"วิทยา เลี้ยงรักษา" ชาวสวนผู้ปลูกมะพร้าวปลอดภัยให้เรากิน

ที่มา : เว็บไซต์ Greenery.org


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ Greenery.org ภาพถ่ายโดย มณีนุช บุญเรือง


'วิทยา เลี้ยงรักษา' ชาวสวนผู้ปลูกมะพร้าวปลอดภัยให้เรากิน thaihealth


หากใครได้เคยแวะเวียนมาตลาด Greenery Market หรือแวะเวียนไปตามตลาดสีเขียวอยู่บ่อย ๆ คงจะคุ้นหน้าคุ้นตากับคุณลุงวิทยา เลี้ยงรักษา คุณลุงหน้าตายิ้มแย้มในหมวกปีกกว้างแบบฉบับชาวสวน นั่งเฉาะมะพร้าวน้ำหอมไปพร้อม ๆ กับการตัดเตรียมหลอดต้นอ้อสด ๆ เพื่อให้เราใช้ดูดดื่มน้ำหวานบริสุทธิ์จากลูกมะพร้าวแทนการใช้หลอดพลาสติกที่จะกลายเป็นขยะย่อยสลายยากมากภาระ


ในฐานะลูกค้า เราติดใจรสหอมหวานเกินน้ำมะพร้าวร้านไหน และตื่นเต้นใจที่คุณลุงและคุณป้าคู่ชีวิตจริงจังกับการลดขยะจากการค้าขาย ร้านนี้ยืนยันที่จะไม่ใส่ถุงหรือแก้วพลาสติกที่สะดวกสบายมากกว่า หยิบยื่นช้อนที่ล้างใช้ซ้ำได้ให้เรายืนแคะเนื้อมะพร้าวที่รสสัมผัสกำลังได้ที่ และบอกเล่าว่าเปลือกมะพร้าวกองพะเนินเหล่านี้ จะถูกขนกลับไปเป็นปุ๋ยเติมรสชาติหอมหวานให้มะพร้าวรุ่นใหม่ในสวนของคุณลุงเอง


แต่ในฐานะคนเล่าเรื่อง เมื่อได้นั่งลงคุยกับลุงวิทยาอย่างจริงจัง เรากลับพบว่าวิธีคิดและวิธีทำของนักปลูกคนนี้น่าสนใจมากไปกว่าที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเปลี่ยนมาทำสวนมะพร้าวปลอดสารพิษท่ามกลางกระแสเกษตรเคมีเข้มข้น การพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติและสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการทดลองทำ การขันอาสาจัดการขยะเศษอาหารในตลาดสีเขียวอย่างจริงจังจริงใจ ไปจนถึงความตั้งใจในการส่งต่อเคล็ดลับให้เพื่อนเกษตรกร เพราะลุงวิทยาเชื่อว่า ยิ่งมีคนทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้นเท่าไหร่ ผลดีย่อมตกอยู่กับทั้งคนทำ ทั้งคนกิน และทั้งโลกใบนี้แน่นอน


ชาวสวนโดยกำเนิด ผู้เติบโตมากับความเปลี่ยนแปลง


'วิทยา เลี้ยงรักษา' ชาวสวนผู้ปลูกมะพร้าวปลอดภัยให้เรากิน thaihealth


เราอาจคิดกันว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมมักจะเกิดขึ้นชัด ๆ กับวิถีชีวิตในเมืองใหญ่หรือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แต่กับสังคมเกษตรกรรม การเปลี่ยนแปลงก็มีไม่ต่างกัน เพียงแต่เราอาจจะไม่เคยคิดถึงภาพชัด ๆ ของมันมาก่อน


