“วาไทยฯ” รง.สีขาวต้นแบบลด ละ เลิกเหล้า
ยังมีคนที่ผีน้ำเมาเข้าสิงอีกจำนวนมากตะแบงเถียงว่า “กินเหล้าแล้วไม่เดือดร้อนใคร” หรือไม่ก็พูดเอาแต่ได้ว่า “ลงทุนกินมาขนาดนี้แล้วเลิกได้ไง”
คนเหล่านี้มักไม่สำนึกเลยว่าที่ยากจนข้นแค้นบ้านแตกสาแหรกขาด เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนตามมาด้วยหนี้สิน ขาดประสิทธิภาพในการทำงานขาดความเคารพนับถือไว้วางใจ แล้วก็ตกงานในที่สุด นี่คือความเดือดร้อนทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพราะคนเมา แล้วยังจะมาตะแบงบอกว่า “กินเหล้าไม่เดือดร้อนใคร” ได้ยังไงที่เอามาเป็นข้ออ้างว่าดื่มเหล้าเป็นหนทางแก้ปัญหา เพิ่มความสุข แก้ปวดเมื่อย คลายเครียดคงกลายเป็นเพียงข้ออ้างเพราะถูกผีน้ำเมาเข้าสิงเพราะไม่อาจตั้งสติเพื่อเอาชนะผีน้ำเมาได้ต่างหาก
ตรงกันข้ามมีคนอีกมากมายที่เคยถูกผีน้ำเมาเข้าสิงจนทำให้ทั้งตัวเอง ครอบครัว สังคมชาติบ้านเมืองเดือดร้อน เฉพาะอย่างยิ่งตัวเองและครอบครัวเดือดร้อนตามสภาพที่บอกข้างต้นตั้งสติตั้งใจต่อสู้เจ้าผีน้ำเมาค่อยๆ ลด ละ เลิกจนเอาชนะได้ วันนี้คนเหล่านั้นพร้อมครอบครัวดำเนินชีวิตบนความสุข บนความดีงาม บนความชื่นชมยกย่องเคารพนับถือ
ความดีงามกำลังเกิดขึ้นโดยมูลนิธิเพื่อนหญิง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวด้วยความห่วงใยกันและกัน จึงจับมือสหภาพแรงงานฯ เพื่อดำเนินโครงการโรงงานสีขาวลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในกลุ่มผู้ใช้แรงงานขึ้น
องค์กรเอกชนที่ถือว่าเป็นแกนนำในการทำโครงการโรงงานสีขาวลด ละ เลิกเหล้า เพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก คือบริษัท วาไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและส่งออกต่างประเทศ ต่อมาได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจคนไทย และนักธุรกิจชาวฮ่องกง ปัจจุบันมีคนงานประมาณ 700 คน ร้อยละ 95 เป็นผู้หญิง
นายวิทยา เลื่องลือวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ผู้บริหารบริษัทไทยวาฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องโรงงานสีขาว มีแนวคิดที่จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว เพราะสังเกตว่าคนงานไม่น้อยหมกมุ่นอยู่กับน้ำเมา สาเหตุมาจากคนงานไม่ค่อยได้ออกไปไหน จึงมักใช้เวลาว่างโดยการตั้งวงดื่มเหล้ากับเพื่อนร่วมงานที่บ้านเช่าหรือหอพักกันเป็นประจำ บางครอบครัวผู้นำครอบครัวก็ไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจว่าครอบครัวจะมีอะไรกินหรือไม่ ตกเย็นก็ต้องดื่มเหล้า กลางวันบางทียังไม่ถึงเที่ยงก็ดื่มเหล้าแล้ว
ยิ่งเวลามีงานจัดเลี้ยง เช่น งานปีใหม่ บริษัทจะให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับคนงาน คนงานก็จะดื่มเหล้ากันถึงขั้นเข้าปีกหามกลับบ้าน เมากันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย บางคนดื่มจนอาเจียน บางคนเมาร้องไห้พูดความในใจ เวลาไม่ดื่มเหล้าไม่กล้าพูดบางคนร้องไห้จนฟันปลอมหลุด ตอนเช้าก็มาถามหาฟันปลอมกับคนกวาดขยะในโรงงาน
พอเริ่มนำโครงการโรงงานสีขาวเข้ามาในระยะแรก เกิดกระแสของคนงาน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่หนึ่ง ไม่สนใจ ไม่ให้ความร่วมมือ กลุ่มที่สองสมัครใจหรือสนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรม
ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าหากลุ่มนี้ก่อน และเปิดประเด็นให้เห็นถึงข้อดี – ข้อเสียผลกระทบของการดื่มเหล้า แต่ไม่ใช้วิธีการบังคับว่าต้องเลิก ส่วนกลุ่มที่หนึ่งจะละไว้ก่อน นอกจากนี้การรณรงค์ไม่ได้ทำแต่เฉพาะในโรงงาน แต่ยังขยายไปถึงกลุ่มคนขับรถสองแถวซึ่งคนงานต้องใช้บริการเมื่อทำงานโอที เป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับคนงานอีกทางหนึ่ง และบริษัทยังมีการออกวุฒิบัตรให้กับผู้ที่เลิกเหล้าได้ เพื่อเป็นแรงจูงใจ เช่น การให้คำปรึกษา การลงเยี่ยมบ้าน การประชุมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน การจัดค่ายครอบครัว การรณรงค์ในโรงงาน การทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ ร่วมกับบริษัท
โครงการนี้เริ่มจากตัวผู้บริหารบริษัทงดการให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับคนงานในเทศกาลงานเลี้ยงต่างๆ และมีการพูดรณรงค์ในการกล่าวเปิดงานต่างๆ ให้ลด ละ เลิกการดื่มเหล้าโดยให้คำนึงถึงสุขภาพ และการสังสรรค์กันอย่างมีสติคนงานลดการดื่มลงมาก โดยเฉพาะช่วงงดเหล้าเข้าพรรษา จะไม่เห็นภาพคนงานดื่มเลย เมื่อออกพรรษาภาพการตั้งวงดื่มด้วยกันก็แทบไม่มีให้เห็น
เกิดบุคคลต้นแบบที่เลิกเหล้าได้ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับบุคคลอื่นที่ต้องการละ ละ เลิกเหล้าความรุนแรงในครอบครัวคนงานลดน้อยลง บางครอบครัวสามารถแก้ไขได้จนไม่มีความรุนแรงเลย ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น คือป้าน้อย ศรีนอก วัย 54 ปี คนต้นแบบเลิกเหล้า
“คิดเลิกเหล้าเพราะสงสารหลาน ไม่มีเงินซื้อนมให้กิน พอไปค่ายครอบครัว ได้เห็นคนต้นแบบเลิกเหล้า จึงเกิดกำลังใจว่าต้องเลิกเหล้าให้ได้ ฉันเป็นแม่บ้านของบริษัทวาไทยฯ เริ่มดื่มเหล้าเมื่ออายุ 34 ปี เพราะเพื่อนชวน มีเพื่อนมากเมื่อเพื่อนชวนให้ดื่มจึงต้องดื่ม ถือว่าเป็นการให้เกียรติเพื่อน” ป้าน้อยบอก
ป้าน้อยบอกว่าเป็นคนดื่มอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลาสิบกว่าปี ทำให้เงินทองไม่พอใช้เพราะหมดไปกับค่าเหล้า ค่าแรงที่ได้แต่ละครั้งก็ต้องเอาไปใช้หนี้ ลูกก็ไม่ค่อยได้ไปโรงเรียนเพราะป้าไม่มีเงินให้ แม้กระทั่งเงินที่จะซื้อนมให้หลานกินก็ไม่มี อีกทั้งป้าน้อยต้องไปหาหมอบ่อยๆ เพราะมีปัญหาสุขภาพ หมอบอกว่าป้าน้อยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง จนเมื่อประนอม เชียงอั๋ง และกลุ่มเพื่อนสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอ (วาไทย) มาชักชวนให้เลิกเหล้า ป้าน้อยจึงไม่ลังเลใจที่จะเข้าร่วมโครงการฯ
ทุกวันนี้ ป้าน้อยสามารถเลิกเหล้าได้เด็ดขาด สุขภาพก็ดีขึ้น ครอบครัวมีความสุข เงินทองมีเหลือใช้ไม่เป็นหนี้ ป้าน้อยบอกว่าดีใจที่มีโครงการนี้ เพราะทำให้คนที่อยากลด ละ เลิกเหล้ามีกำลังใจที่จะทำเพื่อตัวเองและครอบครัว
และนี่คือที่มาของโครงการโรงงานสีขาวเพื่อให้เกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อนหญิง สสส. จึงได้จัดงานสัมมนา โดยรวบรวมเอาโรงงานสีขาว ตัวแทนนายจ้าง และคนงานในสถานประกอบการ มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวความคิด และการยกระดับเพื่อขยายให้เป็นแบบอย่างกับโรงงานอื่น คือ โครงการสัมมนา”การพัฒนานโยบายลด ละ เลิก เหล้า เข้าสู่นโยบาย ”โรงงานสีขาว” ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 08.30 – 12.30 น. ห้องประชุมราชา 1 (ชั้น 11 อาคาร 2) โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร จัดโดย มูลนิธิเพื่อนหญิง สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