‘วิ่งสมาธิ’ แบบฉบับ ‘ซิตี้รัน’
เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th /แฟ้มภาพ / ภาพจากกลุ่มซิตี้รันคลับ
“แค่หยิบรองเท้าแล้วก้าวออกไปวิ่ง” เป็นคอนเซปต์ง่ายๆ สำหรับการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ซึ่งเราจะวิ่งที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรก็ได้ทั้งนั้น
นับเป็นยุคที่การวิ่งบูมขึ้นมากในประเทศไทย จากการปลุกกระแสการวิ่งในภาพยนตร์เรื่อง รัก7 ปีดี 7 หน จนนำมาซึ่งงาน “วิ่งสู่ชีวิตใหม่” ในปี 2555 เป็นต้นมา โดยทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดขึ้น และส่งต่อการวิ่งสู่คนรุ่นใหม่ รวมถึงปลุกพลังนักวิ่งรุ่นเก่าให้ออกมาวิ่งอีกครั้ง
และหลังจากนั้น “ตูน บอดี้สแลม” ก็ปลุกคนไทยทั้งประเทศให้ออกมาวิ่งและดูแลสุขภาพของตนเอง ด้วยโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เริ่มจากปลายปี 2559 ที่วิ่งจากกรุงเทพ ถึง โรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และปลายปี 2560 วิ่งจาก เบตง จ.ยะลา ถึง แม่สาย จ.เชียงราย โดยรายได้จากการบริจาคเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่เดือดร้อน และเพิ่มศักยภาพในการรักษาคนไข้ให้เพียงพอ
รวมไปถึงการเกิดขึ้นของงานวิ่งราวๆ กว่า 1,000 งานในรอบปี 2560 ที่ผ่านมา เห็นได้ว่า “การวิ่ง” เป็นการออกกำลังกายสุดฮิตของคนไทย ที่สามารถทำได้ง่าย และคนไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และกว่าจะถึงงานวิ่งที่แต่ละคนสมัครไว้ แน่นอนว่า “การซ้อมวิ่ง” เป็นสิ่งที่สำคัญที่นักวิ่งควรฝึกร่างกายตัวเอง เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายตามที่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นระยะ 5 กม. 10 กม. 21 กม. 42.195 กม. หรือระยะอัลตร้าที่ไกลกว่านั้น
ระหว่างการฝึกซ้อม เพื่อให้ตัวเราไปถึงเป้าหมายของการวิ่งนั้น นักวิ่งเลือกที่จะซ้อมในสวนสาธารณะ บนลู่วิ่ง หรือในที่ต่างๆ กันไป ไม่ว่าเป้าหมายของการซ้อมไม่ว่าจะเพื่อฝึกหัวใจ-ปอด เพื่อความเร็ว หรือฝึกกล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดความอดทน นักวิ่งต้องโฟกัสไปที่ร่างกายตัวเอง ฟังเสียงร่างกายและหัวใจเป็นสำคัญ การที่จดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านั้น ทำให้เกิด “สมาธิ” ตามมานั่นเอง
– ทุกก้าวที่เราวิ่งอย่างรู้ตัว คือ สมาธิ –
ระหว่างทางที่วิ่ง เมื่อเรา “จดจ่อ” “มุ่งมัน” “รู้ตัว” ในทางพุทธศาสนา เรียกว่า วิริยะ นั่นคือ ความพากเพียรทำในสิ่งหนึ่งเป็นระยะเวลานาน ต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ และ จิตตะ ที่หมายถึง การไม่ละทิ้งเป้าหมายนั้น ลงมือทำด้วยใจจดจ่อ หรือมีสมาธิ นั่นเอง
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุชาติ โสมประยูร ผู้คิดค้นการวิ่งสมาธิ ได้เชื่อมโยงสมาธิกับการวิ่งไว้ว่า การทำสมาธิเป็นกิจกรรมออกกำลังจิตเพื่อเพิ่มสมรรถภาพจิต ส่วนการวิ่งเหยาะๆ เป็นการเพิ่มสมรรถภาพให้ร่างกาย สร้างความแข็งแรงให้ทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ ปอด และร่างกาย เมื่อการวิ่งเหยาะๆ ผนวกรวมกับสมาธิ นั่นหมายถึง การวิ่งเหยาะๆ อย่างมีสติ รู้ตัวเอง
ราวๆ 20 ปีก่อน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุชาติ ได้วิ่งเหยาะๆ ไปกับการภาวนา “พุท-โธ” ในระหว่างที่หายใจเข้า – ออก บูรณาการระหว่างร่างกายกับจิตใจ ซึ่งหลังจากการวิ่งแบบภาวนาประมาณ 5 เดือน ก็ค้นพบว่า 1. เกิดอาการติดวิ่งสมาธิ 2. ลดความวิตกกังวล คลายเครียด และหลับสบาย 3. ระบบต่างๆ ของร่างกายได้รับการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น 4. แก้ไขปัญหาสุขนิสัยที่ไม่ดีของตนเองได้ง่ายขึ้น 5. ลดความเสี่ยงจากโรคและอุบัติภัยได้มากขึ้น 6. ร่างกายกระฉับกระเฉง ทะมัดทะแมง แคล่วคล่องว่องไว 7. อารมณ์สดชื่น แจ่มใส มีชีวิตชีวา และดูไม่แก่เกินวัย
– วิ่งในเมือง (ซิตี้รัน) แบบมีสมาธิ –
เมื่อเท้าสองข้างที่พาเราออกไปวิ่ง ไม่ได้จำกัดแค่ในสวนสาธารณะใกล้บ้าน หรือ บนลู่วิ่ง เส้นทางการวิ่งในเมือง หรือ ซิตี้รัน จึงเป็นทางเลือกที่นักวิ่งสามารถสวมรองเท้าแล้วออกไปวิ่งได้ทันที คิม – พีรดนย์ นำศิริวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มซิตี้รันคลับ เล่าถึงรูปแบบการวิ่งให้ฟังว่า