ลุงวิทยา เล่าว่า เติบโตมาในครอบครัวชาวสวนที่มีเตี่ยเพียงคนเดียวที่มีอาชีพครู เพราะปู่ย่าตายายก็ทำสวนอยู่ในนครปฐมมาแต่ดั้งเดิม ลุงจึงโตมาในสวนแบบผสมผสานที่มีผลหมากรากไม้หลากหลาย เรียกว่าอยากกินอะไรก็มีให้กิน เหลือกินค่อยพายเรือออกไปขายที่ตลาด เพราะเพื่อนบ้านทุกคนก็เป็นชาวสวนมีของอร่อยเหลือกินเหลือใช้เหมือนกัน จนเมื่อคุณลุงโตมาอีกหน่อย ก็พบว่าแม่และเพื่อนบ้านเริ่มปลูกผักอย่างผักบุ้ง ถั่วฝักยาว และพืชล้มลุกอื่น ๆ เพื่อขาย และขยับขยายจากตลาดใกล้ ๆ บ้าน เป็นการเหมารถไปขายกันเองที่ปากคลองตลาดในยุคที่ยังไม่มีตลาดสี่มุมเมืองหรือตลาดไท เป็นการปลูกเองขายเองแต่เน้นผลิตเพื่อขายมากขึ้น


“แต่ไม่นาน เราก็เริ่มมีพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง เหมือนในเมืองเริ่มต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น ชาวสวนก็เริ่มผันตัวเอง ปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้นไปด้วย แม่ผมคิดว่าปลูกผักต้องขยัน หมดฤดูไว ต้องปลูกใหม่ตลอด จึงเริ่มหันมาปลูกผลไม้ที่อายุยืน ปลูกส้มคั้นน้ำ ปลูกองุ่น ปลูกฝรั่งเวียดนาม ฝรั่งกิมจู ชมพู่เพชรสายรุ้ง จนแถวบ้านเราก็เริ่ม ๆ ปลูกเป็นการค้ากัน”


ลุงวิทยาไล่เรียงความเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยเช่นเดียวกับการเติบโตของเด็กหนุ่มที่เรียนหนังสือไปด้วย ช่วยงานในสวนไปด้วยจนชำนาญ เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่และครั้งใหญ่เมื่อปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเริ่มเข้ามาในสวน จากสวนปู่ย่าที่ไม่เคยใช้ยาใส่ปุ๋ย กลับมีร้านปุ๋ยเข้ามาในชุมชน เกษตรกรเพื่อนบ้านเริ่มใช้และบอกกันปากต่อปากเพราะเห็นชัด ๆ ว่าพืชโตเร็ว รสชาติดี และเห็นผลไว แม่ของลุงวิทยาเองก็ไม่รีรอที่จะใช้เช่นเดียวกัน


“แม่เป็นคนหัวสมัยใหม่หน่อย ตอนปลูกส้มก็ปลูกก่อนเขา ปลูกฝรั่งก่อนเขา พอหลัง ๆ เริ่มมีคนอื่นปลูกเยอะเข้า เราก็เลยหันไปปลูกกล้วยไม้ เพราะตอนนั้นคนยังปลูกน้อย มีบริษัทส่งออก แต่เคมีก็เข้ามาเต็มตัวด้วย” ลุงวิทยาบอกเล่าถึงวันที่ความเปลี่ยนแปลงเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิต


วิถีเคมีที่เดินทางมาถึง


'วิทยา เลี้ยงรักษา' ชาวสวนผู้ปลูกมะพร้าวปลอดภัยให้เรากิน thaihealth


“พอเริ่มปลูกกล้วยไม้ เราลืมภาพเกษตรดั้งเดิมที่ผมเคยเห็นว่าเมื่อก่อนปู่ย่าปลูกไว้อย่างไร ภาพนั้นหายไปสิ้นเชิงเลย” ลุงวิทยาเล่าถึงช่วงเวลานั้นโดยไม่มีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้าเหมือนเก่า และย้ำว่าจากที่ใช้ปุ๋ยยาเล็ก ๆ น้อย ๆ ควบคู่กับปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ในสวนผลไม้ การทำสวนกล้วยไม้คือการใช้สารเคมีอย่างจริงจัง “จริง ๆ ตอนนั้นก็เริ่มรู้แล้วว่าตัวเองแพ้ยาฆ่าแมลง เพราะบังเอิญมีนักศึกษาเขามาทำวิทยานิพนธ์ เขาให้เราสาธิตวิธีการพ่นยากล้วยไม้ แล้วก็ตรวจเลือดก่อนและหลังใช้ยา เราเป็นคนผสมยาอยู่ที่จุดผสมยา คนงานก็เป็นแผนกพ่นยาในสวน ก็คิดว่าเราคงไม่ได้เป็นอะไร เพราะไม่ได้ไปอยู่ที่ละอองยา แต่พอตรวจเลือดหลังจากที่ทำงานเสร็จ ผลของยาฆ่าแมลงที่อยู่ในเลือดเรามากกว่าคนอื่น ผมก็ถามว่าเพราะอะไร เขาก็บอกว่าจุดผสมยานี่เป็นจุดที่เข้มข้น เราจึงได้รับเพียว ๆ กว่าคนอื่น”


