธิโลกสีเขียวโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา และกลุ่มดินสอสีร่วมกับ สถาบันการศึกษา ศิลปิน กลุ่มกิจกรรมอิสระอาสาสมัครนักศึกษา และชาวบ้านคลิตี้ล่างจึงเกิดขึ้น โดยการบูรณาการองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม กระบวนการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน และการรณรงค์สาธารณะ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
สำหรับโครงการดังกล่าว นำเอาเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านคลิตี้มาแสดงพลังความสามารถผ่านศิลปะ เพื่อเป็นกระบอกเสียงของชาวบ้านส่งต่อไปถึงคนเมือง ผ่านผลงานศิลปะที่นำเด็กๆ มาร่วม เวิร์กช็อปศิลปะโดยศิลปิน อาจารย์จาก 13 สถาบันการศึกษาด้านศิลปะทั่วประเทศ หนังสั้นโดย thaishortfilm และนิตยสาร ฟิ้วละครเวที โดยกลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ และ ภาพถ่ายโดย นายสิทธิชัย จะทัต จัดการอบรมเวิร์กช็อปภาพถ่าย ซึ่งผลงานทั้งหมดเป็นฝีมือเด็กและเยาวชนคลิตี้ทั้งสิ้น
นายวิชญ มุกดามณี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร นำคณะครูนักศึกษาคณะจิตรกรรมกว่า 30 ชีวิต มาให้ความรู้ด้านศิลปะ ในมุมมองศิลปะกับชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่มีเนื้อหาน่าสนใจเป็นประสบการณ์อันดีที่ได้ทำงานร่วมกับเด็ก
“ศิลปะเป็นศาสตร์ที่แปลกสามารถเข้าถึงเข้าใจง่าย ในทุกเพศทุกวัย การทำงานกับเด็กในหมู่บ้านเป็นไปได้ด้วยดี ผลงานที่ออกมาก็สะท้อนแนวคิดของเด็ก จะเห็นว่าสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่ตึกหรูๆ บ้านสวยๆ หรือความทันสมัย แต่เป็นป่า ต้นไม้ แม่น้ำ ลำคลอง น้ำตกหรือธรรมชาตินั่นเอง” นายวิชญ กล่าว
ช่วงบ่ายบนศาลาการเปรียญ วัดแห่งเดียวของหมู่บ้านคลิตี้ ที่ไม่มีป้ายระบุชื่อวัด ถูกจัดเป็นนิทรรศการจัดแสดงผลงานทางศิลปะ ทั้งเด็กเล็กชาวบ้านทีมงานต่างเดินขวักไขว่ ชี้ชวนดูภาพฝีมือตัวเอง พอตกเย็นสถานที่เดียวกันนี้ก็ปรับเป็นสถานที่ฉายหนังสั้น ฝีมือชาวคลิตี้ทั้ง 7 เรื่อง
4 เรื่องแรกเป็นผลงานของเด็กน้อย เป็นทั้งผู้กำกับ ผู้เขียนบทและเป็นนักแสดงเอง ประกอบด้วยเรื่อง “คลิตี้น่าอยู่”, “ชมพูตกน้ำ”, “ตามหาตะกั่ว”และ “ป่านางเสือโทน”
อย่างเช่นเรื่อง “ตามหาตะกั่ว” เขียนบทและถ่ายภาพโดย เด็กชายปาละ และ เด็กชายพะครูสะ เป็นเรื่องราวของเด็กชายปาละ ซึ่งเป็นนักแสดงนำ สงสัยว่า “ตะกั่ว” เป็นอย่างไร ตะกั่วตัวผู้จะหล่อ ตะกั่วตัวเมียจะสวยหรือไม่จึงเดินหาตะกั่วและถามหาจากชาวบ้านทั่วหมู่บ้าน
อีก 3 เรื่องเป็นผลงานของเยาวชนวัยรุ่นและผู้ใหญ่ในหมู่บ้านคือ เรื่อง “แด่ความงดงาม” “โจไปไหน” และ “mv คลิตี้” เนื้อหาสะท้อนสังคมในอีกรูปแบบหนึ่งเช่น เรื่อง “โจไปไหน” เป็นการติดตามชีวิตของ “โจทิไผ่” หรือ นายพรชัย นาสวนกนก ตัวแสดงนำของเรื่อง ที่แม้เขาจะอายุ 21 ปีแล้ว แต่มีสติปัญญาเท่าเด็ก 5 ขวบเท่านั้น ทุกวันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ที่โจจะเดินออกจากบ้านไปโดยไม่มีใครรู้ว่าจุดหมายปลายทางของเขาคือที่ใด และอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเป็นเช่นนั้น
นางสาวนภสร ลิ้มไชยาวัฒน์ อาจารย์พิเศษ คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และนิตยสารฟิ้ว เล่าว่า ผลงานทั้งหมดโดยเฉพาะหนังสั้นของเด็กเป็นเรื่องที่พวกเขาคิดขึ้นมาเอง แสดงความน่ารักใสๆ ในแบบของเด็ก ซึ่งเด็กทุกคนในหมู่บ้านมีความคิดสร้างสรรค์กล้าแสดงออกอยู่แล้ว ผู้กำกับที่อายุน้อยสุด แค่ 7 ขวบเท่านั้น ทางพี่เลี้ยงช่วยดูแลเพียงการตัดต่อเท่านั้น
แสงไฟนีออนสว่างขึ้นบนศาลาการเปรียญ ท่ามกลางความมืดมิดของหมู่บ้านคลิตี้ล่าง เสียงเครื่องปั่นไฟแห่งเดียวในหมู่บ้านทำงานประสานไปกับเสียงฝนและเสียงก้องกังวานของเด็กๆ
ละครเวทีของเด็กจบลง ทิ้งเรื่องราวที่สะท้อนแนวความคิดของชาวบ้านคลิตี้ล่าง สิ่งที่ต้องการไม่ใช่ให้หมู่บ้านดีขึ้น พัฒนาขึ้น พวกเขาหวังเพียงสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตกลับมาเหมือนเดิม
การดำเนินชีวิตของเด็กๆ บนสายน้ำคลิตี้ ที่ใครๆ ก็เห็นว่าสนุกสนาน แต่ใครบ้างจะรู้ว่าบางครั้งยามค่ำคืนเด็กและผู้ใหญ่ หลายคนต้องทนกับอาการถ่ายท้อง เจ็บท้อง ปวดหัว ปวดกระดูก เจ็บข้อ ชาตามร่างกาย บวมตามแขนขา มือเท้าไม่ค่อยมีแรง หมอที่หมู่บ้านใกล้เคียงช่วยได้เพียงจ่ายยารักษาตามอาการเท่านั้น ครั้นจะดั้นด้นไปหาหมอในเมืองด้วยบัตรทอง ก็ติดขัดที่ค่าใช้จ่ายแต่ละครั้ง เฉพาะแค่ค่ารถก็นับพันบาท
ถึงแม้โรงแต่งแร่จะปิดลงแล้ว แต่ผลกระทบของสารตะกั่วที่บริษัทเหมืองได้ทิ้งไว้ ยังตกตะกอนเป็นจำนวนมหาศาลนิ่งสงบอยู่ใต้ลำห้วย ไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นฟูกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างไร ในขณะที่ชาวบ้านยังต้องพึ่งพาอาศัยลำห้วยคลิตี้ต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เราหวังว่าสายน้ำจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ใช้ดื่ม ใช้อาบ ใช้ปลูกผักได้ หมู่บ้านคลิตี้สู้
เรื่อง: อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน