‘วิชาชีวิต’ ว่าด้วยการค้นหาด้านสว่างของชีวิต
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
พ่อแม่สมัยเก่าจะรู้สึกเจ็บปวดมาก เมื่อลูกไปทำความไม่ดีแล้วมีคนมาพูดว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอน”แต่พ่อแม่สมัยใหม่ ยุคไอที วันนี้ จะรู้สึกไม่เจ็บปวดเท่าไร แต่จะรู้สึกเจ็บใจมากกว่า เมื่อลูกถูกคนด่าว่า พ่อแม่ไม่สั่งสอน เพราะ พ่อแม่รุ่นใหม่จะพูดว่า “พ่อแม่สั่งสอนแล้ว แต่มันไม่จำไม่เอาไปปฏิบัติ”
“วิชาชีวิต” จะเป็นวิชาใหม่ที่ควรปลูกฝังให้กับเด็กๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนยุคใหม่ เพื่อให้พวกเขารอดพ้นจากความผิดพลาดในการดำเนินชีวิต
เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อให้เด็กและเยาวชน ทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมถึงเด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาดในชีวิต ได้เรียนรู้ วิชาชีวิต ด้วยการจัดเสวนาในหัวข้อ “วิชาชีวิต…ทางรอดเด็กและเยาวชน” ณ ลานกิจกรรมเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเป็นวัยของการแสวงหาอัตลักษณ์ของตนเอง พวกเขาจะมองหาต้นแบบของผู้ใหญ่ที่ตนเองต้องการจะเป็น และยังเป็นวัยแห่งความท้าทาย การที่ผู้ใหญ่คอยห้ามในสิ่งต่างๆ ยิ่งทำให้เด็กไม่เชื่อฟัง ซึ่งภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ที่พบในปัจจุบันมีความหลากหลายและซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม ทักษะชีวิตที่เคยเรียนในอดีตจึงไม่ใช่ประสบการณ์ที่จะนำมาประยุกต์ใช้และรับมือได้ในวันนี้ การจัดเสวนา ถึงเรื่อง วิชาชีวิต ในครั้งนี้ จะเป็นตัวช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแบบบูรณาการให้เด็กและเยาวชนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในการสอนวิชาชีวิตว่า วิชาดังกล่าวคือการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว เรียนรู้ข่าวสารสังคมต่างๆ ทั้งในเรื่องที่ดีและไม่ดี โดยให้เด็กในบ้านวิเคราะห์ถึงสาเหตุปัจจัยของเหตุการณ์ รวมถึงการดูภาพยนตร์เพื่อวิเคราะห์ การตัดสินใจทางเลือก การวิเคราะห์ผลของการตัดสินใจนั้นว่าจะส่งผลอะไรต่อไปในชีวิต โดยเด็กๆ ได้บอกกับตนว่า หากได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ก่อนวันที่กระทำความผิด พวกเขาเชื่อว่าตนเองจะไม่กระทำแบบนั้น ซึ่งบ้านกาญจนาภิเษกเป็นเพียงพื้นที่ปลายน้ำ มีหน้าที่เยียวยาปลายเหตุ แต่โรงเรียนและบ้านคือต้นน้ำ ถ้าหากนำวิชาชีวิตไปอยู่ที่ต้นน้ำได้ จะก่อให้เกิดการเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพ
ความผิดพลาดในชีวิต ไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดกลับตัวกลับใจได้ทัน หรือหากคิดได้ก็อาจจะสายเกินไป เพราะการกระทำความผิดนั้นง่ายเพียงนิดเดียว แต่ผลกระทบที่ตามมานั้นยากเกินจะคาดเดา วิชาชีวิตจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะการเอาตัวรอดในสังคมให้กับเด็กไทยยุคใหม่ ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนผู้ใหญ่ตามไม่ทัน เด็กและเยาวชนควรมีภูมิต้านทานที่อย่างน้อยจะช่วยให้เด็กฉุกคิดถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการกระทำของตนเอง เพราะชีวิตของคนทุกคนไม่ได้มีแต่ด้านมืด แต่ยังมีด้านสว่างที่รอให้มีใครมาจุดประกาย การเรียนรู้ทักษะวิชาชีวิตจะช่วยเป็นเชื้อเพลิงในการจุดไฟให้สว่าง ก่อนที่ความมืดจะครอบงำสติ และช่วยชี้ทางออกให้กับทุกปัญหาที่เด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญอยู่
น้องบี (นามสมมติ) จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เล่าถึงอดีตที่โตมากับสภาพแวดล้อมของการพนัน ทำให้ตนมีนิสัยรักสนุกจากการเสี่ยงดวง โดยเริ่มออกปล้นเพื่อหาเงินมาเล่นพนันจนต้องมาอยู่ในสถานพินิจว่า หลังจากได้เรียนวิชาชีวิตที่บ้านกาญจนาฯ จากเดิมที่ไม่เคยสนใจคนในครอบครัว ได้เห็นข้อบกพร่องที่ตัวเองต้องแก้ไข จึงเริ่มหันมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีความต้องการดูแลคนข้างหลัง ดูแลพ่อแม่ เพราะในวันที่เข้าสถานพินิจ มีเพียงพ่อแม่ที่ยังสนใจเขาอยู่
นายจิตตพงษ์ ปักษี อดีตเด็กติดเกม เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ชีวิตในอดีตที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเองว่า ตนเคยติดเกมและตั้งใจที่จะเป็นเกมเมอร์มืออาชีพ โดยเล่นเกมติดต่อกันนานที่สุดเป็นเวลา 3 วัน หารายได้จากการเล่นเกม ส่งผลกระทบให้ไม่อยากเข้าสังคม เพราะเมื่ออยู่ในสังคมคนรอบข้างมักมองว่าตนเป็นเด็กเกเร เด็กติดเกม ยิ่งทำให้ตนหันเข้าสู่โลกแห่งความเสมือน เสพติดการเล่นเกมและมีเพียงสังคมในเกมที่คอยรับฟังปัญหา จนกระทั่งถูกคนแถวบ้านชวนออกไปทำกิจกรรมในชุมชน จึงเริ่มออกมาสู่โลกที่มีผู้คน ทำให้ครอบครัวและคนรอบข้างมองตนเองในทางที่ดีขึ้น จึงได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง ออกมาทำในสิ่งที่ดีและสร้างสรรค์ และอยากจะฝากบอกกับคนที่ติดเกมว่า ควรเล่นให้พอดี อย่าเล่นเกมจนลืมคนรอบข้างอย่ามองแต่ข้อดีโดยไม่ได้มองว่ามันส่งผลกระทบอะไรบ้าง ควรให้เวลากับทุกสิ่งทุกอย่าง และควรหาความพอดีของการเล่นเกมให้เจอ นี่แหละคือวิชาชีวิตที่ตนเองได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง
วันเยาวชนแห่งชาติปีนี้ การที่ สสส. ได้ร่วมมือกับหลายๆ หน่วยงาน สร้างแนวทางที่จะพัฒนาทักษะชีวิตของเยาวชนยุคปัจจุบันให้มีพลัง นอกจากจะดูแลภัยคุกคามกับเด็กและเยาวชนแล้ว ยังเป็นการเติมพลังที่จะช่วยสร้างสรรค์สังคมและแก้ปัญหาที่ผู้ใหญ่ส่งมอบมาให้กับเด็กและเยาวชน โดยลดทอนปัญหาให้เบาบางลงอีกด้วย