แม้จะไม่ได้เปลี่ยนฉับพลันทันที แต่ลุงวิทยาก็เริ่มมองหาลู่ทางขยับขยายเพื่อหนีสารเคมีที่เริ่มส่ออาการวิงเวียนศีรษะมากขึ้น หลังจากลองไปค้าขาย ทำร้านอาหาร และลองเพาะเห็ดเป็นการค้าที่ใช้สารเคมีน้อยลง ก็พร้อม ๆ กันกับธุรกิจสวนกล้วยไม้เริ่มประสบปัญหาแรงงาน และสวนมะพร้าวน้ำหอมก็เริ่มได้รับความสนใจในย่านนั้น ลุงเห็นว่าศัตรูตามธรรมชาติของมะพร้าวไม่มี และดูเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก จึงเริ่มเปลี่ยนสวนกล้วยไม้เป็นสวนมะพร้าว แต่เมื่อกลายเป็นพืชเชิงเดี่ยวที่ปลูกรวมกันเยอะ ๆ พอถูกบำรุงให้งอกงามมาก ๆ ก็จะเรียกแมลงมาโดยธรรมชาติเช่นกัน การต้องกลับมาใช้ปุ๋ยเคมีอีกครั้งจึงกลับมา


“ชาวสวนมะพร้าวจะใส่ปุ๋ยเคมีกันหนึ่งครั้ง หลังจากที่ตัดผลไปแล้วเพื่อเร่งความหวาน หรือใส่เพื่อเร่งให้ติดผลต่อเนื่อง แล้วพอต้นมะพร้าวงาม พืชงาม แมลงก็จะตามมา มะพร้าวก็เลยจำเป็นต้องพ่นยาฆ่าแมลง หน้าดินก็ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ผลก็คือสารเคมีจะดูดขึ้นไปผสมกับผลผลิต แล้วก็ส่งมาให้เรากิน”


'วิทยา เลี้ยงรักษา' ชาวสวนผู้ปลูกมะพร้าวปลอดภัยให้เรากิน thaihealth


“พอไม่มีหญ้า ตัวห้ำตัวเบียนซึ่งอาศัยอยู่ที่หญ้าก็จะไม่มีที่อยู่ แมลงที่เป็นศัตรูพืชก็จะมีเยอะกว่า มันก็เลยทำลายต้นมะพร้าวที่เราปลูก ยิ่งต้องมีการใช้ยาฆ่าแมลงมาเสริม อย่างหนอนหัวดำที่กินใบมะพร้าว มันจะกินเนื้อเยื่อบริเวณผิวของใบมะพร้าว ทำให้ใบเป็นหลอดให้หนอนอยู่ข้างใน แล้วต้นของมะพร้าวจะแห้งไปเป็นสวน ๆ เลย กำจัดยากมาก วิธีกำจัดคือเอาสารเคมีฝังไปในต้นของมะพร้าว เสร็จแล้วมันก็จะดูดยาตัวนี้ขึ้นไปฆ่าหนอนที่ใบ ผลผลิตมันก็คงจะได้รับยาตัวนี้ไปด้วย จริง ๆ เวลาใส่ยาตัวนี้ เขาก็ให้เว้นการเก็บผลผลิตในระยะเวลาหนึ่ง แต่เราจะแน่ใจได้ยังไงว่า เขาจะตัดมาขายในตลาดหรือเปล่า”


ลุงวิทยาบอกหนักแน่นว่านี่คือการใช้สารเคมีทั้งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะต้นตอหลักของปัญหาคือการที่เราไปทำลายระบบนิเวศจนเสียสมดุลเองต่างหาก


ห้องทดลอง (ปลอดสาร) ในสวนมะพร้าว


'วิทยา เลี้ยงรักษา' ชาวสวนผู้ปลูกมะพร้าวปลอดภัยให้เรากิน thaihealth


จนกระทั่งยุครัฐบาลประกันราคาข้าว เกษตรกรส่วนใหญ่เปลี่ยนสวนผลไม้เป็นนาข้าวกันหมด แต่ลุงวิทยาเห็นต่างเพราะเชื่อว่าราคาข้าวน่าจะตกในอีกไม่กี่ปี ถ้าจะกลับมาปลูกมะพร้าวใหม่ก็คงเสียเวลาอีกหลายปี จึงขอกันสวนมะพร้าวส่วนหนึ่งจากแม่และเริ่มงานทดลองของตัวเองดูสักตั้ง!


