ศาลปกครองเดินหน้าสู่องค์กรสร้างสุข 4.0
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ศาลปกครองเดินหน้าสู่องค์กรสร้างสุข 4.0 เพราะ 1 ใน 3 ของการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์เงินเดือนคือที่ทำงาน
จากผลสำรวจคุณภาพชีวิตคนทำงานภาครัฐ โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2559 พบว่า 1 ใน 5 ของเจ้าหน้าที่รัฐมีภาวะความเครียดระดับมากถึงมากที่สุด และ 56% พร้อมที่จะย้ายงานหรือลังเลไปอยู่องค์กรอื่นหรือตำแหน่งที่ดีเท่ากันมาเสนอ ซึ่งสะท้อนถึงความผูกพันในองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
ศาลปกครองจึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เดินหน้าพัฒนาองค์กรศาลปกครองสู่องค์กรแห่งความสุขในยุค 4.0 ให้กับบุคลากรศาลปกครองและศาลปกครองภูมิภาค 11 แห่ง
ปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลปกครองสูงสุด สะท้อนแนวคิดว่า องค์กรสุขภาวะ บุคลากรถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ปัจจุบันองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาพัฒนาภายในองค์กรกันมากขึ้น นั่นคือความสุขของบุคลากร เพราะการสร้างความสุขทางกายและจิตใจแก่คนทำงานในองค์กร ก็พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจให้แก่องค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยลดความเครียด ลดความขัดแย้ง เพื่อให้มีสุขภาพจิต กาย ใจที่ดี ช่องว่างระหว่างวัย หรือ generation gap ถือเป็นโจทย์หนึ่งที่สำคัญ แล้วจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่มีความสุขในการทำงาน ยินดีที่จะผูกพันกับองค์กร โดยเฉพาะองค์กรภาครัฐ
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. สะท้อนมุมมองในเรื่องนี้ว่า จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความสุขในองค์กร มีความผูกพันกับองค์กรน้อยลงและเริ่มรู้สึกขัดแย้ง เพราะวัฒนธรรมองค์กรตามไม่ทันเด็กรุ่นใหม่ คำถามคือ แล้วใครต้องปรับตัวเข้าหากัน ซึ่งความคิดของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในองค์กรในแต่ละรุ่นก็ไม่เหมือนกัน เพราะความคิดต่อการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจะพบปัญหาเหล่านี้มากขึ้น
"ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับซีอีโอของบริษัทญี่ปุ่น เขาเล่าให้ฟังว่า ความแตกต่างของเจนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในองค์กรคือ กล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงความเห็น จึงมักจะมีพนักงานรุ่นใหม่มาดักรอเพื่อขอแสดงความเห็นหรือร้องเรียน เหตุการณ์เหล่านี้ซีอีโอในองค์กรเอกชนของไทยก็พบเจอเช่นเดียวกัน เพราะช่องว่างระหว่างเจนกับความคาดหวังที่ต่างกัน ซึ่งลักษณะของคนเจน M อายุระหว่าง 20-29 ปีคือ ต้องมีความพึงพอใจในงานนั้น สามารถทำอะไรได้หลายอย่างในเวลาเดียว ทำงานเน้นเป้าหมายมากกว่าสถานที่และเวลา เน้นทำงานเป็นทีมในวัยใกล้เคียงกัน ชอบองค์กรแนวราบไม่ซับซ้อน ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นองค์กรที่มีระบบ มีแบบแผน วัดผลที่ชัดเจน เน้นความสมดุลระหว่างชีวิตและงาน ชอบที่จะได้ใกล้ชิดหัวหน้า และสนใจในเทคโนโลยี ดังนั้นถ้าจะทำให้เป็นองค์กรแห่งความสุขอย่าทำจากภาพรวมทั้งองค์กร แต่ต้องลงลึกในแต่ละสำนักหรือแผนก เพราะแต่ละจุดแตกต่างกัน และมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน"
สำหรับแนวทางไปสู่การพัฒนาองค์กรแห่งความสุข ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน จากแผนงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐ สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมถ่ายทอดกระบวนการทำงานว่า สิ่งสำคัญคือ การเสริมสร้างศักยภาพแกนนำนักสร้างสุขในองค์กร เพื่อสามารถวางแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ตอบโจทย์ของคนในองค์กร และเป็นการสร้างความยั่งยืนในการทำงาน ซึ่งจากการทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐอื่นๆ พบว่า โดยส่วนใหญ่มักประสบปัญหาด้านสุขภาพและการเงิน ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้คือ เมื่อบุคลากรองค์กรภาครัฐมีสุขภาวะที่ดี มีความสุขในการทำงาน ผลงานจะสะท้อนไปสู่ประชาชนผู้รับบริการ
"หากเรามุ่งทั้งงาน ควบคู่กับการดูแลสุขภาพและสร้างความผูกพันกับองค์กรไปด้วยกัน โดยใส่แนวคิดองค์กรแห่งความสุขเข้าไป ก็จะช่วยทำให้คนทำงานอยู่กับองค์กรรัฐยาวนานขึ้น" ดร.ศิริเชษฐ์กล่าว