“ซิตี้รัน คือ การวิ่งในเส้นทางของเมือง เพื่อทำให้การวิ่งเป็นเรื่องง่าย สามารถวิ่งที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อทำให้คนออกมาวิ่งกันมากขึ้น เส้นทางการวิ่งในเมืองทำให้การวิ่งไม่น่าเบื่อ โดยที่เราสามารถวิ่งไปในที่ต่างๆ แบบที่รถยนต์ไม่สามารถไปได้
สำหรับสิ่งสำคัญ คือ การระมัดระวังรถ หากวิ่งในเช้ามืดหรือช่วงหัวค่ำก็ต้องเตรียมไฟฉาย เสื้อสะท้อนแสง ไฟติดตัว เพื่อให้คนที่ขับขี่เห็นเราชัด และถ้าหากวิ่งผ่านในที่ที่ไม่มีร้านขายน้ำ ก็ต้องเตรียมขวดน้ำ/เป้น้ำใส่ขนมกินไปให้พร้อม
ส่วนความปลอดภัย แนะนำให้หาเพื่อนไปด้วยในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย และสุดท้ายเราต้องไม่สร้างความเดือดร้อนหรือทิ้งอะไรไว้ในเส้นทาง เราแค่ขอวิ่งผ่าน เก็บไว้เพียงความทรงจำ
ในการวิ่งซิตี้รัน แน่นอนว่า เราต้องใช้สมาธิในการวิ่ง เพราะการวิ่งบนถนนเราต้องเจอกับอะไรที่ไม่คาดคิดตลอดเวลา ดังนั้นการมีสมาธิ สติอยู่กับการวิ่งเป็นสิ่งจำเป็นมาก” คิม เน้นย้ำ
นอกจากนี้ คิม ยังเล่าทิ้งท้ายถึงเสน่ห์การวิ่งซิตี้รัน ว่า ทำให้เราอยากวิ่งไปในที่ต่างๆ และการวิ่งแบบนี้เป็นแรงกระตุ้นให้เราวิ่งมากขึ้น ไกลขึ้น ที่สำคัญทำให้เราพบว่า บ้านเมืองเรายังมีอะไรดีๆ ให้ไปสำรวจ ไปพบอีกมาก แบบที่เราไม่มีโอกาสจะได้เห็นเลยหากไม่มาวิ่งซิตี้รัน
เช่นเดียวกับที่ อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สสส. ได้บอกถึงการวิ่งสมาธิว่า ไม่ว่าเราจะวิ่งซิตี้รันในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด สิ่งสำคัญที่เราควรมีในทุกขณะของการวิ่งคือ ‘สมาธิและสติ’ เนื่องจากเราต้องระมัดระวังทั้งรถและคน ฟังเสียงร่างกายตัวเอง รู้ทันความคิดของตัวเอง เมื่อหยุดฟังตัวเอง และใช้ใจจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำ เราจะเกิดปัญญา ความเข้าใจในกิจกรรมที่ทำ
“สำหรับ สสส. และสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย รวมถึงภาคีเครือข่ายได้สนับสนุนให้คนไทยออกมาวิ่ง ไม่ว่าจะวิ่งที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ หรือจะร่วมวิ่งกับกลุ่ม ซิตี้รันคลับ (City Run Club) โดยทางกลุ่มจะวิ่งเดือนเฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งมีเส้นทางการวิ่งตามที่กลุ่มกำหนด โดยเดือนพฤษภาคม ที่เป็นเดือนของการวิ่งสมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา ก็จะมีการวิ่งไปยังวัดต่างๆ ด้วย” อ.ณรงค์ ให้ข้อมูล
– วิ่งสมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา –
วันที่ 29 พฤษภาคม 2561 ที่จะถึงนี้ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในการการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยการปฏิบัติบูชา สสส.จึงร่วมกับ สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครือข่ายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จัดงาน “เดิน-วิ่ง สมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา ครั้งที่ 17” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนนำการปฏิบัติ “สมาธิ” มาประยุกต์ใช้กับการวิ่งในการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง
สำหรับปีนี้ปล่อยตัวจากสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ วิ่งผ่าน 3 สวนสาธารณะ ได้แก่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) และสวนจตุจักร โดยมีค่าสมัครเพียง 200 บาท พร้อมเสื้อที่ระลึก มีระยะทางการวิ่ง 5 กม. และ 10 กม. (ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีเหรียญรางวัล ผู้เข้าเส้นชัย จะได้รับของที่ระลึกเป็นกระเป๋าคาดเอว) สามารถสมัครวิ่ง และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook https://www.facebook.com/runninginthemoment/
ถ้าเราสามารถทำสิ่งใดๆ ด้วยหลักธรรมโดยมีศีลเป็นพื้นฐาน กิจกรรมนั้น ๆ จะมีความสำเร็จอย่างงดงาม ดังนั้นการวิ่งจึงเป็นการออกกำลังกายโดยยึดหลักธรรม และมีจิตที่มุ่งมั่นตั้งใจในการวิ่งไปสู่เป้าหมาย