“พอเรามีอิสระในการทำ ก็คิดว่าเราจะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า จะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว พอเราไม่ใช้ ก็เป็นธรรมดาที่หญ้ามันจะขึ้นมาทีละต้นสองต้นจนหนาตาขึ้น เราก็เริ่มเลี้ยงผักตบชวาในร่องสวน เริ่มมีแหน มีดอกจอก มีผักกูด ที่เมื่อก่อนมันโดนยาปุ๊บ มันก็จะหายไป ต้นกูดมันไวต่อยาฆ่าหญ้ามาก แต่พอเราไม่ใช้มันก็กลับมาจนเต็มสวน”


ไม่เพียงแต่พืชพันธุ์ที่กลับคืนมา หลังจากเปลี่ยนสวนให้ปลอดเคมี สวนมะพร้าวของลุงวิทยาก็ได้ต้อนรับหิ่งห้อยระยิบระยับ แมลงปอปีกบางที่จะอาศัยอยู่ในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ เลยรวมไปถึงสัตว์นานาชนิด ไม่ว่าจะนกกระปูด หรือกระทั่งตัวนากที่เคยหายไปจากพื้นที่ ก็มาผลุบ ๆ โผล่ ๆ อยู่ในสวนของคุณลุง ยืนยันว่าผลการทดลองแรกของการพยายามฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมดุล เกิดเป็นผลสำเร็จ


“พอผักตบชวาเต็มร่อง ผมก็เริ่มดึงมาเป็นปุ๋ย จากที่เคยต้องไปขนเศษวัชพืชต้นไม้ใบหญ้าจากนอกแปลง มันเสียเวลาเยอะกว่า เมื่อเรามีแหล่งวัตถุดิบในสวน ก็แค่ยกขึ้นจากในน้ำมาไว้ที่โคนต้นมะพร้าว เป็นปุ๋ยให้กับต้นมะพร้าวโดยไม่เสียสตางค์”


สมมติฐานต่อมาของคุณลุงคือการพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของต้นมะพร้าว จากปกติที่ชาวสวนมะพร้าวจะตัดแค่ใบแห้งทิ้ง เก็บใบเขียวไว้ แต่คุณลุงก็ตั้งคำถามว่าทำไมเวลาทำสวนกล้วย เขาบอกให้เหลือใบแค่ 8 ใบต่อต้น จะได้ลูกกล้วยที่อ้วนสมบูรณ์ แล้วทำไมจึงไม่ลองนำมาประยุกต์ใช้กับมะพร้าว ลุงวิทยาเลยลองตัดใบมะพร้าวเขียว ๆ ที่ชาวสวนส่วนใหญ่เก็บไว้เป็นทางให้มะพร้าวนั่ง รับน้ำหนักไม่ให้ลูกหนัก ๆ ตกลงมา แต่พอทดลอง ลุงพบว่าลูกมะพร้าวก็เรียนรู้ที่จะสร้างงวงเพื่อรับน้ำหนักของตัวเองได้ในที่สุด


“กว่าเราจะได้กินมะพร้าว ตั้งแต่ดอก มาเป็นลูกเล็ก มาจนเรากินได้ มันใช้เวลาเกือบปี ค่อย ๆ สร้างน้ำสร้างเนื้อในลูก มันต้องการอาหาร ผมปอกมะพร้าวที่โคนต้นเลย เพราะขนมะพร้าวไปขายได้ง่ายกว่า ก็เลยเริ่มเอาเปลือกมะพร้าวกองอยู่ที่โคนต้นให้มันเป็นปุ๋ยแล้วลองสังเกตดู


