วันดื่มนมโลก “โตแค่ไหนก็ดื่มได้”
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันดื่มนมโลก (World Milk Day) เพื่อให้ประเทศต่างๆ และองค์กรที่ให้ความสำคัญสนับสนุนการบริโภคนม ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์การบริโภคนม และให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของนมให้แก่สาธารณชน
โดยหลายๆ ประเทศทั่วโลกจัดกิจกรรมเนื่องในวันดื่มนมโลกในรูปแบบต่างๆ กัน ในหลายระดับ อาทิ การจัดกิจกรรมแจกนมและการละเล่นให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน การเดินรณรงค์ การจัดสัปดาห์ดื่มนม ปัจจุบันมีกว่า 30 ประเทศที่ร่วมจัดกิจกรรมวันดื่มนมโลก เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย เวียดนาม สหราชอาณาจักร เนปาล มาลาวี เป็นต้น สำหรับบ้านเรา เริ่มจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันดื่มนมโลก โดยภาครัฐตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน
รศ.นพรัตน์ รุ่งอุทัยศิรินักวิจัยจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์ เล่าว่า ปัจจุบันนี้น่าเสียดายที่คนไทยดื่มนมน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่ประเทศไทยไทยมีศักยภาพการผลิตนมได้มาก แต่ขณะนี้มีการนำเข้าถึง 60% ซึ่งจากการทำวิจัยพบว่า การทำข้อตกลง FTA นมผงจาก FTA Thai-AUSTRALIA Thai-New Zealand นมผงนำเข้าราคาถูก ทำให้นมผงทะลักเข้าไทยปริมาณมาก ขณะที่ผู้ประกอบการได้ลดต้นทุนด้วยการนำผงไปละลายน้ำ ดังนั้นในท้องตลาดทุกวันนี้ นมพร้อมดื่มมีทั้งที่เป็นนมโคสดแท้ 100% และมีส่วนผสมของนมผง โดยผู้บริโภคไม่รู้ความแตกต่าง ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิประเทศร้อนชื้น ที่สามารถเลี้ยงโคนมได้และสามารถมีนมโคสดแท้ 100% ดื่ม ซึ่งจากผลการศึกษายืนยันว่านมโคสดแท้มีคุณประโยชน์อย่างมาก ในนมมีวิตามิน และเป็นที่แน่นอนว่าของที่มาจากธรรมชาติย่อมดีกว่า
“ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก เพราะการที่คนไทยมีนมโคสดแท้ 100% ดื่มชาติเดียวในประเทศร้อนชื้น สืบเนื่องจากพระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญและพระราชทานอาชีพการเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกรเมื่อ 50 ปีที่แล้ว และวันนี้เราสามารถเป็นผู้นำในอาเซียนและยังเป็นประเทศเดียวที่สามารถเลี้ยงโคนมได้ในภูมิประเทศร้อนชื้น โดยผลการศึกษายืนยันว่านมโคสดแท้มีส่วนประกอบของวิตามินบี 12 ในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ แต่หากเป็นนมผงผสมน้ำ จะทำให้วิตามินหลายชนิดในนมโคสดสูญเสียไป ซึ่งแน่นอนว่าของสดย่อมดีกว่าของผสม”รศ.นพรัตน์กล่าว
ถ้าอย่างนั้นมาดูกันว่าประเภทของนมมีอะไรบ้าง?
-นมพาสเจอร์ไรท์ คือนมที่ผ่านความร้อนไม่ต่ำกว่า 85 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส คงที่ไว้ไม่น้อยกว่า 15 วินาที แล้วทำให้เย็นลงทันทีที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่านั้น นมชนิดนี้อร่อย และมีคุณค่ามากที่สุด แต่ต้องเก็บในตู้เย็นเท่านั้นและอยู่ได้แค่ 7 วัน
-นมสเตอริไลซ์ คือนมสดที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนไม่ต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส เก็บรักษาได้นานกว่า 6 เดือนโดยไม่ต้องแช่เย็น
-นมยูเอชที ย่อมาจาก Ultra -High Temperature แปลวว่าอุณหภูมิสูงอย่างยิ่ง คือต้องผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนไม่ต่ำกว่า 138 องศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 วินาที จึงทำลายจุลินทรีย์ทุกชนิด เก็บรักษาได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
รศ.นพรัตน์ ยังบอกด้วยว่า ค่านิยมของคนไทยเกี่ยวกับความเข้าใจการดื่มนมยังผิดเพี้ยนไปมาก โดยเข้าใจว่าการดื่มนมแล้วอ้วน ซึ่งยืนยันว่าไม่จริง และติดรสหวานเกินไป ซึ่งมนุษย์เราควรดื่มนมวันละ 4แก้วต่อวันและดื่มให้เป็นกิจวัตรประจำวัน โดยนม 1แก้วมีส่วนประกอบของไขมันไม่ถึง 10% และที่สำคัญแคลเซียมที่ผสมอยู่ในน้ำนมถือเป็นแคลเซียมแท้ มันจะเข้าไปจับเลือดและเข้าไปในใยกระดูก ซึ่งนมสามารถดื่มนมได้กับทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ตามปริมาณไขมันนั้นไม่ได้ทำให้อ้วนเลย ขึ้นอยู่กับการออกกำลังกายหรือไม่
คงมีคำถามตามมาว่านม 1 แก้วให้พลังงานเท่าไหร่ ?
นมสด 1 แก้ว ให้พลังงานประมาณ 163 กิโลแคลอรี่ และมีไขมันประมาณ 3.7% หรือแก้วละ 9.75 กรัม นม 3 แก้วก็ 29.25 กรัม ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่ Thai RDI (ThaiRecommended Daily Intakes: ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี่) กำหนดค่าไขมันไว้ที่น้อยกว่า 65 กรัม หรือเลือกดื่มที่มีไขมันแค่ 1.7% ก็ได้
คงเห็นแล้วว่านมมีประโยชน์ต่อร่างกาย ดื่มได้ทุกเพศทุกวัย
“เราต้องมีความเป็นชาตินิยมเพราะว่าเรามีของดีอยู่ในมือ และเป็นพระราชวิสัยทัศน์ในหลวงที่มีพระราชประสงค์ให้คนไทยได้บริโภคของดี ท่านมุ่งมั่นมากว่า 50 ปีแล้ว” และนี่เป็นคำกล่าวสั้นๆ ที่อาจารย์นพรัตน์ทิ้งท้ายไว้ให้คนไทยทุกคน ไม่ว่าจะโตแค่ไหนก็ควรให้ความสำคัญและใส่ใจกับการดื่มนม ของดีของไทย ที่บางประเทศอาจไม่มี
เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th