“วันโรคหืดโลก” ทำบ้าน-รถปลอดบุหรี่

กระตุ้นคนไทย ใส่ใจสุขภาพครอบครัว

 

 “วันโรคหืดโลก” ทำบ้าน-รถปลอดบุหรี่

            ศ.พญ.สุมาลี  เรียกร้องในโอกาสวันรณรงค์โรคหืดโลก 3 พฤษภาคมนี้ ให้ครอบครัวที่มีผู้ป่วยด้วยโรคหืดทำบ้านและรถให้ปลอดบุหรี่ 

 

            ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี หัวหน้าหน่วยโรคปอด คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เรียกร้องในโอกาสวันรณรงค์โรคหืดโลก 3 พฤษภาคมนี้ ภายใต้คำขวัญ คุณสามารถควบคุมโรคหืดได้ด้วยตนเอง ให้ทุกครอบครัวที่มีคนที่เป็นโรคหืดทำบ้านและรถให้ปลอดบุหรี่ เพราะควันบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการหืดจับ นอกเหนือจากฝุ่นไร ขนจากสัตว์เลี้ยงและสิ่งระคายเคืองอื่นๆ รอบตัว

 

            โดยควันบุหรี่จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดลม ทำให้เกิดการอักเสบ เกิดการหลั่งสารน้ำเหลืองหรือเสมหะมากขึ้น รวมทั้งควันบุหรี่ยังทำให้ขนขนาดเล็กๆ ที่บุตามเยื่อบุหลอดลมไม่ทำงาน ทำให้การขับฝุ่นและเสมหะออกจากปอดทำได้น้อยลง ทำให้เกิดอาการหืดจับขึ้น โดยเฉพาะควันบุหรี่เป็นอันตรายต่อเด็กๆ ที่เป็นหืด เพราะหลอดลมของเด็กมีขนาดเล็ก และเด็กจะหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ได้รับควันบุหรี่มากกว่าผู้ใหญ่ เกิดการระคายเคืองของหลอดลมรุนแรงกว่า ทำให้เกิดหืดจับรุนแรง  นอกจากนี้ควันบุหรี่ยังทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินหายใจบ่อย ซึ่งจะทำให้เกิดอาการหืดจับและทำให้คุมอาการหืดได้ยากขึ้นเช่นกัน

 

            ทั้งนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหืด 3 ล้านคนและเสียชีวิตจากโรคหืดปีละ 1,000 คน และการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2547 พบว่า คนไทยที่สูบบุหรี่ 11.3 ล้านคน  ร้อยละ 84.5 สูบในบ้าน ทำให้คนไทย 15.8 ล้านคนได้รับควันบุหรี่มือสองที่บ้านและในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 2.28 ล้านคน และการสำรวจในปี พ.ศ.2550 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ในบ้านลดลงเหลือ ร้อยละ 58.9  แต่ก็ยังจัดว่าอยู่ในระดับสูงมาก และน่าจะมีคนไทยที่เป็นโรคหืดไม่น้อยที่มีโอกาสได้รับควันบุหรี่ในบ้าน

 

            ศ.พญ.สุมาลี เรียกร้องให้ครอบครัวที่มีผู้ป่วยด้วยโรคหืดทำบ้านและรถให้ปลอดบุหรี่  นอกจากนี้ผู้ปกครองเด็กที่เป็นโรคหืดต้องพยายามขอร้องไม่ให้คนสูบบุหรี่ใกล้ลูกคุณและหลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีการสูบบุหรี่

 

            ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี โทร. 0-2201-1619 หรือ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทร. 02-278-1828/081-822-9799

 

 

 

 

 

ที่มา: มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

 

 

update 01-05-52

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code