'วิทยา เลี้ยงรักษา' ชาวสวนผู้ปลูกมะพร้าวปลอดภัยให้เรากิน thaihealth


“เปลือกหรือผลผลิตของต้นไม้ มันคือปุ๋ยที่ดีที่สุดของเขา”


ลุงบอกว่า ผักตบชวา เศษใบไม้ในสวน เปลือกมะพร้าวที่โคนต้นช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น หญ้าจึงขึ้นปกคลุมเต็มไปหมด เมื่อสร้างความเขียวขจีได้ในระดับนั้น คุณลุงก็พบกับความเปลี่ยนแปลง


“3 ปีแรก ผมชิมมะพร้าว เรารู้เลยว่ามะพร้าวรสชาติดีขึ้น เมื่อก่อนตอนมะพร้าวเนื้ออ่อน ๆ เป็นวุ้น น้ำจะติดเปรี้ยว พอเป็นเนื้อสองชั้นขาวทั้งลูก น้ำถึงจะหวาน เราก็ต้องเลือกแต่ลูกสองชั้นมาขาย ลูกค้าจะได้ไม่ติด แต่พอ 3 ปี แค่มะพร้าวเนื้อวุ้น น้ำก็หวานแล้ว เราจึงเริ่มมั่นใจว่ามะพร้าวของเรานี่แตกต่างจากเดิม แตกต่างจากคนอื่น 


“มาตรฐานของเกษตรอินทรีย์เขาบอกว่าผักจะใช้เวลาปรับตัวหลังจากงดใช้สารเคมีนี่ประมาณ 3 เดือน ไม้ผลจะประมาณ 1 ปี  8 เดือน แต่เท่าที่ผมสังเกต มะพร้าวของผมใช้เวลาประมาณ 3 ปี ถึงจะดี ระยะเวลามันประมาณนี้ดินถึงจะกลับมามีชีวิต พอตอนนี้ ไป ๆ มา ๆ มัน 8 ปีแล้ว เราก็มาสังเกตได้ว่าเนื้อมะพร้าวเรานุ่มขึ้น มะพร้าวลูกใหญ่ขึ้น แต่ก่อนผมจะตัดมะพร้าวทะลายนึงนี่ยากมาก เพราะว่าช่วงเวลาที่เนื้อและน้ำกำลังดี มันจะมีช่วงเวลาแค่ 7-10 วัน ก่อนหน้านั้นหรือหลังจากนั้นเนื้อจะแก่ไปหรืออ่อนไป แต่ตอนนี้ผมตัดมะพร้าวได้ถึง 2 ทะลาย เพราะทะลายพี่กับทะลายน้องเนื้อใกล้เคียงกันมาก บางต้นได้ถึง 3 ทะลาย ทะลายพี่เนื้อหนาแต่ยังนุ่มอยู่ ทะลายน้องเนื้อเป็นชั้นครึ่งแล้ว แต่น้ำก็ทานได้”


คุณลุงบอกว่าเมื่อได้อาหารเต็มที่ ต้นมะพร้าวจึงสร้างเนื้ออร่อย ๆ ในลูกได้เร็วขึ้นและนุ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กัน และหากรอให้เติบโตตามธรรมชาติก็อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์เท่านี้ เพราะถ้ารอให้เกิดการทับถมของใบไม้กันเองอาจจะใช้เวลานาน


“เราช่วยธรรมชาติ ย่นระยะเวลาให้เขานิดหน่อย 8 ปีในการทำสวนมะพร้าวนี้จึงแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด และผมว่าไม่ใช่เฉพาะมะพร้าว ผลไม้ชนิดอื่น ถ้าทำแนวนี้ก็จะให้ผลเช่นเดียวกัน”


ความซื่อสัตย์และความซื่อ (ต่อ) สัตว์


หลายคนที่มีโอกาสไปเยี่ยมสวนมะพร้าวอันรกชัฏของของคุณลุง มักถามเป็นเสียงเดียวกันว่า “มีงูไหม” และคุณลุงมักจะพยักหน้าก่อนจะบอกว่างูในสวนของลุงใจดี!


