วิกฤติเพลงเพื่อเด็กกำลังสาบสูญ ครูเพลงเมืองดอกบัวรวมพลังรื้อฟื้น
ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน ดึงศิลปินแห่งชาติ พร้อมครูเพลงรุ่นลายคราม ร่วมกันพูดคุยเรียงร้อยเนื้อหาทุกข์สุขเด็กอีสาน ให้เป็นผลงานเพลงเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อตีแผ่และเตือนภัยสังคมในปัจจุบัน
เร็วๆ นี้ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก ม.รภ.อุบลฯ : ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน (ศสอ.) จัดเวทีพัฒนารูปแบบและเนื้อหารณรงค์สร้างกระแสความทุกข์สุขของเด็กและเยาวชนภาคอีสาน ดึงครูเพลงทั้งรุ่นลายคราม อาทิ พ่อพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ปูชนียบุคคลสำคัญด้านการแต่งเพลง พ่อฉลาด ส่งเสริม หรือ ป.ฉลาดน้อย ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2548 สาขาศิลปะการแสดง(หมอลำ) และนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ไฟแรงอีกหลายท่านมาร่วมงานอย่างคับคั่ง หวังเรียงร้อยเนื้อหาทุกข์สุขเด็กอีสานให้เป็นผลงานเพลงเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อตีแผ่และเตือนภัยสังคมในปัจจุบันผ่านเพลง
พ่อพงษ์ศักดิ์ ครูเพลงอาวุโส กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เพลงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนหายไปจากวงการเพลงไทยเป็นเพราะปัจจุบันวัฒนธรรมไทยที่เคยมีมาถูกความเจริญทำลายไป กระแสวัฒนธรรมยุคใหม่ไหลเข้ามาแทนที่จนเรียกว่าเป็น “โลกสำเร็จรูป” ไปแล้ว คือคนเรารับเอาวัฒนธรรมจากที่อื่นได้ง่าย ทำให้สิ่งดีงามเก่าๆถูกลืมเลือนไป เหมือนกับเพลงเด็กที่เคยมีไว้สอนลูกหลานก็ถูกทดแทนด้วยเพลงสองแง่สองง่าม เพลงผิดศีลธรรม และค่ายเพลงเองก็ตอบรับกับกระแสในแนวนี้เป็นอย่างดี เพราะเขามองเป็นแค่เรื่องธุรกิจ
ทางด้านพ่อฉลาด ส่งเสริม หรือ ป.ฉลาดน้อย ศิลปินแห่งชาติฯ กล่าวว่า อยากให้บริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นผู้ผลิตเพลงได้เห็นความสำคัญของเพลงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนและนำไปสอดแทรกในเพลงตลาดทั่วไปด้วย เพราะเพลงเนื้อหาดีๆ มักถูกร้องแต่อยู่ในโรงเรียนหรือสังคมที่ค่อนข้างแคบ ซึ่งไม่มีทางที่มันจะไปถึงผู้ฟังในระดับกว้างได้ หากไม่ผ่านบริษัททำเพลงยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ฉะนั้นในโลกของธุรกิจจึงควรทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง
ส่วนทางด้าน ผศ.ชื่น ศรีสวัสดิ์ นักวิชาการจาก ม.ราชภัฎอุบลราชธานี ได้นำงานวิจัยที่เริ่มทำไปแล้วบางส่วนมาเป็นข้อมูลประกอบในการสร้างเนื้อหาของบทเพลงมีทั้งเรื่องของ เซ็กส์ ยาเสพติด การทะเลาะวิวาท อาชญากรรม เด็กแว๊นซ์ และเด็กติดเกมส์ สิ่งเหล่านี้คือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน และยังมีอีกหลายมิติของปัญหาที่เป็นเรื่องซับซ้อนและละเอียดอ่อน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องนำข้อมูลที่ว่านี้ไปประกอบในบทเพลงเพื่อใช้เตือนสติให้สังคมด้วย
บรรยากาศของเวทีค่อนข้างคึกคัก มีผู้มาร่วมราว 40 คน โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มที่มีครูเพลงเป็นพี่เลี้ยงประจำกลุ่มเพื่อช่วยขัดเกลาเนื้อหาสาระที่ได้จากคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งพวกเขามีเรื่องราวที่พบเจอมามากมายและอยากแต่งเป็นเพลงแต่ไม่มีความพรสวรรค์ในเรื่องนี้ จึงต้องอาศัยนักแต่งเพลงมืออาชีพช่วยดึงเนื้อหาออกมาให้เป็นบทเพลง และเกินเป้าที่ผู้จัดวางไว้ว่าวันนี้เพียงแค่ได้โครงร่างของเพลงก็พอ เพราะมีเวลาค่อนข้างจำกัด แต่ทุกกลุ่มสามารถสังเคราะห์เนื้อหาออกมาจนเป็นเนื้อเพลงได้ ถึงขนาดบางกลุ่มสามารถแต่งทำนองและร้องเป็นเพลงได้แล้ว
ซึ่งหลังจากนี้ ทั้งหมดจะนำเพลงที่แต่งได้ในวันนี้ไปพัฒนาจนเป็นเพลงที่สมบูรณ์ แต่งทำนองและทำดนตรี โดยในอัลบั้มจะมีทั้งหมด 10 เพลงที่จะถูกแต่งขึ้นทั้งการมีส่วนร่วมจากคนทำงานในพื้นที่กับครูเพลง และจากการแต่งของครูเพลงเอง
ที่มา: ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน