วางแผนก่อนแก่ ดูแลชีวิตก่อนตาย
แม้ว่าทุกคนบนโลกใบนี้จะยอมรับว่า มนุษย์เกิดมาแล้วย่อมตาย หรือ สรรพสิ่งบนโลกใบนี้ย่อมมี “เกิด” และ มี “ดับ” แต่ทุกคนก็ทำใจที่จะยอมรับกันไม่ค่อยได้ ทั้งๆที่เราไม่สามารถจะฝืนมันได้ ด้วยเหตุนี้เราลองมามองหาทางยอมรับกับการที่จะต้องถึงเวลา “ดับ”กันน่าจะดีกว่า
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อต้องการให้คนทุกคนรู้จักเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายอย่างมี คุณภาพดี ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ ใจ และกาย สาธารณูปโภค ความเป็นอยู่ หลักประกันชีวิต รวมทั้ง ความมั่นคงทางการเงิน ฯลฯ
งานนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันชีวิตไทย ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนา “วางแผนก่อนแก่ ดูแลชีวิตก่อนตาย” ขึ้นเป็นตัวอย่างให้ได้เห็นกัน
นึกอย่างไรเขาถึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นมา ลองมาฟัง นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนัก สนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สสส.) กันก่อนดีกว่า ท่านบอกว่า “การส่งเสริมการวางแผนชีวิตก่อนตาย ได้ปรับให้เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ ที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำลังขับเคลื่อนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจึงต้องคุ้มครองผู้สูงอายุ เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดี”
ปัจจุบัน สังคมเมืองกับผู้สูงอายุ เป็นประเด็นสำคัญ ที่จะกระตุ้นให้คนหันมาสนใจเรื่องการวางแผนชีวิตมากขึ้น เมื่อประเทศเดินหน้าเข้าสู่สังคมเมืองซึ่งเป็นสังคมภาคบริการมากขึ้นทำให้ผู้คนใช้ชีวิตแบบชนบทน้อยลงมีความเป็นปัจเจกทั้งบุคคลและครอบครัวมากขึ้น สังคมจึงต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับและเตรียมความพร้อมเรื่องการก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ
ยิ่งโดยเฉพาะด้านการออมเงิน เพื่อสร้างหลักประกันให้กับชีวิตผู้สูงอายุนับว่าเป็นปัจจัยหลักของการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ เพื่อรองรับการใช้จ่ายด้านต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ซึ่งภาครัฐจะเป็นเพียงผู้จ่ายค่าสวัสดิการ เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ประชาชนควรเป็นผู้ออมและภาครัฐ ควรเป็นผู้ดูแลเท่านั้น
นายแพทย์ชาญวิทย์ ยังบอกอีกว่า นอกจากวางแผน การออมแล้ว คนเราเมื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ การเตรียมชีวิต ให้พร้อมก่อนแก่ ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต การดูแลสุขภาพอย่างเช่น การดูแลสุขภาพปากและฟัน ปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน ทั้งการกิน นอน ก็เป็นเรื่องสำคัญ ภาครัฐมีหน้าที่เพียงสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นเพียงเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้วประชาชนควรจะต้องมีส่วนร่วมในการดูแลตนเองด้วยตัวเอง
อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน…ว่างั้นเถอะเริ่มจากการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องให้กับตนเองก่อน แล้วต้องรู้จักเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพที่ดีได้ในช่วงบั้นปลายโดยไม่เป็นทุกข์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่าฝ่าแรง เท่าไรนัก สำหรับคนที่มีความมั่นใจว่าจะทำ เพราะนอกจากตัวเองแล้ว ยังมีลูกหลานและคนใกล้ชิดคอยให้การสนับสนุน อยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผู้ริเริ่มโครงการสร้างศูนย์ฝึกอบรมและดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือ ที่เรียกว่า “Hospice” พูดบนเวทีเสวนาว่า การตายดีนั้นหมายถึงการดูแลชีวิตในช่วงบั้นปลายให้มีความสุข มีคุณภาพที่ดีทั้งด้านสุขภาพกายใจ ทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมความเป็นไปของชีวิตก่อนที่จะถึงจุดสิ้นสุด คือการตายนั่นเอง ซึ่งตนคิดว่า ประเทศเราควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสังคมผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ควรมีการรองรับคนวัยเกษียณ มีศูนย์สำหรับการดูแล ฝึกอบรม เพื่อพัฒนาสภาวะร่างกาย จิตใจของ ผู้สูงอายุและสร้างสภาพแวดล้อมรอบตัวที่ดีต่อคุณภาพชีวิตได้ก่อนสิ้นใจ เพราะชีวิตในช่วงบั้นปลายจะเป็นสุขได้อย่างแน่นอน หากเราเข้าใจ ยอมรับและหาทางเตรียมพร้อมตั้งแต่เริ่มแรก
แม้ความตายจะหลีกเลี่ยงมันไม่ได้ แต่เราก็สามารถทำให้การตาย ไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัวได้ ยิ่งโดยเฉพาะความตายอย่างเป็นสุข ที่ไม่ต้องห่วงกังวลใดๆ ทั้งสิ้น มันคุ้มค่ากับการเกิดมาแล้วจะจากโลกนี้ไป มิใช่หรือ
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า