นั่นเพราะลุงวิทยาเชื่อในการแบ่งปัน


'วิทยา เลี้ยงรักษา' ชาวสวนผู้ปลูกมะพร้าวปลอดภัยให้เรากิน thaihealth


“งูมันกลัวคนอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ได้คิดจะทำร้ายมัน มันก็ไม่กัดเราหรอก หรือกับสัตว์อื่น ๆ ในสวน เราก็ดูแลเขาด้วย คือผมพยายามเลือกเนื้อมะพร้าวที่เนื้อพอดีที่สุดมาให้ลูกค้า มันก็เหมือนเรากินเอง เราก็อยากได้มะพร้าวที่เนื้อพอดี จึงต้องเช็กดูว่าทะลายไหนที่เราไม่มั่นใจเราก็จะผ่าลอง ถ้ามันแข็งไปเราจะผ่าแล้วก็เอาทิ้งไว้ให้หนูในสวนกิน ชาวสวนมะพร้าวมักจะเป็นศัตรูกับหนู แต่พอเขาได้กินอิ่ม เขาก็ไม่มากินมะพร้าวของเรา แล้วเราก็ไม่เห็นว่าเขาจะขยายพันธุ์เยอะขึ้น มีนก มีปลา เราก็ให้อาหารเขา มันเหมือนเราได้ทำความเข้าใจกับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสวน อยู่กันอย่างเป็นธรรมชาติ”


“เมื่อวันก่อนมีคนที่มาเยี่ยมสวนบอกว่า เมื่อเราปลูกพืชผสมผสานในที่เดียวกัน มันจะเหมือนคอมพิวเตอร์ที่มีเน็ตเวิร์กอยู่ใต้ดิน มันจะสื่อสารกันแม้แต่เรื่องโรคแมลงหรือการแชร์อาหาร ก็ตรงกับสิ่งที่ผมคิดว่าพืชในสวนของเรามันอยู่แบบเกื้อกูลกัน” เจ้าของเครือข่ายสีเขียวเล่ายิ้ม ๆ ด้วยแววตาเปี่ยมสุข


ขยับสู่ตลาดสีเขียว เขยิบสู่ zero-waste


จากที่เคยขายมะพร้าวที่ปอกเหลือแต่กะลาในตลาดดอนหวาย คุณภาพที่แตกต่างทำให้คุณลุงเริ่มมองหาตลาดใหม่ และตลาดสีเขียวก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ นอกจากกระบวนการปลูกที่ปลอดสารเคมี จุดแข็งจุดขายอีกอย่างคือการนำผลมะพร้าวไปปอกโชว์ลูกค้าให้ดื่มกันแบบสด ๆ


'วิทยา เลี้ยงรักษา' ชาวสวนผู้ปลูกมะพร้าวปลอดภัยให้เรากิน thaihealth


“พอเรารู้ว่าเปลือกมะพร้าวเป็นอาหารที่ดี เราก็พยายามจะเอาเปลือกกลับไปกองที่โคนต้นเหมือนเดิม บางทีมีเศษขยะในตลาดเราก็ขนกลับไปด้วย ผมเคยไปออกงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แล้วก็คิดว่าจริง ๆ แล้วลูกค้ากลุ่มสิ่งแวดล้อมกับกลุ่มอินทรีย์ก็คือกลุ่มเดียวกัน มีความคิดคล้าย ๆ กัน ถ้าเรามีใจที่ปลอดสารเคมีอยู่แล้ว คนที่มาแอบแฝงใช้ตลาดเราเพื่อหวังผลในด้านการค้าขาย ถึงเวลาลูกค้าจะรู้เอง หรือถ้าใจเราไม่รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มันก็ไม่ยั่งยืนหรอก


“ถ้าเราอ้างตัวว่าเราทำอินทรีย์ แต่เรายังใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย ยังสร้างพลาสติกก็คงจะไม่ใช่แล้ว”


