ศิลปะพัฒนาชีวิต ศาสตร์แห่งการบำบัด

          "ศิลปะ" ไม่ได้เป็นเพียงแค่เพียงศาสตร์แขนงหนึ่งที่ว่าด้วย เรื่องของความงดงาม ความคิดสร้างสรรค์ และการปลดปล่อย จิตวิญญาณเท่านั้น แต่ศิลปะยังช่วยให้เราเกิดความรู้สึกอิ่มเอม เบิกบานใจอันจะนำไปสู่ศาสตร์แห่งการบำบัดได้อีกด้วย


/data/content/24470/cms/e_eimnorxy2679.jpg


          ดังจะเห็นได้จากการจัดงานเมื่อไม่นานมานี้ ของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้กิจกรรม ที่มีนิยามว่า  "ศิลปะพัฒนาชีวิต" โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกสมาธิ ผ่อนคลายจิตใจ รวมถึงกระตุ้นการใช้กล้ามเนื้อที่จะช่วยบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม และเป็นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ผ่านผลงานศิลปะด้วยดินเกาหลี


          วรรณประภา ตุงคะสมิต นักดีไอวายมากความสามารถ จากนิตยสารสุข กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของกิจกรรม ครั้งนี้ ต้องการนำงานศิลปะที่ทุกเพศทุกวัยสามารถทำได้ มาช่วยสร้างความผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดทั้งกาย และจิตใจ โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายว่าจะเป็นงานที่สมบูรณ์แบบหรือไม่ เพราะเป้าหมายหลักจะโคลสอัพไปที่ การบำบัดอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม เช่น การทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ไปจนถึงภาวะความเครียด เนื่องจากความกดดันในการทำงาน ซึ่งทำให้เกิดภาวะ ผิดปกติต่างๆ


/data/content/24470/cms/e_dhijnoqs1347.jpg


          "ศิลปะ" โดยทั่วไปเรามักเข้าใจกันว่า คือ กิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการผ่อนคลายและความสุข สนุกสนาน แต่ในปัจจุบัน ศิลปะได้ขยายตัวเข้าไปสู่เขตแดนของการแพทย์ ที่สามารถนำมาเยียวยาผู้คนได้ เรียกกันว่า "ศิลปะบำบัด" มีประโยชน์ในด้านการพัฒนาอารมณ์ สติปัญญา สมาธิ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และการประสานงานการเคลื่อนไหวของร่างกาย และยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการสื่อสาร และเสริมสร้างทักษะทางสังคม


          "กิจกรรมปั้นดินในครั้งนี้ เป็นศิลปะบำบัดที่ไม่เพียงแต่เสริมสร้างจินตนาการเท่านั้น แต่การปั้น นวด หรือกดลวดลาย ยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ที่สำคัญดินเหนียวมีส่วน ผสมของน้ำ ขณะปั้น ดินจะดูดซับความร้อนจากร่างกาย แถมเมื่อปั้นได้ดีแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์งานฝีมือเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย" คุณวรรณประภา ยืนยัน หนักแน่น


          ภัทรศิริ กรณ์ธนสุขไพบูล คือผู้เข้าร่วมกิจกรรม วัย 39 ปี ที่ให้ความเห็นถึงคุณค่าในการทำกิจกรรมศิลปะปั้นดิน ว่า ปกติไม่เคยได้ทำงานศิลปะเลย เนื่องจากเวลาการใช้ชีวิตที่จำกัด แต่เมื่อได้ลองมาเข้าร่วมกิจกรรม ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สนุกสนาน และทำให้ได้ใช้จินตนาการที่ไร้ขีดจำกัด


/data/content/24470/cms/e_bdfghjksuxy6.jpg


          "เชื่อว่าสภาพสังคมการดำเนินชีวิตปัจจุบัน ทำให้หลายๆ คนเกิดความตึงเครียดทั้งจากการทำงาน หรือแม้แต่เรื่องส่วนตัว หากลองหาเวลามาทำงานศิลปะ ลองปลดปล่อย ความคิด จินตนาการ ละวางปัญหาความเคร่งเครียดในชีวิต ไว้ชั่วคราว และเมื่องานสำเร็จจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ดื่มด่ำ และเป็นสุขกับผลงานนั้นด้วย การทำงานศิลปะจึงช่วยคลายเครียดได้" ภัทรศิริ กล่าว


          อีกเสียงหนึ่ง ดิเรก บุญเสริม หนุ่มออฟฟิศ วัย 35 ปี ผู้เข้าร่วมกิจกรรม บอกว่า ตนให้ความสนใจเรื่องสุขภาพมาก โดยเฉพาะการนำศิลปะมาบำบัดความเครียด จึงคอยติดตามข่าวสารจากนิตยสารสุขอยู่เสมอ หากมีเวลาว่างก็มักจะชวนลูกๆ มานั่งล้อมวงวาดรูประบายสี ซึ่งตนเชื่อว่าศิลปะไม่เป็นเพียงเสริมสร้างจินตนาการเท่านั้น ยังถือเป็นกิจกรรมสร้าง ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกด้วย ยิ่งเมื่อได้เห็นรอยยิ้มและ เสียงหัวเราะในครอบครัว ทำให้ลืมความเหนื่อยล้าจากการทำงานไปเลยทีเดียว


          จากเหตุผลอันเกิดจากประสบการณ์ตรงของแต่ละคน ทำให้ประจักษ์อย่างชัดเจนว่า "ศิลปะ" มีคุณค่ามากกว่า โลกของ "สีสัน" หากแต่เป็น "ศาสตร์" ที่เต็มไปด้วย คุณประโยชน์แก่ชีวิต ใครที่พลาดหวังจากงานครั้งนี้ ไม่ต้องเสียใจ เพราะแม้กิจกรรมนี้จะจบลงไปแล้ว แต่ทางศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส. ยังคงมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ อีกมากมาย สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ www. thaihealthcenter.org หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ โทร.08-1731-8270


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code