วิ่งด้วยกัน 123 มากกว่าได้วิ่ง คือเรามา ‘ด้วยกัน’

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


วิ่งด้วยกัน 123 มากกว่าได้วิ่ง คือเรามา 'ด้วยกัน' thaihealth


พีรพล มหาภาพ หรือ ต๋อม  อายุ 32 ผู้พิการทางสายตาหนึ่งใน นักวิ่งในงาน "วิ่งด้วยกัน ONE TWO THREE กรุงเทพมหานคร" งานวิ่งที่จัดขึ้นเพื่อให้คนพิการและคนปกติวิ่งด้วยกัน เล่าว่า ตนเข้าร่วมงานวิ่งนี้เป็นครั้งที่ 3 รู้จักกิจกรรมนี้ผ่านทางเฟสบุ๊ค "เราเลื่อนมาเจอกลุ่มวิ่งด้วยกัน เห็นคนพิการหลายคนออกไปวิ่ง ทำให้ตนอยากออกจากบ้าน ตอนนั้นยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าสวนลุมพินีอยู่ที่ไหน  แต่ขอให้ได้ไปก่อน เพราะใจเริ่มมา"


เริ่มจากการอยากออกกำลังกายเล็กๆ ในวันนั้นทำให้ตนวิ่งมาไกลจนถึงวันนี้ ซึ่งในงานวิ่งด้วยกันแต่ละครั้งก็จะมีการจับคู่กับไกด์รันเนอร์ บางครั้งก็ นัดกันออกไปซ้อมสร้างความคุ้นเคยกันบางก่อนถึงวันจริง ที่ผ่านมาการวิ่งในแต่ละครั้งตนรู้สึกดีใจ ภูมิใจมาก มากกว่านั้นยังได้มิตรภาพจากคนแปลกหน้าจนกลายมาเป็นเพื่อน บนเส้นทางมีแต่รอยยิ้มและกำลังใจ เราเป็นกำลังใจให้เขา เขาก็เป็นกำลังใจให้เราด้วย มาถึงตรงนี้ตนจึงอยากให้สังคมเปิดโอกาสและมองว่าคนพิการก็มีศักยภาพเหมือนคนปกติทั่วไป "พวกเราสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คิด และที่สำคัญอยาก เชิญชวนให้คนพิการก้าวออกมาจากกรอบที่ถูกสังคมตีเอาไว้ ออกมาร่วมวิ่งกับพวกเรา ครั้งแรกมันอาจจะยาก ในการเริ่ม แต่เมื่อทำได้แล้วมันจะเปลี่ยนโลกทั้งใบของเราไปเลย"


"วิ่งด้วยกัน ONE TWO THREE กรุงเทพมหานคร" เกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย บริษัทชูใจ กะ กัลยาณมิตร จำกัด และบริษัท กล่องดินสอ จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของ บมจ.กรุงไทย-แอคซ่า ประกันภัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,800 คน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้พิการทุกประเภท


วิ่งด้วยกัน 123 มากกว่าได้วิ่ง คือเรามา 'ด้วยกัน' thaihealth


อีกหนึ่งในนักวิ่งของงานคนสำคัญ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุน สสส. เผยความรู้สึกว่า "สิ่งที่ผมได้จากการมา งานวิ่งในครั้งนี้คือ ผู้พิการทุกคนมีความสุข ที่ได้ออกกำลังกาย ได้วิ่ง ได้ทำกิจกรรมเหมือนคนปกติทั่วไป สิ่งที่สัมผัสได้นอกจากผู้พิการทุกคนในงานนี้จะมีความสุขแล้ว พวกเราไกด์รันเนอร์ก็มีความสุขไม่แพ้กัน และสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากไม่มีความร่วมมือระหว่าง สสส. บริษัท กรุงไทยแอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด และเครือข่ายสมาชิกร่วมกันจัดขึ้น ทั้งนี้ได้มีการพูดคุย กับทาง สสส. เพื่อที่จะขยายงานวิ่งใน รูปแบบนี้ในประเทศไทยให้มากขึ้นในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการสนับสนุนของรัฐบาลในการเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้ มีโอกาสใช้ชีวิตและออกกำลังกายร่วมกับคนทั่วไป เพื่อสร้างความเสมอภาคและ เท่าเทียมกันในสังคม" รองนายก กล่าว


ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ สสส.ว่า งานวิ่งด้วยกัน 123 ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมรูปแบบพิเศษที่เปิดโอกาสให้คนพิการได้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างหลากหลาย และเป็นหนึ่งในกิจกรรมวิ่งของ สสส. ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย


วิ่งด้วยกัน 123 มากกว่าได้วิ่ง คือเรามา 'ด้วยกัน' thaihealth


"สสส. ได้พัฒนางานวิ่งไปด้วยกัน  123 มาตลอดหลายปี จนตอนนี้มีองค์ความรู้ ในการจัดงานว่าจะต้องมีการเตรียมการพิเศษอย่างไร จะต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับผู้พิการ ซึ่งในอนาคต สสส.อยากจะขยายงานวิ่งด้วยกันให้เข้าไปสู่งานทั่วไป เราเองก็กำลังชวนเจ้าของสนามที่มีความพร้อมให้สอดแทรกเรื่องนี้ไปด้วย และเมื่อโอกาสถูกเปิดกว้างขึ้นในอนาคตเราอาจจะเห็นสนามวิ่งแบบนี้เป็น 10 หรือ 100 สนาม  ยิ่งไปกว่านั้น สสส. ยังมีความพยายามที่จะขยายรูปแบบงานวิ่งนี้ร่วมกับทางสหประชาชาติ เพื่อให้นำไปใช้ในต่างประเทศ ด้วยองค์ความรู้ที่ตั้งต้นมาจากประเทศไทย"


วิ่งด้วยกัน 123 มากกว่าได้วิ่ง คือเรามา 'ด้วยกัน' thaihealth


ในส่วนของนักวิ่งที่มาร่วมงานไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือไกด์รันเนอร์ต่างล้วนมีบทบาทที่สำคัญไม่แพ้กัน อาทิ กิตติศักดิ์วงศ์ไชย หรือ ปาล์ม อายุ 21 ปี ที่ได้ร่วมเป็นไกด์รันเนอร์ เล่าว่า ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานวิ่งนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว จากการชักชวนของเพื่อนรุ่นน้องที่เป็นคนพิการ ต้องยอมรับว่าครั้งแรกที่มาเข้าร่วมตนไม่ได้รู้สึกพิเศษหรือมีความรู้เกี่ยวกับคนพิการเลย แต่พอได้มาวิ่งกับคู่ของตัวเองแล้วทำให้เราตัดสินใจสมัครมาเป็นไกด์รันเนอร์อีกครั้ง เพราะสิ่งที่ได้จาก งานวิ่งนี้คือ เราได้ใกล้ชิด พูดคุย และเข้าใจผู้พิการที่เป็นคู่วิ่งของเรามากขึ้น


"งานวันนี้ในแง่ของรูปแบบมัน แตกต่างจากงานวิ่งปกติทั่วไปอยู่แล้ว เพราะเรามีคู่ในการวิ่งที่มีความบกพร่องในร่างกาย เราต้องคอยดู คอยช่วย คอยสนับสนุน มันอาจจะไปไม่เร็วเหมือนเราวิ่งคนเดียว แต่หากเราวิ่งไปพร้อมกับเขา มันจะช่วยทำให้เขาไปได้ไกล มากขึ้น หรือข้ามขีดจำกัดที่เขาเคย ซ้อมมา ผมจึงอยากเชิญชวนทุกคนให้ มาร่วมเป็นไกด์รันเนอร์ มาออกกำลังกายมาวิ่งร่วมกันไปกับคนพิการ เพราะการที่เราช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มันเหมือนเป็นยาชูกำลังชั้นเยี่ยม และจุดเริ่มต้นของความสุขสำหรับผมคือ เริ่มจากการเป็นผู้ให้นั่นเอง" ปาล์ม กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code