การขายน้ำมะพร้าวของลุงวิทยาจึงไม่เคยมีถุงใส่ ตักน้ำตักเนื้อให้ลูกค้ากลับไปใส่ตู้เย็นดื่มได้ง่าย ๆ นอกจากจะไม่อยากตามใจลูกค้าด้วยการสร้างขยะ ลุงยังกังวลว่าการที่น้ำสัมผัสกับอากาศนอกกะลา คุณค่าและรสชาติก็จะเปลี่ยนไป ลุงจึงเฉาะมะพร้าวเสิร์ฟให้เราสด ๆ ตัดหลอดจากก้านต้นอ้อใช้แทนหลอดพลาสติก มีช้อนสแตนเลสล้างใช้ซ้ำได้มาให้แคะเนื้อมะพร้าวนุ่ม ๆ กิน อีกทั้งยังนำลอบดักปลามารณรงค์ให้คนเริ่มต้นแยกขยะขวดพลาสติกหรือกระป๋องเพราะเห็นได้ชัดเจนว่าควรทิ้งอะไร ซึ่งจุดประกายให้หลายตลาดสีเขียวจริงจังกับการแยกขยะมากขึ้น คำว่ากรีนต้องอยู่ในใจของคนจัดตลาดและอยู่ในใจของลูกค้าด้วย ตอนแรก ๆ ก็เหมือนกับเราก็อยากขาย อยากบริการลูกค้า ใส่ถุงกันน้ำมะพร้าวหยด ให้ทิชชู่กันมือเปื้อนอีก แต่เดี๋ยวนี้ถุงก็ไม่มีใส่ให้ ต้องพกมาเองนะ


“เราชินกับคำว่าลูกค้าคือพระเจ้า แต่ตอนนี้ เราก็ต้องบอกว่าเราคือพระเจ้าแล้วล่ะ เพราะเราทำอาหารดีที่สุดมาให้คุณแล้ว คุณต้องช่วยกันลดขยะด้วย”


สุขของคนปลูก


'วิทยา เลี้ยงรักษา' ชาวสวนผู้ปลูกมะพร้าวปลอดภัยให้เรากิน thaihealth


ถามถึงความพึงพอใจในฐานะเจ้าของสวนมะพร้าวคุณภาพและเจ้าของแนวคิดที่พลิกสวนจนสำเร็จ ลุงวิทยาบอกว่ายังอยากส่งต่อแนวคิดให้มากไปกว่านี้ เพื่อเพิ่มผลผลิตดี ๆ ให้คนกินมากขึ้น โดยไม่คิดว่าจะต้องหวงแหนหรือขายวิชาแต่อย่างใด


“ผมคิดว่าถ้าเกษตรกรทำแบบนี้ เราก็ไม่ต้องใช้สารเคมีแล้ว แค่ดูแลเท่าที่จำเป็นมันก็จะมีความมั่นคง เป็นความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย จริง ๆ น้ำมะพร้าวมีประโยชน์มาก และก็ยังมีคนต้องการอีกเยอะ อย่างในประเทศที่ปลูกเองไม่ได้ ญี่ปุ่นหรือยุโรป ส่วนประเทศที่เขาปลูกได้ อย่างคนศรีลังกา บราซิล ฟิลิปปินส์ เขามากินก็ยังชมว่ามะพร้าวเราอร่อย แสดงว่าน่าจะเป็นผลผลิตที่ต่างชาติถูกใจ เพราะมันไม่ใช่แค่เนื้อพอดี น้ำอร่อย แต่มันได้ความบริสุทธิ์ซึ่งปลอดสารเคมีจริง ๆ


“ผมภูมิใจในความเป็นธรรมชาติ ผมคิดว่ามันพิเศษที่สุดแล้ว”


ในอีกด้าน คุณลุงยังยืนยันว่ามาตรฐานอินทรีย์ยังไม่เท่ากับความตั้งอกตั้งใจที่จะปลอดเคมีจริง ๆ เพราะเมื่อความตั้งใจชัดเจน การลงมือทำไม่ได้ยากเพราะเคล็ดลับคือการสร้างระบบนิเวศให้ดี


“พอได้มาทำเกษตรอินทรีย์ มันมีเป้าหมายซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเลยว่า ผมมีหน้าที่ที่จะต้องทำอาหารปลอดภัย”


“ความตั้งใจมากไปกว่านี้ ผมคิดว่าเราปลูกผลไม้ปลอดภัยและได้ราคาดีแล้ว แต่ถ้าคนอื่นได้ทำตามผม ก็ถือว่าผมสำเร็จแล้ว เพราะผมคนเดียวคงไม่อาจทำมะพร้าวทั้งแผ่นดินให้ทุกคนได้กินได้”


คุณลุงยืนยันถึงความมุ่งมั่น โดยมีรอยยิ้มใต้หมวกสานชาวสวนเป็นพยานยืนยันอีกหนึ่งเสียง

Shares:
QR Code :
QR Code