ศธ. จับมือ สสค. ร่วมพัฒนาเด็กในจังหวัดชายแดนใต้
รมต.ศธ.ร่วมกับ สสค. และองค์กรหลักเซ็น mou ร่วมมือพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะที่ 2 ช่วยเด็กใต้ 5 หมื่นคน นักวิชาการเชื่อ “การศึกษาที่เท่าเทียม” ช่วยดับไฟความรุนแรง
วันที่ 27 พ.ค. 54 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดแดนภาคใต้ ระยะที่ 2 ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะที่ 2 พ.ศ.2554-2556
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชนคนที่ 2 กล่าวว่า ภารกิจหนึ่งที่สำคัญของ สสค.คือ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งมีอยู่ถึง 5 ล้านคน หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีประมาณการณ์ไว้ว่า ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีตัวเลขเด็กกำพร้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มากถึง 5,111 ราย
“เด็กจำนวนมากยังเสี่ยงต่อการไม่ได้เรียนต่อ เพราะต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ และยังเสี่ยงต่อการชักชวนให้กระทำผิดในลักษณะต่างๆ จากข้อมูลของศอ.บต.พบว่ามีเด็กที่ออกกลางคันก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ประมาณ 40,000 คน และอีก 10,000 คน เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ออกกลางคันในแต่ละปี รวมประมาณ 50,000 คน” ดร.กฤษณพงศ์กล่าว
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวอีกว่า ในความร่วมมือเพื่อการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สสค.จึงมุ่งเน้นการทำงานในกลุ่มเด็กนอกระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะโจทย์การวิจัยควบคู่กับการทำงานในพื้นที่เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำและการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสนอกระบบการศึกษาและเด็กกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษา
ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค.กล่าวว่า ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้นั้นไม่สามารถดับได้ด้วยปืน แต่ได้ด้วยโอกาสและความเท่าเทียมทางการศึกษา ผลลัพธ์ที่เห็นผลจากชุดโครงการวิจัยสกว.ระหว่างปี 2547-2550 ชี้ว่า การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ในสามจังหวัดภาคใต้ต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ครอบคลุม 3 ประเด็นคือ 1.คุณภาพการศึกษา 2.ส่งเสริมทักษะอาชีพ 3.การเรียนศาสนาอย่างพอเพียง โดยที่ไม่เน้นความรู้เชิงวิชาการ แต่ทำให้เกิดผลกระทบการทำงานในพื้นที่และยกระดับทักษะคุณภาพชีวิต ซึ่งสสค.มองว่าเป็นตัวต่อสำคัญในการช่วยให้เกิดความสงบสุขในสามจังหวัดภาคใต้ เกิดการสร้างนวัตกรรม และการขยายผลเครือข่ายในพื้นที่ ทำให้กระบวนการศึกษานำมาซึ่งความเข้มแข็งของชุมชนได้อย่างผาสุขต่อไป
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน